“SCB” เข้มเกณฑ์ปล่อยกู้ ขึ้นกับความเสี่ยงลูกหนี้ ป้องเอ็นพีแอล หลังธปท.เผยหนี้ครัวเรือนพุ่ง

“SCB” เข้มเกณฑ์ปล่อยกู้ ขึ้นกับความเสี่ยงลูกหนี้ ป้องเอ็นพีแอล หลังธปท.เผยหนี้ครัวเรือนพุ่ง

เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม นายกฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) กล่าวถึงปัญหาหนี้ครัวเรือน ว่า คำจำกัดความตามนิยามของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีความชัดเจน เมื่อกลับไปดูตัวเลขที่เกิดขึ้นจริงจะเห็นว่ามีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนของผู้เล่นที่ทำให้เกิดการสร้างหนี้ไม่เท่ากัน สมมุติตัวเลขหนี้สัดส่วน 100% พบส่วนใหญ่ 70% เป็นหนี้ที่มาจากสถาบันการเงินของรัฐ 20% มาจากสถาบันการเงินพิเศษเฉพาะกิจ เช่น ไฟแนนซ์ต่างๆ และมี 10% เป็นหนี้ที่เกิดจากระบบสถาบันการเงินพาณิชย์ โดยรายละเอียดเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เช่น หนี้บัตรเครดิต หนี้ส่วนบุคคล ดังนั้น จะเห็นว่าบทบาทของธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ไม่ได้มีมากนัก แต่จะเป็นสถาบันการเงินของภาครัฐ และบริษัทที่ปล่อยสินเชื่อรายย่อยเป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่ง รวมถึงธนาคารไทยพาณิชย์ มีบทบาทและความสำคัญในการเป็นผู้เล่นที่ปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Lending) โดยก่อนจะปล่อยสินเชื่อควรจะบอกให้ลูกค้าว่าสินเชื่อมีทั้งด้านดีและด้านเสีย หากลูกค้ากู้โดยไม่คำนึงถึงรายได้และกู้เยอะจนเกินไปจะทำให้คุณภาพชีวิตลดถอยด้อยลง

“ดังนั้น บทบาทธนาคารต้องการชี้ให้เห็นถึงการปล่อยสินเชื่ออย่างเป็นธรรม มีจริยธรรม และไม่ยัดเยียดการปล่อยสินเชื่อมากเกินไป ซึ่งธนาคารพร้อมน้อมรับนโยบายการปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (Responsible Lending) ของ ธปท.”นายกฤษณ์ กล่าว

ปรับเกณฑ์ปล่อยสินเชื่อใหม่

Advertisement

นายกฤษณ์ กล่าวว่า ขณะที่เกณฑ์พื้นฐานที่พิจารณาการปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าจะปรับเข้มขึ้น เพราะดูความเหมาะสมว่าลูกค้ามีหนี้มากน้อยเพียงใด ถ้าเป็นลูกค้าบรรษัทต้องดูว่าธุรกิจนั้นสอดคล้องกับอานิสงส์การฟื้นตัวของประเทศหรือไม่ ลูกค้ามีประวัติที่ดีกับธนาคาร เป็นลูกค้าประจำหรือไม่ ซึ่งโดยรวมก็เป็นหลักการปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้าแบบปกติ ขณะเดียวกัน สิ่งที่สอดคล้องตอบกลับมาคงจะเป็นเรื่องของปัจจัยด้านราคาว่าดอกเบี้ยจะเป็นอย่างไร ลูกค้ามีความเสี่ยงมากดอกเบี้ยจะสูง หากมีความเสี่ยงน้อยดอกเบี้ยจะน้อยซึ่งเป็นเรื่องปกติ

ทั้งนี้ ด้านแนวทางของ ธปท. การคิดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกหนี้ (risk based pricing : RBP) อ้างอิงจากสมาคมธนาคารแห่งประเทศไทย รวมถึงสมาชิกธนาคารมีการพูดคุยต่อเนื่อง ซึ่งพร้อมน้อมรับนโยบายของ ธปท. และน้อมรับนโยบายของสมาคมฯ ในการตัดสินใจ เบื้องต้นทุกธนาคารมี RBP บนลูกค้าที่เป็นลูกค้าสถาบันอยู่แล้ว แต่ในกลุ่มลูกค้ารายย่อยจะทำได้หรือไม่ โดยทางสมาคมฯ ยังศึกษากันอยู่ และพร้อมจะปฏิบัติตามเสียงส่วนใหญ่

ขณะที่การเข้มข้นการปล่อยสินเชื่อจะกลับมาดูเซ็กเมนต์ เช่น 1.เซกเมนต์ที่มีอานิสงค์เชิงบวกต่อการเปิดประเทศและสอดคล้องกับธุรกิจเกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยว 2.ต้องกลับมาดูว่าลูกค้ามีความสัมพันธ์กับธนาคาร และมีประสบการณ์ที่ดีต่อกันหรือไม่ หรือบนความธุรกิจใหม่ และเป็นสิ่งที่ไม่เคยทำ ธนาคารจะดูว่ามันสอดคล้องกับแนวทางโครงสร้างการพัฒนาประเทศหรือไม่ ถ้าใช่ก็ควรจะสนับสนุน ดังนั้น การพิจาณา 3 ข้อจะเป็นตัวการคัดกรองว่าสินเชื่อในกลุ่มใด และควรจะปล่อยให้ลูกค้าอย่างไร

Advertisement

นอกจากนี้ การพิจารณาว่าลูกค้าว่าอยู่ในเกณฑ์ดี หรือไม่ดีก็มีหลายปัจจัย ซึ่งธนาคารจะใช้มิติทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เป็นเลนส์ในการพิจารณาว่าลูกค้ามีสุขภาพดีหรือไม่ เช่น ช่วงอดีต จะดูข้อมูลงบการเงิน รวมถึงพฤติกรรมการชำระเงินให้กับธนาคาร ช่วงปัจจุบันจะดูการปฏิบัติงานบนงบฯที่ไม่ออกว่ามีอะไรหรือไม่ และอนาคตจะดูแนวโน้มการเติบโตทางธุรกิจ ถ้าธุรกิจไม่เติบโตความเสี่ยงที่สร้างกำไรในระยะถัดไปจะมีปัญหา

“เชื่อว่าปีนี้ อัตราการปล่อยสินเชื่ออาจจะไม่เป็นไปตามแผนที่วางเอาไว้ อาจมีย่อถอยลง แต่ตั้งแต่ต้นปีได้ประกาศว่าอัตราการปล่อยสินเชื่อจะเป็นเลขตัวเดียว เพราะต้องการเข้าสู่โจทย์การทำการเพิ่มประสิทธิภาพสินเชื่อ (Loan optimization) ดังนั้น อัตราการเติบโตยังอยู่ในโซนที่วางไว้แต่อาจจะไม่สูงเท่าที่คาดการณ์ ซึ่งในความไม่แน่นอน และความกังวลหลายเรื่อง การระมัดระวังและทำให้ธนาคารเข้มแข็งเป็นโจทย์ที่สำคัญมากกว่า และเราสามารถเติบโตด้านรายได้ในทางอื่นได้”นายกฤษณ์ กล่าว

ดอกเบี้ยขาขึ้นไม่กระทบหนี้เสีย

นายกฤษณ์ กล่าวว่า แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น คาดว่าปี 2566 ธปท.จะขึ้นระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายสูงสุด (Terminal Rate) ที่ 2.5% เมื่อธนาคารส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวทำให้กลุ่มเปราะบางได้รับผลหรือไม่ นั้น จากการคาดการบนสถานการณ์ต่างๆ (Scenario) และการทำการประเมินพอร์ตสินเชื่อภายใต้สถานการณ์ความเสี่ยงจำลอง (Stress Test) เพื่อรายงานผลต่อ ธปท. เพราะทุกครั้งที่มีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น ธปท.จะสอบถามถึงข้อมูลเหล่านี้

“และเมื่อดูพอร์ตของไทยพาณิชย์ ยังไม่เห็นความเปราะบางของการเพิ่มอัตราสินเชื่อ และทำให้เกิดหนี้เสียที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม แต่ไม่ได้แปลว่าในอนาคตความเสี่ยงตรงนี้ไม่มี เพราะความเสี่ยงนี้ยังคงมีอยู่ จะระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อรายใหม่ที่จะเข้ามาในครึ่งปีหลังนี้ โดยมีการปรับเกณฑ์พื้นฐาน ปรับโมเดลในการรับพิจารณาผู้ขอสินเชื่อ และมีการเตรียมทีมงานเพื่อเฝ้าระวังหนี้ก้อนเดิมที่อาจจะมีการลุกลาม หากสถานการณ์ภาพรวมเศรษฐกิจไม่เป็นไปตามการคาดฝัน”นายกฤษณ์ กล่าว

นายกฤษณ์ กล่าวว่า ภาพรวมทุกธนาคารพยายามตอบสนองนโยบายของ ธปท. แต่การส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยจะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่แต่ละพอร์ตของแต่ละธนาคาร มุมมองในอนาคต และฐานลูกค้าว่าจะสามารถรับความเสี่ยง และรับการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยได้หรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมา ไทยพาณิชย์ไม่ได้เป็นธนาคารที่มีการส่งผ่านดอกเบี้ยเยอะที่สุด และยังอยู่ในกลุ่มกลางๆ ซึ่งจะรอดูท่าทีและแนวทางของธนาคารอื่นๆ รวมถึงแนวทางของ ธปท.ก่อนที่จะมีการประกาศขึ้นดอกเบี้ยครั้งต่อไป

“แม้ว่าธนาคารอื่นๆ ไป แต่ว่าพอร์ตเราไม่พร้อมก็คงไม่ขึ้น แต่ถ้าคนอื่นไม่ไป แต่พอร์ตเราพร้อม และเรามองเห็นโอกาส เราก็อาจขึ้นได้เช่นเดียวกัน ดังนั้น โจทย์นี้ยังเป็นไดนามิกและยังต้องพิจารณาตามหน้างานที่เกิดขึ้นจริง แต่ต้องเรียนว่าเราเอาทุกปัจจัยมาพิจารณาร่วมด้วย”นายกฤษณ์ กล่าว

ทั้งนี้ ได้ประเมินเศรษฐกิจปี 2566 ธนาคารคาดว่าจีดีพีประเทศไทยจะใกล้ประมาณ 3.9% เติบโตจากการพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยผ่านการท่องเที่ยว ขณะที่ความเสี่ยงมีภาคการส่งออกที่คาดว่าจะขยายตัวเพียง 0.5% รวมถึงความเสี่ยงการเมือง ภัยธรรมชาติเอลนีโญส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตร ทั้งนี้ เชื่อว่าหากไม่มีอะไรที่เป็นความเสี่ยงกระทบภาพใหญ่เศรษฐกิจไทยยังโตต่อเนื่อง

พร้อมตั้งแผนป้องความเสี่ยง

นายกฤษณ์ กล่าวว่า ธนาคารพยายามบริหารจัดการหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) สำหรับลูกค้าไทยพาณิชย์ที่มีหนี้เดิมและอยู่ในโครงการช่วยเหลือตั้งแต่ช่วงโควิด ลูกค้ายังอยู่ในโครงการและปีนี้จะเป็นปีสุดท้าย ธนาคารมีสัดส่วนกลุ่มลูกค้าต่างกัน ซึ่งจะพยายามดูแลกลุ่มลูกค้าที่ไม่สามารถปรับตัวตามระยะเวลากำหนด และดูว่าจะช่วยเหลืออย่างไร แต่คนที่มองแล้วไม่รู้จะช่วยอย่างไร และไปต่อไม่ได้ก็จะไม่ซุกพรมไว้ และจะทำให้เห็นชัดเจนขึ้น เพื่อที่จะทำให้ธนาคารสามารถเตรียมสำรองชัดเจนและเหมาะสม และธนาคารไม่มีความกังวลเกี่ยวกับการรับลูกค้าใหม่ เพราะแม้จะปรับเกณฑ์ใหม่ แต่เป็นเพียงการดูแลหนี้เดิมให้สามารถเดินต่อได้อย่างมั่นคง

ทั้งนี้ จากหลายปัจจัยความเสี่ยงต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่คาดไม่ถึง เพราะว่าบางอย่างเกิดขึ้นโดยที่ไม่คาดคิดและไม่ทันตั้งตัว ในภาพรวมความท้าทายในอนาคตจะมียิ่งขึ้น ธนาคารต้องเตรียมเรื่องการบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการรับการพิจารณา การตั้งสำรอง การเผื่อสำรอง ซึ่งป็นเรื่องสำคัญของระบบภาคการเงิน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image