ส.อ.ท. ห่วงรอนาน 10 เดือน กระทบเศรษฐกิจ-ลงทุน ขอให้ตั้งรัฐบาลภายใน ส.ค.

แฟ้มภาพ

ส.อ.ท. ห่วงรอตั้งรัฐบาล นาน 10 เดือน กระทบเศรษฐกิจ-ลงทุน ย้ำขอให้อยู่ในไทม์ไลน์ ส.ค.นี้ มอง เปลี่ยน ‘พิธา’ เป็น ‘เศรษฐา’ นั่งนายกฯ ไม่น่ามีปัญหา ถ้าอยู่ในสมการ 8 พรรคร่วม

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่า ข้อเสนอรออีก 10 เดือน เพื่อให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) พ้นวาระ แล้วจึงจัดตั้งรัฐบาลนั้น ว่า ส่วนนี้เป็นมุมมองทางด้านภาคการเมืองเพื่อให้ตั้งรัฐบาลได้ง่ายขึ้น แต่ว่าส่วนนี้ยังไม่ได้มีการคุยกันว่าถ้ารอแล้วผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจมากแค่ไหน ซึ่งเรื่องนี้ต้องมีการชั่งน้ำหนักของผลกระทบ

“ที่เคยพูดเสมอว่า ทุกอย่างมีต้นทุน ดังนั้นก็ต้องดูว่าต้นทุนของประเทศทั้งหมดนั้นรับไหวไหม รอ 10 เดือนถือว่าเยอะไปไหม แต่ละเดือนที่รอจะมีผลกระทบอย่างไรบ้าง ผมว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องคุยกัน เรื่องกรณีการเสนอให้รอ 10 เดือน ถือเป็นโจทย์ใหม่ เพราะฉะนั้น ทาง ส.อ.ท.ก็จะนำข้อเสนอนี้ไปวิเคราะห์ ดูผลกระทบ อะไรที่ไหวและไม่ไหวบ้าง” นายเกรียงไกรกล่าว

นายเกรียงไกรกล่าวว่า ขณะเดียวกัน ก็มีเรื่องความเปราะบางของเศรษฐกิจโลก ที่ขณะนี้มีสัญญาณที่ประเทศเพื่อนบ้านของไทยแข่งขันแย่งตลาดกันเอง ทำให้การส่งออกจากไทยที่อยู่ในอาเซียน ที่มีสัดส่วน 24% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย ขณะนี้ร่วงลงมา รวมทั้งการค้าชายแดนก็ร่วงลง 6% เพราะฉะนั้น สัญญาณเหล่านี้กำลังบอกว่า เศรษฐกิจโลกต่อไปข้างหน้ามีความเปราะบางสูง ซึ่งก็เป็นความเสี่ยงที่ต้องประเมินด้วย

Advertisement

นายเกรียงไกรกล่าวว่า สำหรับเรื่องไทม์ไลน์ตั้งรัฐบาลนั้น เอกชนได้มีการวางแผนไว้หมดแล้ว แต่หากการตั้งรัฐบาลล่าช้าไป ส่วนการลงทุน กลุ่มนักลงทุนไทยรอได้นาน 6 เดือนถึง 1 ปี แต่นักลงทุนต่างชาติอาจจะไม่ได้อินเรื่องการเมืองไทย โดยเฉพาะกลุ่มนักลงทุนประเทศใหม่ๆ ที่ไทยกำลังเชิญชวนอยู่ กลุ่มนี้ก็อาจจะรอ 1 เดือน หรืออย่างมากก็ 2 เดือน ส่วนถ้าเป็นนักลงทุนต่างชาติที่อยู่กับไทยมานาน อาทิ ญี่ปุ่น ก็อาจจะเคยชิน รอได้ ขณะที่นักลงทุนจากจีนไม่ค่อยให้น้ำหนักเรื่องการเมืองไทยเท่าไหร่ บางส่วนก็มายื่นขอลงทุนเข้ามาในไทยแล้ว

“อย่างไรก็ตามยืนยันว่า อยากให้การตั้งรัฐบาลอยู่ในไทม์ไลน์ คือภายในเดือนสิงหาคมนี้ ซึ่งตามมติคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน หรือ กกร.ถ้าทุกอย่างอยู่ในไทม์ไลน์ ภาคเอกชนก็มีการป้องกันความเสี่ยงในทุกมิติแล้วในระดับหนึ่ง ถ้าเสียหายก็น่าจะไม่เยอะ แต่หากเป็นกรณีรอตั้งรัฐบาลยังยาวออกไปนั้น ตอบไม่ได้เลยว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป ดังนั้นอยากให้ทุกฝ่ายติดตามร่วมกัน”

นายเกรียงไกรกล่าวอีกว่า สำหรับกรณีที่เปลี่ยนว่าที่นายกรัฐมนตรี จาก นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็น นายเศรษฐา ทวีสิน ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทยและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย ว่า ส.อ.ท.เคารพการตัดสินใจของภาคการเมือง เพราะว่าในการเลือกตั้งครั้งนี้มีการแบ่งชัดเจนว่าฝั่งไหนเป็นฝั่งไหน

Advertisement

นายเกรียงไกรกล่าวว่า ในกรณี 8 ร่วมรัฐบาล ก็ต้องมีการพูดคุยกัน เฉกเช่นหุ้นส่วนธุรกิจ โดยหุ้นส่วนที่มีหุ้นเยอะสุด ก็ได้สิทธิก่อน แต่พอดำเนินการไปแล้วติดขัด ก็ต้องกลับมาประชุมกันในหุ้นส่วนใหม่ แล้วก็ให้คนที่มีหุ้นอันดับสองลองไปทำบ้าง อาจจะมีแนวทางเป็นรัฐบาลได้ ดังนั้น การที่พรรคก้าวไกลกับพรรคเพื่อไทยสลับเก้าอี้นายกฯกัน โดยมีความยินยอมในทุกฝ่าย และยังอยู่ในหุ้นส่วนเดียวกัน คือ 8 พรรคร่วม ก็ไม่ได้มีข้อเสียหายอะไร

นายเกรียงไกรกล่าวว่า อย่างไรก็ดี กรณีที่มีพรรคอื่น นอกจาก 8 พรรคร่วมเข้ามาอยู่ในสมการรัฐบาลด้วย กรณีนี้ก็เหมือนมีนักลงทุนจากข้างนอก ที่ไม่ได้อยู่ในหุ้นส่วนอยากเข้ามาร่วมลงทุนด้วย อาจจะมีเสนอตัว มาเจรจาแบบไม่เป็นทางการบ้าง ถือเป็นเรื่องธรรมดา ทั้งนี้เรื่องการเปลี่ยนขั้วรัฐบาลก็ขึ้นอยู่กับว่า หุ้นส่วนเดิม หรือพรรคร่วมยังจับมือกันแน่นแค่ไหน และถ้ายังคงสิทธิให้อยู่ในกลุ่มพรรคร่วมก่อน ก็คิดว่าไม่น่ามีปัญหาอะไร

“ไม่ใช่แค่ในนามเอกชน แต่ผลจากการเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา ก็บอกได้แล้วว่าคนส่วนใหญ่ในประเทศมีทิศทางและความต้องการอย่างไร ซึ่งเอกชนก็เป็นส่วนหนึ่งในการใช้สิทธิเลือกตั้ง เพราะฉะนั้น ส.อ.ท.ก็เฝ้าติดตามดูและให้กำลังใจทุกฝ่าย ส.อ.ท.อยากให้ทุกอย่างเรียบร้อย เพื่อที่จะจับมือและเดินหน้าประเทศกันต่อไป” นายเกรียงไกรกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image