“แอชตัน”โล่งอกไม่ต้องทุบตึกทิ้ง กทม.ยัน-แนะแก้ตามศาล

“แอชตัน”โล่งอกไม่ต้องทุบตึกทิ้ง กทม.ยัน-แนะแก้ตามศาล

เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยเมื่อวันที่ 31 ก.ค.ที่ผ่านมาถึงกรณี แอชตัน อโศก คอนโดมิเนียมหรู มูลค่ากว่า 6.4 พันล้านบาท ว่าสำหรับประเด็นคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในคดีแอชตัน อโศก ที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างนั้น สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร จะมีหนังสือแจ้ง สำนักงานเขตวัฒนา พิจารณาออกคำสั่งให้เจ้าของอาคารดำเนินการแก้ไขอาคารให้ถูกต้องตามกฎหมายควบคุมอาคาร

โดยใช้อำนาจตามมาตรา 40 มาตรา 41 และมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 แล้วแต่กรณี การเพิกถอนใบรับแจ้งการก่อสร้างดังกล่าวไม่ได้หมายความว่าอาคารชุดแอชตัน อโศก จะต้องมีการรื้อถอนอาคาร บริษัทผู้เป็นเจ้าของโครงการสามารถยื่นขอใบแจ้งก่อสร้างใหม่ได้ที่สำนักการโยธา บริษัทต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงตามที่ศาลสั่ง คือเพิ่มทางเข้าออกโครงการให้มีความกว้างของถนน 12 เมตร และอยู่ติดกับถนนสาธารณะที่มีความกว้าง 18 เมตร ตามที่กฎหมายควบคุมอาคารและกฎหมายผังเมืองกำหนด หากบริษัทเจ้าของโครงการสามารถปรับปรุงแก้ไขเปลี่ยนแปลงทางเข้าออกแล้วเสร็จก็สามารถยื่นขอใบแจ้งก่อสร้างได้

แหล่งข่าวจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า วันที่ 3 สิงหาคมนี้ในการแถลงข่าว กทม.จะลำดับความเป็นมาของการอนุญาตก่อสร้างโครงการ ชี้แจงรายละเอียดคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด และแนวทางแก้ไข บริษัทต้องไปหาทางออกกว้าง 12 เมตร ติดถนนสาธารณะที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตร และดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องตามคำสั่งศาลและยื่นขออนุญาตก่อสร้างใหม่ กทม.โดยสำนักงานเขตวัฒนาจะแจ้งยกเลิกใบอนุญาตและให้บริษัทดำเนินการปรับปรุงแก้ไขตามมาตรา 40 และมาตรา 41 ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร 2522 ให้อำนาจเจ้าพนักงานท้องถิ่นไว้

Advertisement

“การเพิกถอนใบอนุญาตไม่ได้ทุบตึกก็จริง แต่บริษัทต้องไปหาที่ดินเพื่อทำทางเข้าออกให้กว้าง 12 เมตร เพราะทางผ่านใช้บนที่ดิน รฟม.ศาลตัดสินแล้วว่าไม่ใช่ทางสาธารณะ มีทางเดียวบริษัทต้องซื้อตึกแถวขยายทางด้านหลังเพิ่มเพื่อออกสุุขุมวิทซอย 19 หรือซื้อที่ดินของสมาคมนามธารีออกถนนอโศกมนตรี เพราะโอกาสจะไปเจรจากับ รฟม.ใหม่คงยาก และ รฟม.ต้องไปแก้กฎหมาย รฟม.ให้เป็นทางสาธารณะโดยไม่มีเงื่อนไขอีก แล้ว รฟม.จะทำให้หรือไม่ เพราะทำแล้วอาจมีปัญหาอีก ถึงที่สุดแล้วหากบริษัทหาทางออกกว้าง 12 เมตรไม่ได้ คงจะมีการฟ้องร้องกันยาวระหว่างลูกบ้านกับบริษัท และบริษัทกับหน่วยงานรัฐ” แหล่งข่าวกล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image