‘โนเบิล’ แจงใช้ทางรฟม.เข้าออก 2 โครงการ คนละเคสกับแอชตัน ส่งกำลังใจถึงอนันดา หวังหาทางออกได้

“ผู้บริหารโนเบิล” แจงใช้ทาง รฟม.เข้าออก 2 โครงการ คนละเคสกับแอชตัน ส่งกำลังใจถึงอนันดา แนะ “2 องค์กร” แจงข้อเท็จจริงด่วน ด้านหอค้า เชื่ออนาคตทุกฝ่ายคงระมัดระวังมากขึ้น

เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม นายธงชัย บุศราพันธ์ รองประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัท โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทขอยืนยันโครงการคอนโดมิเนียมของบริษัท ได้แก่ โครงการ นิว โนเบิล รัชดา ลาดพร้าว  และ โครงการ โนเบิล รีวอลฟ์ รัชดา 1 และ 2 ซึ่งใช้ทางเข้า-ออกโครงการบนที่ดินของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นคนละกรณีกับโครงการแอชตัน อโศก เพราะไม่ได้มีการดัดแปลงรูปแบบการใช้งานที่มีอยู่เดิม ย้ายตำแหน่ง หรือเปลี่ยนแปลงความกว้างของทางเข้า-ออกแต่อย่างใด ทางเข้า-ออกของโครงการจึงเป็นไปตามกฎหมายแล้ว จึงขอให้ความเชื่อมั่นแก่ลูกค้าว่าได้รับอนุญาตก่อสร้างถูกต้องตามกฎหมาย และได้ดำเนินการก่อสร้างถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ

นายธงชัยกล่าวว่า โดยโครงการ นิว โนเบิล รัชดา ลาดพร้าว ได้ขออนุญาตก่อสร้าง โดยใช้ทางเข้า-ออกจากถนนรัชดาภิเษก เป็นทางเข้า-ออก ของอาคารจอดรถแล้วจรของ รฟม.โดยที่ดินเดิมของโครงการมีทางเข้า-ออกสู่ถนนสาธารณะ แต่ถูกเวนคืนโดย รฟม. ส่งผลให้ที่ดินที่เป็นที่ตั้งโครงการไม่มีทางเข้า-ออก ทาง รฟม. จึงอนุญาตให้ใช้ทางเข้า-ออกของอาคารจอดรถแล้วจรดังกล่าว เป็นทางเข้า-ออกของโครงการได้ เพื่อคงสิทธิในการใช้ทางเข้า-ออกสู่ถนนสาธารณะที่มีอยู่เดิมโดยชอบก่อนการเวนคืน โดยไม่มีกำหนดระยะเวลา และไม่ได้ทำให้วัตถุประสงค์ของการเวนคืนเดิมเสียไปและ รฟม.ยังคงใช้ที่ดินได้ตามวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนตามปกติ โดยอาคารจอดรถของ รฟม.ได้เปิดใช้งานแก่ประชาชนทั่วไปตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน

นายธงชัยกล่าวว่า ส่วนโครงการ โนเบิล รีวอลฟ์ รัชดา และโนเบิล รีวอลฟ์ รัชดา 2 ได้ขออนุญาตก่อสร้าง โดยใช้ทางเข้า-ออก จากถนนรัชดาภิเษก ซอย 6 โดยที่ดินเดิมของโครงการได้ถูกเวนคืนโดย รฟม. บางส่วน เพื่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินสถานีศูนย์วัฒนธรรม อาคารจอดรถแล้วจร และลานจอดรถเพิ่มเติม ส่งผลให้ที่ดินโครงการไม่มีทางเข้าออก ทาง รฟม.จึงอนุญาตให้ใช้ที่ดินบางส่วน เพื่อวัตถุประสงค์ในการผ่านเข้า-ออกของโครงการ เพื่อคงสิทธิในการใช้ทางเข้า-ออกสู่ถนนสาธารณะที่มีอยู่เดิมโดยชอบก่อนการเวนคืน โดยไม่มีเงื่อนไขระยะเวลา

Advertisement

ซึ่งการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ดังกล่าวเป็นการใช้ตามวัตถุประสงค์เดิมทุกประการเช่นกัน เพราะแต่เดิม รฟม. ใช้ที่ดินดังกล่าวเป็นทางเข้า-ออกลานจอดรถอยู่แล้ว จึงสามารถกระทำได้ ซึ่งบริษัทยังได้นำที่ดินอีกส่วนหนึ่งของบริษัทจดทะเบียนเป็นภาระจำยอม ใช้เป็นทางเข้า-ออก ร่วมกันของโครงการด้วย จึงเป็นไปตามกฎหมายแล้ว

“หลังเกิดกรณีของแอชตัน อโศก มีลูกค้าของโครงการนิว โนเบิล รัชดา ลาดพร้าวที่เรากำลังก่อสร้างสอบถามมา 30 ราย เราได้ทำหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงไปแล้ว รวมถึงตั้งคอลเซ็นเตอร์ขึ้นมาเพื่อตอบคำถาม มีลูกค้า 29 รายก็รับทราบ อีก 1 รายขอหารือกับฝ่ายกฎหมาย ซึ่งเป็นสิทธิของลูกค้า สำหรับโครงการรนี้มียอดขายแล้ว 80% จะเริ่มโอนปี 2567 ส่วนอีก 2 โครงการที่รัชดาปิดการขายและเข้าอยู่อาศัยมา 4 ปีแล้ว” นายธงชัยกล่าว

Advertisement

นายธงชัยกล่าวว่า จากบทเรียนแอชตัน อโศก ตนคิดว่าเราต้องมาดูกฎหมายบ้านเราอย่างจริงจังถึงความคลุมเครือหลายอย่างว่ากรณีไหนให้ได้หรือไม่ได้ และเมื่อปัญหาเกิดขึ้นแล้ว จะแก้ไขอย่างไร อย่าโยนภาระใหักับผู้บริโภคอย่างเดียว หน่วยงานภาครัฐต้องออกมาชี้แจงด้วย เพื่อให้อุตสาหกรรมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เดินไปอย่างมั่นคง ในส่วนของบริษัท ต่อไปในอนาคตหากจะซื้อที่ดินตาบอดหรือถูกเวนคืนจากรัฐคงต้องมีความระมัดระวังมากขึ้น และดูให้รอบคอบว่าที่ดินแบบไหนที่อนุญาตได้

“ถามว่าส่งผลกระทบต่อตลาดคอนโดแนวรถไฟฟ้าหรือไม่ ผมว่าแค่ระยะสั้น เพราะทุกคนคงหยุดคิด หยุดพิจารณา เรามีโครงการกำลังสร้างอยู่บริเวณนี้พอดี จึงต้องออกมาชี้แจงให้ทุกคนรับทราบข้อเท็จจริง แต่เชื่อว่ายังไงคนยังให้ความสนใจซื้อที่อยู่อาศัยแนวรถไฟฟ้าอยู่ เพราะสะดวก ทั้งนี้กรณีแอชตัน อโศก ก็เป็นเรื่องเฉพาะโครงการ คงไม่สามารถจะมาบอกว่าใช้ทางเข้าออก รฟม.แล้วจะเหมือนกันหมด ถ้าคิดไปไกลว่าถ้ามีเชื่อมกับที่ดินการรถไฟฯ ทางด่วนแล้ว คงไม่สามารถพัฒนากันได้ และคงผิดหลักการพัฒนาเมือง ทั้งนี้คดีนี้เพิ่งมีการตัดสิน คงต้องให้เวลาทุกฝ่ายตั้งตัวว่าแต่ละฝ่ายเกี่ยวข้องอย่างไรบ้าง” นายธงชัยกล่าว

นายธงชัยกล่าวว่า อย่างไรก็ตามจากกรณีแอชตัน อโศก ซึ่งเป็นโครงการร่วมทุนกับนักลงทุนญี่ปุ่น คงมีผลกระทบด้านความเชื่อมั่นจากนักลงทุนต่างชาติ ที่คงงงว่าเกิดขึ้นได้อย่างไรกับประเทศไทย ในฐานะผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ด้วยกัน อยากขอให้ภาครัฐทั้ง กทม.และ รฟม.รีบออกมาชี้แจงให้เกิดความชัดเจนที่สุด รวมถึงการเยียวยาจะมีการดำเนินการอย่างไรบ้าง และขอส่งกำลังใจให้ทางอนันดาและขอให้มีทางออกที่สิ่งที่เกิดขึ้นกับทุกฝ่าย

อสังหามองผลกระทบจำกัด

นายอิสระ บุญยัง กรรมการผู้จัดการบริษัท กานดา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด และประธานคณะกรรมการอสังหาริมทรัพย์ออกแบบและก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กรณีของโครงการแอชตัน อโศก ถือว่าเป็นกรณีศึกษาของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ แต่ผลกระทบคงเป็นเฉพาะวงจำกัด สำหรับโครงการที่ใช้ที่ดินของรัฐเป็นทางเข้าออก เพราะจะก่อให้เกิดความกังวลทั้งผู้ประกอบการ ผู้อยู่อาศัย รวมถึงความเชื่อมั่นการลงทุนใหม่ที่จะเกิดขึ้น ที่ผู้ประกอบการจะต้องมีการตรวจสอบข้อกฎหมายให้ดี เพราะกฎหมายเกี่ยวกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีจำนวนมาก และระเบียบข้อกฎหมายของภาครัฐก็ไม่เหมือนกัน ขณะที่สถาบันการเงิน อาจมีความระมัดระวังมากขึ้นในการปล่อยสินเชื่อโครงการ อย่างไรก็ตามก็เห็นใจทุกฝ่าย ทั้งผู้ประกอบการ และลูกค้าที่อยู่อาศัยที่มีความกังวลมาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image