เช็กเสียงนักธุรกิจ เหตุใด-ปิดเทอมยาวไม่ลงทุน

ประชาชนทั่วไปรู้สึก จับต้องได้ว่า ภาวะเศรษฐกิจเมืองไทยอยู่ในภาวะซบเซาอย่างน่าใจหาย

นักธุรกิจ ผู้ประกอบการ ผู้คร่ำหวอดการค้าการขายยิ่งไม่ต้องพูดถึง ไม่กล้าขยายกิจการ ทุ่มเงินลงทุนใหม่ๆ

กระทั่ง นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ออกมาบ่น แสดงอาการน้อยใจ โดยระบุว่า “สิ่งที่จำเป็นต้องเปลี่ยนมากๆ ในปี 2560 คือ เอกชน กระทรวงการคลังน้อยใจมาก เอกชนไม่ลงทุนเมื่อปีที่แล้ว ให้มาตรการภาษีแบบไม่เคยให้มาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติไทย อ้อนวอน ประชาสัมพันธ์ก็แล้ว ด้านเอกชนบอกว่า เราอ่อนประชาสัมพันธ์ เพื่อให้เราเป็นแพะ เราก็ยอม เราไม่เข้าใจว่าทำไมเอกชนไม่ลงทุน” นายสมชัยกล่าว

แม้ว่ารัฐบาลพยายามเหยียบคันเร่ง ลงทุนนำร่อง มุ่งสร้างความมั่นใจอย่างเต็มที่ แต่ก็ยังไร้วี่แววว่าจะมีภาคเอกชนขานรับมาตรการจูงใจที่รัฐบาลประเคนให้อย่างเต็มที่ ยอมควักเงินออกมาลงทุน ช่วยผลักดันเศรษฐกิจไทย ดังที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้

Advertisement

หลายคนมองว่า เป็นเพราะขณะนี้เกิดสภาวะกำลังซื้อหดหายอย่างรุนแรง ทั้งภายในและภายนอกประเทศ มาตรการกระตุ้นอัดฉีดของทางรัฐบาลใส่ไปแล้วก็หาย ไม่เกิดผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจเท่าที่ควร

ดังนั้น หากภาคเอกชนจะควักเงินลงทุนด้านการผลิตเพิ่ม ก็ไม่รู้จะไปขายให้ใคร เพราะในเมื่อประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีเงินจับจ่าย จะมีก็แต่เฉพาะผู้มีรายได้สูงกลุ่มเดียว แต่เมื่อได้มาก็เก็บเงียบซุกกระเป๋า ไม่ควักออกมาใช้จ่ายเท่าที่ควร

เรื่องนี้เมื่อไปถามบรรดาภาคเอกชน ว่าเพราะอะไรกันแน่ ถึงเอาแต่เวท แอนด์ ซี ไม่ยอมลงทุน คำตอบที่ได้ ไม่ต่างกัน

Advertisement

เริ่มจาก นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) ให้ความเห็นว่า รัฐบาลบอกว่าเอกชนไม่ยอมลงทุน มีแต่รัฐบาลลงทุน ต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงก่อนว่าแนวคิดการลงทุนของเอกชนคือ การลงทุนต้องคุ้มค่า ได้กำไร ไม่ขาดทุน จึงมาดูว่าปัจจัยเศรษฐกิจเอื้อต่อการลงทุนหรือไม่ ภาวะเศรษฐกิจโลกเป็นอย่างไร ตอนนี้ทุกคนมุ่งไปที่การประกาศนโยบายของ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ว่าภายหลังเข้ารับตำแหน่งจะดำเนินนโยบายทางการค้าอย่างไร นโยบายต่อจีน และเกาหลีเหนือจะกระทบตลาดโลกจะเป็นอย่างไรบ้าง รวมถึงการเลือกตั้งของฝรั่งเศสในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน และการเลือกตั้งของเยอรมนีในช่วงกลางปีนี้ ผลการเลือกตั้งของทั้ง 2 ประเทศมีแนวโน้มว่ามีสไตล์เดียวกับทรัมป์จะชนะการเลือกตั้ง จึงเป็นอีกปัจจัยที่นักลงทุนทั่วโลกต่างจับตาดู

รองประธานสภาองค์การนายจ้างฯหยิบยกข้อมูล ตัวเลข มาแสดงให้ดู พร้อมระบุว่า เมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมา เวิลด์แบงก์ (ธนาคารโลก) ออกรายงานเรื่องการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปี 2560 ว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้ เมื่อเทียบกับปีที่แล้วจะไม่ต่างกันมากนัก เมื่อหันกลับมามองไทยปี 2559 เศรษฐกิจจะขยายตัวราว 3.2% ขณะที่รัฐบาลคาดว่าปี 2560 เศรษฐกิจจะขยายตัว 4.0% ต่างกับเอกชนประเมินว่าเศรษฐกิจปีนี้จะขยายตัวใกล้เคียงกับปี 2559 จึงเกิดคำถามว่า แล้วเศรษฐกิจปีนี้จะโตขึ้นอย่างไร ในเมื่อมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นถึง 0.8% ในขณะที่ในโลกนี้ไม่มีประเทศไหนจะเติบโตได้ถึง 0.8% ในปีเดียว ยิ่งดูปัจจัยในประเทศ ทั้งการเปิดโรงงานใหม่และการลงทุนใหม่

ในปี 2559 ตัวเลขติดลบในรอบหลายปี ดัชนีกำลังการผลิตอุตสาหกรรมสามารถเดินเครื่องจักรได้ประมาณ 64% เพียงพอรองรับการผลิตได้อีก 2 ปี ส่วนปัจจัยการเมืองในประเทศ การเลือกตั้งถูกเลื่อนออกไปเป็นช่วงต้นปีหรือกลางปี 2561 แม้จะทราบกันดีในตอนนี้ว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สามารถคุมเกมได้ทั้งหมด แต่ภาคเอกชนห่วงมากคือ หลังรัฐบาลชุดนี้พ้นตำแหน่งแล้วการเมืองไทยจะเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างไร เพราะแผนในอดีตโดยเฉพาะเรื่องการปรองดองของชาติยังเฝ้าหลอกหลอนการเมืองในประเทศ ดังนั้นด้วยปัจจัยหลายอย่างยังต้องรอและเลื่อนออกไป จึงขอสรุปด้วยประโยคที่ว่า เอกชนยังรีรอลงทุน จากปัจจัยความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจ และปัจจัยความเสี่ยงต่างๆ

ส่วนมาตรการจูงใจของรัฐบาลเพียงพอแล้วหรือไม่นั้น จริงๆ แล้วการลงทุนของเอกชนไม่จำเป็นต้องพึ่งมาตรการ เพียงแต่ต้องเข้าใจแนวคิดว่า เมื่อลงทุนต้องได้ผลกลับคืนคุ้มกับต้นทุน หรือได้กำไร หากเศรษฐกิจไม่ดี ปัจจัยไม่เอื้อ มีความเสี่ยงหลายประการ ถึงแม้รัฐบาลจะออกมาตรการมากระตุ้น เอกชนอาจจะยื่นขอลงทุนจากสำนัก งานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) แต่จะลงทุนหรือไม่เป็นคนละเรื่องกัน เนื่องจากมีปัจจัยหลายอย่างต้องคิดให้รอบคอบ

“ตัวเลขการลงทุนในปีนี้คาดว่าจะใกล้เคียงกับปี 2559 คือดีขึ้นเล็กน้อย แต่ตัวเลขจะไม่หวือหวาเท่ากับที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ เนื่องจากปีนี้มีปัจจัยเสี่ยง ความไม่แน่นอนหลายประการที่นักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติจะต้องจับตามอง” นายธนิตกล่าว

นายสนั่น อังอุบลกุล รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาคเอกชนยังไม่ค่อยลงทุนใหม่นั้น แม้ว่าภาครัฐจะมีมาตรการต่างๆ หลายอย่างดึงดูดให้ภาคเอกชนลงทุนก็ตาม เนื่องจาก

โดยเฉลี่ยแล้วโรงงานผลิตมีกำลังการผลิตยังไม่ถึง 70% ยังสามารถรองรับการผลิตได้อีก โดยไม่ต้องลงทุนเพิ่ม ขณะเดียวกันอุตสาหกรรมยุคใหม่ หรืออุตสาหกรรมแห่งอนาคต จะสอดรับกับประเทศไทย 4.0 ขับเคลื่อนประเทศด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมนั้น ยังไม่มีการลงทุนมากนัก ยังเป็นช่วงเริ่มต้น

ภาครัฐควรจะขยายระยะเวลาให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ผู้ลงทุนผู้ประกอบการไทย ในการซื้อเครื่องจักรใหม่ หรือซ่อมแซมเครื่องจักรที่ชำรุดหรือเสียหาย จากเดิมสิทธิประโยชน์นี้หมดไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมา อาจจะต้องขยายระยะเวลาออกไป 1-2 ไตรมาส ส่วนการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ แม้จะมีมาตรการและสิทธิประโยชน์ แต่ขณะนี้เอกชนยังไม่ได้แสดงออกว่าจะลงทุนอะไรใหญ่ๆ ปัจจัยสำคัญยังคงเป็นเรื่องกำลังการผลิตที่ยังเหลืออยู่ หลายฝ่ายคาดว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้ไม่ได้หวือหวา ส่วนปัจจัยทางการเมือง เชื่อว่ามีเสถียรภาพ

นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และรองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) บอกว่า ปัจจัยหลักในการกระตุ้นให้เอกชนมีการลงทุนคือ เศรษฐกิจโลก รองลงมาคือเศรษฐกิจภายในประเทศ ปีนี้ นักเศรษฐศาสตร์หลายสำนักต่างคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัว ทำให้เอกชนค่อนข้างมีความมั่นใจและคาดว่าจะมีการลงทุนในปีนี้มากขึ้น บวกกับผลจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศและส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุนเช่นกัน แต่หากพิจารณาในปี 2559 พบว่า โครงสร้างพื้นฐานสำคัญ อาทิ รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ยังไม่เป็นรูปธรรมนัก ยังอยู่ในขั้นเจรจา จึงไม่มั่นใจว่าจะเกิดขึ้นจริงเมื่อไร

“ส่วนโครงสร้างพื้นฐานที่ดำเนินการอยู่ส่วนใหญ่เป็นโครงการต่อเนื่อง หรือโครงการย่อยที่ดำเนินตามแผนอยู่แล้ว ไม่ได้หวือหวามากนัก หากโครงสร้างพื้นฐานมีความชัดเจน มีการลงทุนโครงการใหญ่และเป็นโครงการใหม่ มั่นใจว่าจะทำให้การลงทุนทั้งภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์จะเร่งพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย” รองประธานสภาอุตสาหกรรมฯกล่าวทิ้งท้าย

ปกติแล้วนักธุรกิจ-ผู้ประกอบการจมูกไว แสวงหาลู่ทางลงทุน การค้าการขายตลอดเวลา

แต่การที่ไม่ยอมลงทุน เป็นเพราะเหตุใด

เสียงสะท้อนจากบางภาคส่วนธุรกิจ อาจพอเป็นตัวแทนของเสียงนักลงทุนได้

ทั้งที่รัฐนำร่อง แต่มีอะไรขาดหายไป นักธุรกิจถึงไม่ลงทุน

ความเชื่อมั่น ระบบการเมืองการปกครอง

ที่ผู้ประกอบการไม่อยากแบกรับความเสี่ยง พูดถึงแต่เป็นปัจจัยพื้นฐานมีอิทธิพลสูงต่อการตัดสินใจ

เป็นอีกเรื่องใหญ่ ที่รัฐเอง ต้องอยู่กับความเป็นจริงด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image