ปั้นอินฟลูเอนเซอร์ชุมชน บูมสินค้าไทย สู่ตลาดโลก

ปั้นอินฟลูเอนเซอร์ชุมชน บูมสินค้าไทย สู่ตลาดโลก

กดปุ่มอย่างเป็นทางการแล้ว สำหรับทีมไทยแลนด์ ภายใต้รัฐบาล เศรษฐา 1 มี 3 หน่วยงานแกนนำ ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ร่วมกันขับเคลื่อน ประเทศเป้าหมายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุก พุ่งเป้าหมายไปที่ 10 ประเทศ ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น เยอรมนี ฝรั่งเศส อินเดีย ยูเออี เกาหลีใต้ ซาอุดีอาระเบีย และแอฟริกาใต้

สำหรับกระทรวงพาณิชย์ ภูมิธรรมเวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สั่งการ 5 แนวทางหลักในการผลักดัน คือ 1.ขยายโอกาสทางการค้า ทั้งกระจายตลาด หาหุ้นส่วนการค้าและวัตถุดิบ 2.ใช้สิทธิประโยชน์ผ่านเจรจาเปิดตลาดเสรี (เอฟทีเอ) ทั้งของเดิมและเพิ่มเจรจาเอฟทีเอใหม่ๆ 3.ผลักดันซอฟต์เพาเวอร์ และเพิ่มพาณิชย์อินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) 4.เพิ่มประสิทธิภาพการค้าด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม และ 5.ใช้ช่องทางการค้า ผ่านแพลตฟอร์มและดิจิทัลช่วยผู้ประกอบการไทย

โดยเฉพาะการใช้อินฟลูเอนเซอร์ ต้องเร่งดำเนินการทันที

Advertisement

เรื่องนี้ อารดา เฟื่องทอง รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า หลังจากรองนายกฯภูมิธรรม มอบนโยบาย ทูตพาณิชย์ พาณิชย์จังหวัด เน้นทำงานเชิงรุกและใกล้ชิดกัน แนวทาง คือ 1.เข้าถึง เข้าใจ ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายเป็นสำคัญ เช่น พาณิชย์เข้าใจความต้องการในภูมิภาค ต้องรู้ลึกรู้จริงเรื่องสินค้า เน้นบริการที่ดีและมีศักยภาพ ส่วนทูตพาณิชย์ ต้องเข้าใจตลาด เข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคในตลาดเป้าหมาย ต้องรู้ลึก รู้จริง ว่าผู้ซื้อคือใคร ต้องการอะไร 2.เชื่อมต่อ (Connection) ตรงจุดและมีศักยภาพที่สุด ต้องเข้าถึงหน่วยงาน องค์กรนักธุรกิจ และอินฟลูเอนเซอร์ จะช่วยให้สินค้าหรือบริการไทย ไปไกลทั่วโลก 3.สร้างทัศนคติ Can Do ของทุกฝ่าย เริ่มต้นที่ต้องการทำงานเพื่อให้การค้าไทย ประสบผลสำเร็จ เพิ่มการส่งออก สุดท้ายส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยเติบโตต่อไป

แผนงานการเจาะตลาด แต่ละตลาดต้องมีแผนงาน แอ๊กชั่นแพลน (Action Plan) หรือแผนปฏิบัติงาน ใช้สื่อโซเชียล และอินฟลูเอนเซอร์ (Influencers) ตามความเหมาะสม เพราะแต่ละตลาดจะไม่เหมือนกัน ตอนนี้กรมและกระทรวงพาณิชย์กำลังลงในรายละเอียดของแผนงานจะนำมาใช้ระยะสั้นถึงระยะยาว ให้ทูตพาณิชย์ทั่วโลกจัดทำแผนงานและข้อเสนอต่างๆ ส่งกลับกรมภายใน 2 สัปดาห์จากนี้ ก่อนรายงานระดับผู้บริหาร หากผ่านความเห็นชอบก็จะเริ่มปฏิบัติได้เลย ตัวอย่างตลาดสหรัฐ เชิญ Influencers ด้านแฟชั่น มาร่วมงานแสดงสินค้าแสดงสินค้าแฟชั่นในไทย (งาน STYLE) เพื่อสร้างกระแสแฟชั่นไทยสู่สากล หรือตลาดสหราชอาณาจักร เชิญ Influencers ด้านอาหาร มางานแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม (Thaifex) งานใหญ่ประจำปีของไทย เพื่อนำเสนอสินค้าอาหารและอาหารแนวใหม่สู่ตลาดยุโรป หรือตลาดจีน กรมจะทำงานร่วมกับ KOLs จีน จะช่วยโปรโมตสินค้าและบริการของไทย อาทิ สินค้าอาหาร เครื่องดื่ม ขนมขบเคี้ยว สินค้าสุขภาพและความงาม ในกิจกรรมต่างๆ ทั้งในงานแสดงสินค้าที่กรมจัด และในช่องทางตลาดพันธมิตรของกรมทั้งออนไลน์และออฟไลน์

KOL Marketing หรือ Influencer Marketing คือ กลยุทธ์การตลาดออนไลน์ ได้รับความนิยมในประเทศจีนเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นการดึงบุคคลที่เป็น influencer ในด้านต่างๆ มาทำการตลาด
Influencer Marketing มีอิทธิพลอย่างไร!!

Advertisement

พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ระบุว่า ตามรายงานการสำรวจ The State of Influencer Marketing 2023 โดย Influencer Marketing Hub เว็บไซต์ด้านการตลาดอินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังของโลกพบว่า การตลาดอินฟลูเอนเซอร์ทั่วโลก เริ่มต้นในปี 2549 ตอนแรกมีมูลค่าตลาดเพียง 1,700 ล้านเหรียญสหรัฐ จนถึงปี 2565 มูลค่าสูงถึง 16,400 ล้านเหรียญสหรัฐ คาดว่าปี 2566 จะเติบโตถึง 28.67% เมื่อเทียบปี 2565 มีมูลค่าเพิ่มเป็น 21,100 ล้านเหรียญสหรัฐ

อินฟลูเอนเซอร์มีความสำคัญมากต่อการทำการตลาดสินค้าและบริการในยุคปัจจุบัน เป็นกลุ่มมีอิทธิพลต่อความคิดและการตัดสินใจของผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย ส่วนจะมีอิทธิพลแค่ไหนขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ติดตาม แบ่งอินฟลูเอนเซอร์เป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1.นาโนอินฟลูเอนเซอร์ มีผู้ติดตาม 1,000-10,000 คน 2.ไมโครอินฟลูเอนเซอร์ มีผู้ติดตาม 10,000-100,000 คน 3.แม็คโครอินฟลูเอนเซอร์ มีผู้ติดตาม 100,000-1,000,000 คน และ 4.เมกะ/เซเลบริตี้อินฟลูเอนเซอร์ มีผู้ติดตามมากกว่า 1,000,000 คนขึ้นไป ผู้ติดตามของผู้บริโภคยุคนี้ ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มคน Gen Y และ Gen Z มีพฤติกรรมรับชมการรีวิวจากอินฟลูเอนเซอร์ก่อนตัดสินใจซื้อ และยังนำเสนอรูปแบบการแชร์ประสบการณ์จากการทดลองใช้สินค้าหรือบริการ และบรรยายสรรพคุณอย่างละเอียด ถือเป็นการตลาดแบบปากต่อปาก อย่างคำว่าใช้ดี เพื่อนบอกต่อ ทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินค้าหรือบริการได้ง่ายกว่าการรับชมผ่านโฆษณาทั่วไป

หันมาดูในประเทศไทย อุตสาหกรรมที่มีการใช้การตลาดอินฟลูเอนเซอร์ มากสุดในปี 2565 อันดับ 1 คือ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม คิดเป็นสัดส่วนถึง 39% ส่วนอันดับ 2 ได้แก่ แฟชั่นและความงาม 17.4% และอันดับ 3 อุปกรณ์เสริมและแบรนด์เครื่องมือสื่อสาร ที่มีสัดส่วน 10.6% เท่ากัน ขณะที่ช่องทางเฟซบุ๊ก (Facebook) เป็นแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมสูงสุด สัดส่วน 35.3% รองลงมา ได้แก่ อินสตาแกรม (Instagram) ยูทูบ (YouTube) ติ๊กต็อก (TikTok) และทวิตเตอร์ (Twitter) ในบรรดาแพลตฟอร์มเหล่านี้ติ๊กต็อก เป็นแพลตฟอร์มที่มีการเติบโตแบบก้าวกระโดดมากที่สุด โดยเฉพาะในกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์ ที่มีผู้ติดตามไม่เกิน 1 แสนคน

หากจะดี จะช่วยกันส่งเสริมให้ชุมชนเห็นประโยชน์และร่วมมือกัน ผลักดันสินค้าของตนให้เป็นที่รู้จัก ใช้อินฟลูเอนเซอร์และสร้างอินฟลูเอนเซอร์ประจำชุมชน เพราะจากการศึกษาทางวิชาการพบว่า กระบวนการสร้างบุคคลเป็นผู้ทรงอิทธิพลบนโลกออนไลน์ด้านการเกษตรท้องถิ่นพบว่า ควรมี 4 องค์ประกอบ คือ 1.มีองค์ความรู้ด้านการเกษตรกรรมถูกต้อง และน่าเชื่อถือ 2.มีประสบการณ์ด้านการเกษตรกรรมสามารถถ่ายทอดหรือสร้างความน่าสนใจ 3.มีรูปแบบหรือสไตล์เป็นกันเอง เช่น ใช้ภาษาถิ่นเพื่อใกล้ชิดกับกลุ่มผู้ติดตาม และ 4.มีมุมมองการถ่ายทอดเรื่องเกษตรกรรม โดยเฉพาะการเล่าเรื่องที่เฉียบคมนำไปใช้ในชีวิตประจำวันหรือใช้ในการประกอบอาชีพได้ การใช้อินฟลูเอนเซอร์รีวิวสินค้าหรือบริการผ่านโซเชียลมีเดีย อาจไม่ใช่การตลาดรูปแบบใหม่ แต่ภาคเกษตรกรรมของไทยสามารถนำไปประยุกต์ใช้ เพื่อโฆษณา สร้างการรับรู้ และประชาสัมพันธ์ สอดคล้องกับกระแสนิยมและกลุ่มเป้าหมาย พูนพงษ์กล่าว

จากการสำรวจนักธุรกิจใช้อินฟลูเอนเซอร์ ทุกคนสะท้อนสอดคล้องกันว่า สื่อผ่านอินฟลูเอนเซอร์ ทำให้เกิดการรับรู้ทันทีว่าสินค้านั้นคืออะไร หากเป็นสินค้าทั่วไป การตัดสินใจยังต้องประกอบด้วย ราคา หน้าตาสินค้า และบริการหลังการขาย แต่หากเป็นอาหาร เครื่องดื่ม และสถานที่เปิดใหม่ จะสร้างการเข้าถึงและยอดขายได้เร็ว และสูงกว่าปกติ 20-30% ในช่วงแรกๆ

ผู้ส่งออกรายหนึ่งระบุว่า อินฟลูเอนเซอร์ ทำหน้าที่เคาะประตูบ้านแทนสินค้าหรือบริการ จากสมัยก่อนนิยมส่งเอกสารหรือแจกใบปลิว ก็มีคนอ่านบ้างไม่อ่านบ้าง แต่ทุกวันนี้ทุกคนดูข่าวสารในมือถือตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงเข้านอน ก็ต้องเห็นการเชิญชวนหรือสื่อสารผ่านกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์ไม่เวลาใดก็เวลาหนึ่ง ถือเป็นเรื่องดีที่ภาครัฐสอดแทรก อินฟลูเอนเซอร์ มาร์เก็ตติ้ง (Influencer Marketing) ในการเปิดตลาดส่งออกไปทั่วโลก

จึงเกิดความคาดหวังอีกขั้นว่า หากกระแสปั้นอินฟลูเอนเซอร์รุ่นใหม่ประจำชุมชน จุดติด เชื่อว่าจะสร้างแรงจูงใจให้คนรุ่นใหม่เข้าสู่อาชีพอินฟลูเอนเซอร์ อาจเหมือน แร็พเปอร์ นักร้อง ดารา ของไทยหลายคนกำลังโด่งดังระดับโลก

และอาจพัฒนาเป็นอีกหนึ่งซอฟต์เพาเวอร์จากเมืองไทยก็เป็นได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image