เงินบาททยอยแข็งค่า-ตลาดหุ้นไทยดีดตัว รับเฟดส่งซิกลดดอกเบี้ย

เงินบาททยอยแข็งค่า-ตลาดหุ้นไทยดีดตัว รับเฟดส่งสัญญาณลดดอกเบี้ย

เมื่อวันที่ 10 มีนาคม นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในสัปดาห์ระหว่างวันที่ 11-15 มีนาคม 2567 ที่ระดับ 35.15-35.70 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หลังจากวันศุกร์ที่ 8 มีนาคม เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 35.43 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

นางสาวกาญจนากล่าวว่า โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นตลอดสัปดาห์สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ เผชิญแรงเทขายอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่สุนทรพจน์ต่อสภาคองเกรสของประธานธนาคารสหรัฐ (เฟด) หนุนโอกาสที่จะเห็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยเฉพาะเฟดมั่นใจว่าเงินเฟ้อสหรัฐมีแนวโน้มชะลอลงกลับเข้าสู่ระดับเป้าหมาย

ทั้งนี้ สถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 4-8 มีนาคม นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 2,602 ล้านบาท แต่มีสถานะเป็น Net Inflows เข้าตลาดพันธบัตรไทยเล็กน้อยที่ 198 ล้านบาท (ซื้อสุทธิพันธบัตร 203 ล้านบาท หักตราสารหนี้หมดอายุ 5 ล้านบาท)

Advertisement

นางสาวกาญจนากล่าวว่า ขณะเดียวกัน ประเมินดัชนีหุ้นไทยในสัปดาห์ระหว่างวันที่ 11-15 มีนาคม 2567 มีแนวรับที่ 1,375 และ 1,355 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,400 และ 1,415 จุด ตามลำดับ หลังจากในวันศุกร์ที่ 8 มี.ค.2567 ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,386.42 จุด เพิ่มขึ้น 1.39% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 40,153.90 ล้านบาท ลดลง 31.43% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 0.75% มาปิดที่ระดับ 410.15 จุด

“หุ้นไทยเริ่มพลิกมาขยับขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางสัปดาห์ โดยมีแรงซื้อคืนหุ้นเข้ามาหนุน หลังจากหุ้นไทยปรับตัวลงติดต่อกัน 7 วันทำการ ก่อนจะดีดตัวขึ้นแรงอีกครั้งในช่วงปลายสัปดาห์ตามทิศทางตลาดหุ้นภูมิภาค หลังประธานเฟดส่งสัญญาณว่าเฟดอาจใกล้ที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย สำหรับสัปดาห์นี้ หุ้นไทยปรับขึ้นถ้วนหน้าโดยเฉพาะช่วงท้ายสัปดาห์ นำโดย หุ้นกลุ่มไฟแนนซ์ คาดว่าจะได้รับอานิสงส์จากทิศทางดอกเบี้ยขาลง กลุ่มเทคโนโลยี และกลุ่มพลังงาน” นางสาวกาญจนากล่าว

ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินลงทุนต่างชาติ สถานการณ์ราคาทองคำในตลาดโลก และการเคลื่อนไหวของสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อในมุมมองผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต ตัวเลขยอดค้าปลีก ข้อมูลการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนกุมภาพันธ์ รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (เบื้องต้น) เดือนมีนาคม และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ ตลาดยังรอติดตามตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/2566 ของญี่ปุ่น ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนกุมภาพันธ์ของอังกฤษ ข้อมูลการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนมกราคมของยูโรโซน และตัวเลขการปล่อยกู้ใหม่สกุลเงินหยวนเดือนกุมภาพันธ์ของจีนด้วยเช่นกัน

Advertisement

ข่าวน่าสนใจอื่น
แบงก์ชาติ ลุยแก้หนี้ครัวเรือนยั่งยืน ชี้ลดดอกหนี้ก็พุ่ง แนะต้องเพิ่มรายได้
ดีลเลอร์รถรายเล็กยอดขายวูบ 15% หลังค่ายใหญ่หั่นราคาอีวีตีตลาด
คลัง หวัง เวอร์ชวลแบงก์ อุดช่องโหว่เงินกู้นอกระบบ คนจนเข้าถึงสินเชื่อ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image