ทีดีอาร์ไอ ยกบทเรียนต่างชาติ เตือนนายกฯ ปรามทีมงานอย่าทะเลาะแบงก์ชาติ

ทีดีอาร์ไอ เตือนนายกฯ ปรามทีมงานอย่าทะเลาะแบงก์ชาติ ชี้บทเรียน ตปท.นายกลาออกก็มีให้เห็น

เมื่อวันที่ 20 มีนาคม ที่โรงแรมคิง เพาเวอร์ รางน้ำ สำนักข่าวประชาชาติธุรกิจ จัดงานสัมมนา Prachachat Business Forum 2024 ฝ่าพายุความเปลี่ยนแปลง โดย นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) บรรยายพิเศษในหัวข้อ Unlocked Thailand โดยตอนหนึ่งได้กล่าวถึงการปลดล็อกการทำงานของประเทศไทยที่ชอบทดลองโดยไม่เรียนรู้ ซึ่งได้ยก 2 เรื่องที่สำคัญ

นายสมเกียรติกล่าวว่า คือ 1.การจ่ายเงินดิจิทัล และไม่ได้เรียนรู้จากบทเรียนต่างๆ ที่เกิดขึ้นในอดีต เพราะไม่ใช่การแจกเงินครั้งแรกในประเทศไทย ไม่ใช่การจ่ายเงินครั้งแรกในโลก และไม่ทราบว่าจะยังแจกกันอยู่หรือเปล่า แต่การจ่ายเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ เมื่อคิดกันมาแล้วแทบทุกรูปแบบตั้งแต่เงินผันคึกฤทธิ์ เงินกำลังจะหมดไปสมัยทักษิณ 1 เช็คช่วยชาติไปจนถึงเราชนะ ในสมัยนายกฯตู่ ก็มีเรื่องของคนละครึ่งเที่ยวด้วยกัน และรัฐบาลปัจจุบันจะทำเงินดิจิทัล

“ประสบการณ์ต่างๆ จะช่วยให้การวางแผนดีขึ้นและทำงานกระตุ้นเศรษฐกิจได้เป็นผลสำเร็จ คือการดูบทเรียนในอดีต ไม่ใช่เฉพาะบทเรียนในประเทศไทย แต่มีบทเรียนในต่างประเทศรวมด้วย” นายสมเกียรติกล่าว

Advertisement

นายสมเกียรติกล่าวว่า กรณีของประเทศไทยถ้าไปศึกษาดูพบว่าตัวคูณทางเศรษฐกิจ ที่เกิดขึ้นจากการอัดฉีดเงินมันไม่ได้สูงอย่างที่รัฐบาลปัจจุบันคาดการณ์ไว้ ข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไรก็ต้องถึงตอนเวลาทำจริงถึงจะรู้กัน แต่ถ้าเตรียมพร้อมให้ดีโดยการไปเรียนรู้ข้อมูลจากอดีตก่อน ซึ่งตัวคูณเศรษฐกิจของการแจกเงินถ้าเป็นการแจกเงินสำหรับคนทั่วไปจะประมาณที่ 0.4-0.5 ดังนั้น ไม่ได้สูงขึ้นเป็นดั่งลมพายุตามที่รัฐบาลพูดกันว่าจะหมุนถึง 4-5 รอบ

เช่นเดียวกันกับในต่างประเทศลมพายุจากการแจกเงินก็ไม่ได้เกิดขึ้นยกเว้นในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำจริงๆ ตัวคูณของสหรัฐก็คือใส่เงินเข้าไป 1 บาท หรือ 1 ดอลลาร์ จะทำให้เกิดจีดีพีกี่ดอลลาร์นั้น ส่วนใหญ่อยู่ที่ระดับ 1% หรือต่ำกว่า 1% ด้วยซ้ำ

Advertisement

ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่คิดให้ดีและการจ่ายเงินโดยไม่รักษาวินัยการคลังก็จะมีตัวอย่างจากบทเรียนทั่วโลกว่ามีความเสี่ยงสูงได้ จากการศึกษาพบว่าถ้าเกิดรัฐบาลไม่รักษาภาวะทางการคลังให้ดีไปกระตุ้นเศรษฐกิจและหนี้สาธารณะพุ่งขึ้นมา ประเด็นที่จะตามมาก็คือเอกชนจะถูกลดเครดิตเรตติ้งไปด้วย ตามการลดเครดิตเรตติ้งของประเทศ ซึ่งอันนี้เป็นปัญหาที่น่ากังวลและอยากให้คิดในเรื่องนี้มากยิ่งขึ้น

”อีกทั้งอยากให้เห็นบทเรียนของการที่รัฐบาลชอบไปมีปัญหากับธนาคารกลาง ซึ่งเป็นตัวอย่างที่เกิดขึ้นแล้วทั่วโลกก็อยากให้ท่านนายกช่วยปรามทีมงานของท่าน อย่าเที่ยวไปทะเลาะหรือแอคแท็กธนาคารกลาง ซึ่งต่างคนต่างทำหน้าที่ความเห็นต่างกันเป็นเรื่องไม่แปลก“ นายสมเกียรติกล่าว

ขณะเดียวกัน บทเรียนในอดีตในหลายประเทศ เช่น ตุรกี ไล่ผู้ว่าแบงก์ชาติออก 3 คน เพราะรัฐบาลอยากให้ลดดอกเบี้ย ซึ่งผลก็คือเกิดเงินเฟ้อขึ้นมา 80% ในรัฐบาลอังกฤษ ลิซ ทรัสส์ เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ในอำนาจสั้นที่สุดคนหนึ่งของอังกฤษ เพราะตอนนั้นต้องการลดภาษี ขาดดุลการคลัง และไม่ฟังแบงก์ชาติของอังกฤษ สุดท้ายนายกเองก็อยู่ไม่ได้

นายสมเกียรติกล่าวว่า ขอฝากอีกเรื่องหนึ่งซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่รัฐบาลให้ความสนใจ จะคิดว่ากระบวนการวางแผนยังมีปัญหาคือโครงการแลนด์บริจด์ ถ้าจะลุยทำแลนด์บริจด์ อยากเห็นรัฐบาลคิดให้ดี คิดให้รอบคอบก่อน และมีประสบการณ์ทั่วโลก เพราะเมกะโปรเจกต์ไม่ใช่เคยทำแต่ประเทศไทยเป็นครั้งแรก แต่เมกะโปรเจ็กต์ทำกันหลายหมื่นหรือใกล้แสนโปรเจ็กต์แล้ว

จากการศึกษาในอดีตก็พบแล้วว่าโครงการแบบไหนสำเร็จและโครงการแบบใดไม่สำเร็จ โครงการขนาดใหญ่ถ้าจะไม่สำเร็จมันจะมี 2 สาเหตุใหญ่ๆ และโครงการขนาดใหญ่เกือบทั้งหมดไม่สำเร็จ พูดถึงในโลกหรือทั่วไปเลย สาเหตุที่ไม่สำเร็จมีร่วมกันอย่าง 1.มองโลกดีเกินจริงและเมินความเป็นจริงที่มันเกิดขึ้น 2.ไม่ใช่การมองโลกในแง่ดีอย่างเข้าใจผิดแต่เป็นการพยายามปั้นตัวเลข…เสกออกมาให้สวย เพื่ออยากลงทุนในการทำโครงการ

“เพราะฉะนั้นหัวใจสำคัญในการทำโครงการใหญ่ๆ จึงอยู่ที่การทำฟิสซิบิลิตี้ หรือศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการให้ดี กรณีของแลนด์บริจด์ จะพบประสบการณ์ที่น่าสนใจมี 2 ฟิสซิบิลิตี้ ซึ่งมีความแตกต่างกัน”นายสมเกียรติกล่าว

นายสมเกียรติกล่าวว่า กรณีของกระทรวงคมนาคม เห็นว่าโครงการแลนด์บริจด์ จะให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจดี สร้างมูลค่าปัจจุบันประมาณ 260,000 ล้านบาท ขณะที่การศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ทำให้กับสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พบว่าการสร้างมูลค่าติดลบ หรือติดลบอัตราผลตอบแทนอยู่ที่ติดลบ 121,037 ล้านบาท

ขณะที่ทางด้านเศรษฐกิจของกระทรวงคมนาคมจะมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ 17.43% แต่จุฬาฯ และ สศช. ทำออกมาผลตอบแทนทางเศรษฐกิจติดลบ 4.37% เรียกว่าต่ำกว่าต้นทุนทางการเงินของภาครัฐด้วยซ้ำ ซึ่งเป็นโครงการที่ไม่ควรทำ หากโดยเฉพาะผลตอบแทนทางการเงินจริงๆ มาติดลบด้วยซ้ำไป

นอกจากนี้ การอันล็อกประเทศไทย ซึ่งมีการล็อกไว้หลายชั้น โดยจะยกมา 3 เรื่อง คือ 1.กฎระเบียบโบราณ 2.การศึกษาจำท่อง และ 3.การทดลองโดยไม่เรียนรู้ ถ้าประเทศไทยทำได้ 3 เรื่องนี้ ปลดล็อคทั้ง 3 เรื่องนี้อนาคตประเทศไทยมีแน่ ภาคเอกชนไทยมีความเข้มแข็ง บริษัทไทยมีความพร้อม สตาร์ตอัพ เอสเอ็มอีมีไดนามิก ขาดแต่กลไกสำคัญที่ไปล็อกธุรกิจประชาชนในการทำมาหากินไว้ก็คือภาครัฐบาล

”จึงขอฝากเรื่องนี้ให้คิดกันต่อถ้าประเทศไทยก้าวเดินไปได้ธุรกิจมีความพร้อม รายใหญ่พร้อมมากกว่า รายเล็กก็พยายามในการปรับตัว แต่ถ้าภาครัฐบาลไม่ปรับตัวไม่ปลดล็อกประเทศไทยออกจาก 3 เรื่อง คือเรื่องกฎหมายโบราณ การศึกษาจำท่อง และชอบทดลองโดยไม่เรียนรู้ ประเทศไทยก็ยากที่จะก้าวได้ แต่ถ้าเราปลดล็อกสามเรื่องนี้ เชื่อว่าประเทศไทยมีของดีอยู่มาก อย่างน้อยเราก็มีพระสยามเทวาธิราช คุ้มครองให้ประเทศไทยเดินต่อไปไปได้ ถ้าเราทำตัวของเราให้ดีขึ้น“นายสมเกียรติกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image