เฉลียงไอเดีย : กางแผน‘ไทยโกโก้ฮับ’ สู่สินค้าพรีเมียมป้อนตลาดโลก ก.อุตฯฟังเสียงแบรนด์ภราดัย

เมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือดีพร้อม ได้จัดประชุมโต๊ะกลมรับฟังความคิดเห็นเพื่อร่วมกันศึกษาแนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมโกโก้ จากแบรนด์ “ภราดัย” ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์โกโก้และคราฟต์ช็อกโกแลตสัญชาติไทย ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ซึ่งคาเฟ่โกโก้ภราดัยตั้งอยู่

เพื่อผลักดันโกโก้ไทยสู่ ไทยโกโก้ฮับ (THAI COCOA HUB) ของอาเซียน ตามนโยบาย พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ที่วางเป้าหมายอยากให้โกโก้สร้างรายได้ให้เกษตรกรอย่างยั่งยืน และมีกระบวนการผลิตสู่สินค้าพรีเมียมยกระดับผู้ผลิตไทยในตลาดโลก

พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล

ก่อนเริ่มฟังความเห็นจากผู้ประกอบการไทย รัฐมนตรีพิมพ์ภัทราให้ข้อมูลว่า จากสถานการณ์โลกเดือดได้ส่งผลให้ราคาโกโก้ในตลาดโลกพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ ปัจจุบันราคาซื้อขายโกโก้ล่วงหน้าสูงกว่า 7,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน หรือประมาณกว่า 240,000 บาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนกว่า 2,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน

ประกอบกับความต้องการโกโก้มีอย่างต่อเนื่องทั้งจากตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ สะท้อนได้จากการเติบโตของร้านคาเฟ่ ผลิตภัณฑ์ขนมหวาน ช็อกโกแลตพรีเมียม รวมถึงเทรนด์การรักสุขภาพ เนื่องจากโกโก้สามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย อาทิ อาหารเพื่อสุขภาพชั้นดีเยี่ยม (Super Food) ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง จึงเป็นโอกาสที่โกโก้ไทยจะมุ่งสู่ไทยโกโก้ฮับ (THAI COCOA HUB) ของอาเซียนในอนาคต

Advertisement

“แต่โกโก้ไทยยังติดข้อจำกัดในหลายจุดตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ดังนั้น รัฐบาลจึงหาแนวทางผลักดันและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมโกโก้ไทยตลอดห่วงโซ่อุปทานด้วยการบูรณาการความร่วมมือระหว่างผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน”

รัฐมนตรีพิมพ์ภัทราระบุอีกว่า กระทรวงอุตสาหกรรม จึงเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อร่วมกันศึกษาแนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมโกโก้จากเจ้าของแบรนด์ “ภราดัย” ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์โกโก้และคราฟต์ช็อกโกแลตสัญชาติไทยแท้ การันตีคุณภาพด้วยรางวัลเหรียญทองระดับโลกจากเวที Academy of Chocolate Award 2021 โดยจะเป็นหนึ่งในข้อมูลประกอบการศึกษา ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมจะรับฟังแบรนด์อื่น รับฟังเสียงเกษตรกร และผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน

Advertisement

โดยภราดัยมีข้อเสนอแนะและความต้องการที่จะให้ภาครัฐมุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพการผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์โกโก้ให้มีคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาด การส่งเสริมมาตรฐานผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพิ่มมูลค่าโกโก้สู่ผลิตภัณฑ์พรีเมียม การส่งเสริมและเพิ่มช่องทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศ เชื่อมโยงแบรนด์โกโก้ของไทยที่มีคุณภาพสู่ตลาดสากลมากขึ้น ทั้ง ภราดัย, Cocoa Valley, กานเวลา, Bean to Bar, ONE MORE, SP COCO และแบรนด์อื่นๆ โดยจะสนับสนุนให้มีโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนกับสถาบันการเงินต่างๆ

รัฐมนตรีพิมพ์ภัทราระบุด้วยว่า ทางภราดัยยินดีที่จะร่วมมือกับทางภาครัฐ ถ่ายทอดทักษะและองค์ความรู้ ทั้งกระบวนการหมักและการคั่วให้ได้คุณภาพและมาตรฐานที่ดี การคัปปิ้งโกโก้ (Cupping Cocoa) เพื่อทดสอบคุณภาพของโกโก้และค้นหาเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของโกโก้แต่ละพื้นที่ปลูก ให้ผลิตภัณฑ์โกโก้ไทยเติบโต แข่งขันกับตลาดโลก และขึ้นแท่นเป็นสินค้าพรีเมียมได้ในอนาคต

ด้าน ภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (ดีพร้อม) กล่าวว่า หลังจากการรับฟังความต้องการของผู้ประกอบการภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบหมายให้ดีพร้อมเร่งเดินหน้าให้การส่งเสริมและสนับสนุนภราดัย

ภาสกร ชัยรัตน์

โดยทางทีมดีพร้อมจะเข้าไปให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกในการเตรียมความพร้อมและตรวจประเมินสำหรับยื่นขอการรับรองผลิตภัณฑ์มาตรฐานฮาลาลจากสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เพื่อสามารถขยายโอกาสทางการตลาดสู่ตลาดฮาลาลในอนาคต

นอกจากนี้ ดีพร้อมยังสนับสนุนให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อนำไปปรับปรุงเครื่องจักรในกระบวนการผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพการแปรรูปโกโก้ให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้นผ่านโครงการ “ติดปีกเอสเอ็มอี หลักทรัพย์ไม่มี ดีพร้อมค้ำประกันให้” ภายใต้นโยบาย DIPROM Connection ซึ่งจะสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้นโดยใช้หนังสือค้ำประกันแทนหลักทรัพย์

ขณะเดียวกัน ดีพร้อมยังได้วางแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมโกโก้ของไทยตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำในทุกๆ มิติ ด้วยการบูรณาการความร่วมมือระหว่างผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน

โดยในส่วนของต้นน้ำ ดีพร้อมมุ่งเน้นการพัฒนาและยกระดับศักยภาพเกษตรกรด้วยการถ่ายทอดองค์ความรู้และทักษะกระบวนการบ่มหมักเมล็ดโกโก้เพื่อให้ได้เมล็ดโกโก้ที่มีคุณภาพตามความต้องการของตลาด การส่งเสริมการรวมกลุ่มเกษตรกรคลัสเตอร์โกโก้ การนำนวัตกรรม เทคโนโลยี และการจัดการเกษตรอุตสาหกรรมสมัยใหม่มาปรับใช้ อาทิ เครื่องผ่าผลสดโกโก้ เครื่องคัดแยกเมล็ดโกโก้

ขณะที่ในส่วนของกลางน้ำ/ปลายน้ำ ดีพร้อมจะเน้นการพัฒนาและยกระดับศักยภาพการผลิต/การแปรรูปผลิตภัณฑ์โกโก้ การเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต การตรวจวิเคราะห์คุณภาพสารอาหารในโกโก้ ไม่ว่าจะเป็นการนำโกโก้บัตเตอร์มาผ่านกระบวนการทดสอบและตรวจหาสารสำคัญ อาทิ กรดไขมันอิสระ (free fatty acid) การพัฒนาต้นแบบเครื่องบีบสกัดโกโก้เพื่อให้ได้โกโก้บัตเตอร์ การส่งเสริมการสร้างระบบมาตรฐานต่างๆ

รวมทั้งการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ด้วยการออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ให้มีอัตลักษณ์พื้นที่ของแหล่งปลูกโกโก้และเชื่อมโยงสู่การท่องเที่ยวภายในจังหวัด รวมถึงเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบการธุรกิจโกโก้และเกษตรกรในรูปแบบจัดตั้งสมาคมโกโก้ การเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ผลิตสู่ผู้ซื้อ

ตัวอย่างที่ผ่านมา ทางทูตอุตสาหกรรมญี่ปุ่นได้นำเมล็ดโกโก้จากจังหวัดพะเยาและนครศรีธรรมราชไปเป็นตัวอย่างในการทดสอบคุณภาพ ทำให้เกิดการเจรจาซื้อขายกับผู้ประกอบการประเทศญี่ปุ่น จำนวน 5 ตัน และการร่วมมือกับสภาเกษตรกรแห่งชาติเพื่อจัดทำแผนการสร้างเครือข่ายระหว่างเกษตรกรผู้ปลูกและผู้ประกอบการที่ผลิตและแปรรูปโกโก้

นอกจากนี้ ดีพร้อมยังส่งเสริมและสนับสนุนการเข้าถึงโอกาส (Reshape The Accessibility) ด้านการตลาดด้วยการผลักดันและเชื่อมโยงผู้ประกอบการอุตสาหกรรมโกโก้แบรนด์ชั้นนำของไทยสู่ตลาดสากลมากยิ่งขึ้น รวมถึงการพัฒนาและยกระดับการแปรรูปโกโก้สู่การเป็นอาหารแห่งอนาคต (future food) ด้วยการนำทุกส่วนของโกโก้มาแปรรูปและสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายสู่การเป็นสินค้าพรีเมียม อาทิ กลุ่มอาหารที่ให้ประโยชน์สูงต่อร่างกาย (SuperFood) โกโก้ผง เนยโกโก้ ช็อกโกแลต เพื่อขยายโอกาสรองรับกระแสการปฏิวัติอุตสาหกรรมอาหารในกลุ่มซุปเปอร์ฟู้ด (Superfoods) และเทรนด์คนรักสุขภาพในปัจจุบัน

“คาดว่าจะสามารถยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการอุตสาหกรรมโกโก้ให้มีขีดความสามารถการแข่งขันในระดับเวทีโลกได้มากขึ้น และกระตุ้นมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยรวมเพิ่มขึ้นกว่า 8,000 ล้านบาท”

 

ตรวจสอบข้อมูลพื้นที่ปลูกโกโก้ทั่วประเทศไทยปี 2566 พบว่า มีเกษตรกรผู้ปลูกโกโก้จำนวน 3,462 ครัวเรือน พื้นที่การเพาะปลูกโกโก้รวมทั้งประเทศกว่า 15,700 ไร่ มีผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้ประมาณ 3.4 ล้านกิโลกรัม

โดยพื้นที่ที่มีการเพาะปลูกมากที่สุดคือพื้นที่ภาคเหนือจำนวน 5,474 ไร่ รองลงมาเป็นพื้นที่ภาคใต้ จำนวน 4,731 ไร่ ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช มีพื้นที่ปลูกโกโก้มากกว่า 1,700 ไร่ เป็นอันดับหนึ่งของประเทศถือได้ว่าเป็นแหล่งผลิตโกโก้คุณภาพดีของไทย และภาคตะวันออกมีพื้นที่เพาะปลูกจำนวน 688 ไร่

นอกจากนี้ยังมีจังหวัดที่น่าจับตามอง คือในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว ที่มีพื้นที่การปลูกโกโก้และเป็นพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งจะมุ่งเน้นการตั้งโรงงานแปรรูปโกโก้ขนาดเล็กเพื่อสนับสนุนให้มีการปลูกโกโก้ให้มากขึ้น

กระทรวงอุตสาหกรรม กำลังเร่งยกระดับศักยภาพอุตสาหกรรมโกโก้ไทยในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ สู่การให้โกโก้ไทยเป็นโกโก้ฮับ (THAI COCOA HUB) ของอาเซียน เพื่อเป็นศูนย์กลางการขยายตัวของอุตสาหกรรมโกโก้ไทยสู่ระดับสากล หวังลดการนำเข้าจากต่างประเทศ และส่งเสริม สนับสนุนผู้ประกอบการให้มีศักยภาพขีดความสามารถในการส่งออกและแข่งขันกับแบรนด์ตลาดโลกได้ในอนาคต

ลงลึกการดำเนินงานของดีพร้อม ในการยกระดับศักยภาพอุตสาหกรรมโกโก้ พบว่า การพัฒนาเกษตรกรต้นน้ำ ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก คือ 1.ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการบ่มหมักเมล็ด โดยการจัดสัมมนาอบรมบ่มเพาะพัฒนากระบวนการผลิตเพื่อให้ได้เมล็ดโกโก้ที่มีคุณภาพตามที่ตลาดต้องการ 2.ส่งเสริมการรวมกลุ่ม สร้างการรวมกลุ่มเกษตรกรคลัสเตอร์โกโก้ และ 3.ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีให้เกษตรกร เช่น มีการดำเนินการจัดทำต้นแบบเครื่องผ่าผลสดโกโก้ และมีแผนในการพัฒนาเครื่องคัดแยกเมล็ดโกโก้

ขณะที่แนวทางการพัฒนาผู้แปรรูปกลางน้ำ/ปลายน้ำ ประกอบด้วย 5 ส่วนหลัก คือ 1.พัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง โดยพัฒนาออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ให้มีอัตลักษณ์และเชื่อมโยงการท่องเที่ยวภายในจังหวัด 2.เพิ่มประสิทธิภาพในการปรับปรุง กระบวนการผลิต โดยการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ/สารอาหารในโกโก้บัตเตอร์ โดยนำตัวอย่างโกโก้บัตเตอร์ของผู้ประกอบการมาผ่านกระบวนการทดสอบและตรวจสารสำคัญ เช่น Free Fatty acid 3.เชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบการธุรกิจโกโก้ และเกษตรกร เช่น มีแผนการจัดตั้งสมาคมโกโก้ เป็นการรวมกลุ่มผู้ประกอบการต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ โดย Bean To Bar

4.ส่งเสริมการสร้างระบบมาตรฐาน ให้กับอุตสาหกรรมโกโก้ เพื่อขอการรับรอง GHPs GMP และ 5.การพัฒนาต้นแบบเครื่องบีบสกัดโกโก้เพื่อให้ได้โกโก้บัตเตอร์เชื่อมโยงสู่ผู้ซื้อ เช่น ทูตอุตสาหกรรมญี่ปุ่นนำเมล็ดโกโก้จากจังหวัดพะเยาและนครศรีธรรมราชเป็นตัวอย่างในการทดสอบคุณภาพ เกิดการเจรจาซื้อขายกับผู้ประกอบการจากประเทศญี่ปุ่น จำนวน 5 ตัน และการร่วมมือกับสภาเกษตรกรแห่งชาติเพื่อจัดทำแผนการสร้างเครือข่ายระหว่างเกษตรกรผู้ปลูกและผู้ประกอบการที่ผลิตและแปรรูปโกโก้

นอกจากนี้ดีพร้อมยังมีแผนส่งเสริมด้านการตลาด 2 ส่วนหลัก คือ 1.ส่งเสริมและผลักดันแบรนด์ที่มีชื่อเสียงให้ออกสู่ระดับสากล เช่น ภาคเหนือ แบรนด์ CocoaValley, แบรนด์ กานเวลา ภาคตะวันออก แบรนด์ Bean to Bar ภาคใต้ แบรนด์ SP Coffee & SP CoCoa,PARADAi Crafted Chocolate & Cafe

และ 2.พัฒนา Superfood จากโกโก้โดยการเชื่อมโยงกับหน่วยงานเอกชนที่มีศักยภาพในการพัฒนาอาหารแห่งอนาคต (future food) เพื่อให้มีสารอาหารเฉพาะเจาะจง เหมาะสมกับโรค สภาพร่างกายและการรักษา เพื่อรองรับโครงสร้างประชากรผู้สูงอายุที่กำลังเพิ่มมากขึ้น (Aging Society)

วาริช ถนอมเกียรติ

ตบท้ายข้อมูลจากเจ้าของแบรนด์ภราดัย วาริช ถนอมเกียรติ หนึ่งในผู้ก่อตั้งคราฟต์ช็อกโกแลตไทย แบรนด์ ภราดัย (PARADAi) ระบุว่า คาดว่าปีนี้จะสามารถสร้างรายได้ถึง 20 ล้านบาท จากปีที่ผ่านมามีรายได้ 13 ล้านบาท ยอดขายมาจากคนไทย 50% และต่างชาติ 50% ขณะที่รายได้ส่งออกยังไม่มาก ปีนี้จะเน้นขยายตลาดในต่างประเทศมากขึ้น

“ภราดัยเริ่มเป็นที่รู้จักจากการประกวดระดับโลกตั้งแต่ปี 2018 เวที International Chocolate Awards และคว้าเหรียญทองมาได้ หลังจากนั้นก็คว้าเหรียญทองจากหลายเวทีถึงปัจจุบันปี 2023”

วาริชยังระบุถึงความต้องการให้รัฐบาลสนับสนุนว่า PARADAi Crafted Chocolate & Cafe ต้องการให้ช่วย 3 เรื่อง คือ 1.ขยายตลาดในแบบ Modern Trade อาทิ Lotus / Gourmet Market / Central 2.ศึกษาดูงานต่างประเทศ ในด้านการพัฒนากระบวนการผลิตและเครื่องจักรสำหรับผลิตโก้โก้ และ 3.การให้บริการเครื่องจักรสำหรับเครื่องสกัดน้ำมันโกโก้จากหน่วยงานภาครัฐ

คืบหน้าไปมากกับย่างก้าว “ไทยโกโก้ฮับ” ส่วนจะสำเร็จตามเป้าหมายของรัฐมนตรีพิมพ์ภัทราหรือไม่ ต้องติดตาม!!

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image