เก็งผล กนง.10เม.ย. โอกาส‘คง-ลด’ เอฟเฟ็กต์เศรษฐกิจไทย

เก็งผล กนง.10เม.ย. โอกาส‘คง-ลด’ เอฟเฟ็กต์เศรษฐกิจไทย

ถึงเวลาลุ้นกันอีกครั้ง เมื่อตารางการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 10 เมษายนนี้ จะมีการพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งที่ 2 ของปี 2567

หลังจากการประชุมครั้งที่ 1 ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ กนง.มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% ต่อปี โดยให้เหตุผลว่าเหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน

เมื่อเศรษฐกิจไทยผ่านช่วง 3 เดือนแรกของปี 2567 ดูท่าจะไม่สดใสอย่างที่คิด เพราะรอยต่อจากไตรมาส 4/2566 การขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) อยู่ที่ 1.7% สาเหตุหลักเกิดจากการเบิกจ่ายของภาครัฐบาลติดลบถึง 20% เพราะรัฐบาลไม่ได้ใช้จ่ายงบประมาณเป็นปกติตั้งแต่เดือนเมษายน 2566 จนถึงปัจจุบันก็ครบ 1 ปีพอดี

ภาพรวมไตรมาส 1/2567 จึงเหลือเพียงภาคการท่องเที่ยวที่แบกจนหลังแอ่น และการบริโภคภาคเอกชนที่พยายามทรงตัวไม่ให้หัวกราฟปักลง อีกทั้งภาคการส่งออกก็สปีด ไม่ให้ตัวเลขกลับมาติดลบ แม้ตัวขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจหลักจะยังทำงานอย่างหนัก แต่ยังมีกำลังไม่แรงพอจะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวชัดเจน

Advertisement

อย่างไรก็ตาม แม้รัฐสภาได้เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ไปแล้ว แต่การเบิกจ่ายงบก็มีกระบวนการหลายขั้นตอนและไม่ได้รวดเร็วอย่างที่คิด โดยเอกชนคาดว่ารัฐบาลจะเบิกจ่ายงบได้จริงและมีเม็ดเงินออกสู่ระบบเศรษฐกิจได้ช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2567

ขณะเดียวกัน อัตราดอกเบี้ยไทยอยู่ในระดับสูง ส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกคน เพราะเป็นนโยบายทางการเงินที่ผู้ให้บริการทั้งธนาคารพาณิชย์ และผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) ต้องส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยนโยบายด้วยการปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เช่นกัน

สะท้อนข้อมูลจาก ธปท.รายงานตัวเลขสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้กำกับของธนาคารพาณิชย์ และผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) โดยเดือนมกราคม 2567 ยอดสินเชื่อคงค้างรวม 847,941 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.83% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ยอดสินเชื่อคงค้างรวมอยู่ที่ 751,503 ล้านบาท

Advertisement

การประชุม กนง.รอบนี้ จึงถือเป็นความหวังของทั้งภาครัฐบาล เอกชน และประชาชน เพราะระหว่างรอมาตรการทางการคลัง อาจมีมาตรการทางการเงินเข้ามาสนับสนุนเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่ง

⦁เอกชนฟันธง กนง.คงดอก 2.50%
ฉายภาพจากเอกชนโดย ธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สะท้อนว่าจุดแรกที่จะเห็นว่า กนง.จะใช้นโยบายดอกเบี้ยเพื่อควบคุมสถานการณ์เงินเฟ้อ และนี่คือเป้าหมายหลักของ กนง.ที่ผ่านมาในอดีต กนง.เคยใช้เป้าหมายเงินเฟ้อพื้นฐานที่ระดับ 0.5-3% เป็นตัวพิจารณาเรื่องอัตราดอกเบี้ยในการคุมเป้าหมายเงินเฟ้อพื้นฐาน โดยตัดราคาพลังงานและราคาอาหารออกแต่ปัจจุบัน กนง.ใช้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่พยายามคุมไว้ในกรอบเป้าหมาย 1-3%

แม้ขณะนี้หลายฝ่ายมีความรู้สึกว่า กนง.น่าจะลดอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากสถานการณ์อัตราเงินเฟ้อติดลบ 5 เดือนติดต่อกัน และในเดือนมีนาคม ตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปติดลบที่ 0.47% เพราะรัฐบาลได้ตรึงราคาไฟฟ้าและราคาพลังงาน ส่งผลให้ตัวเงินเฟ้อติดลบ หรือเรียกว่าเงินฝืดทางเทคนิคจริงๆ พิจารณาจากสัญญาณนี้อาจทำให้ กนง.ลดดอกเบี้ยลงได้

ประเด็นต่อมาหากมาดูเงินเฟ้อพื้นฐาน โดยเฉลี่ย 2 เดือนแรกของปี 2567 เคลื่อนไหวที่ 0.47% โดยเดือนมีนาคมลดลงอีกอยู่ที่0.37% ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่เฉลี่ยต่ำกว่า 0.5% ก็มีเหตุผลที่ทำให้ กนง.จะลดอัตราดอกเบี้ยลงได้

อย่างไรก็ตาม การประชุมของ กนง.ในระยะหลังได้ให้ความเห็นไว้ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่อยู่ในเป้าหมายของ กนง. ณ ปัจจุบันนี้ ถ้าเอาราคาพลังงานที่รัฐบาลได้ใช้มาตรการช่วยเหลือประชาชนออกไป ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับ 1% และ กนง.ไม่ได้มีท่าทีห่วงใยเรื่องอัตราเงินเฟ้อหลุดกรอบเป้าหมาย

ดังนั้น ถ้าดูแล้วสถานการณ์ของโลกในตอนนี้ยังไม่มีประเทศไหนทำการลดดอกเบี้ยอย่างชัดเจนยกเว้นจีนที่มีปัญหาเรื่องอสังหาริมทรัพย์ แต่ประเทศอื่นยังไม่มีการลดดอกเบี้ยลงเลย จะมีประเทศไต้หวันที่ตัดสินใจเพิ่มดอกเบี้ย เพื่อให้ดอกเบี้ยใกล้เคียงกับดอกเบี้ยประเทศอื่นๆ

ธนวรรธน์ระบุอีกว่า อัตราดอกเบี้ยจะเป็นตัวเปรียบเทียบว่า ถ้าดอกเบี้ยไทยต่ำกว่าประเทศอื่นค่าเงินก็จะอ่อนลง ซึ่งตอนนี้ค่าเงินบาทอยู่ที่ 36.6 บาทต่อเหรียญสหรัฐ มีแนวโน้มอ่อนลงไปเรื่อยๆ ขณะเดียวกัน จะเห็นบางประเทศ เช่น อินโดนีเซีย ธนาคารกลางเริ่มเข้าแทรกแซงเพราะค่าเงินอ่อนลงต่อเนื่อง

“หากดูจากเหตุผลต่างๆ เชื่อว่า ธปท.น่าจะตรึงอัตราดอกเบี้ยในการประชุม กนง.รอบเดือนเมษายนนี้ เพราะ 1.เงินเฟ้อทั่วไปที่หักสถานการณ์การตรึงราคาน้ำมันกับการตรึงราคาไฟฟ้าของรัฐบาลน่าจะยังปลอดภัย ทำให้เงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในกรอบ 1-3% 2.ยังไม่มีเหตุผลในการลดอัตราดอกเบี้ยนำประเทศอื่น เพราะประเทศอื่นยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ โดยเฉพาะสหรัฐ และประเทศในฝั่งยุโรป การลดดอกเบี้ยยังไม่มีสัญญาณที่หลายประเทศใช้” ธนวรรธน์ระบุ

⦁ชี้ดอกเบี้ยไทยต่ำสุดในอาเซียน
ธนวรรธน์กล่าวอีกว่า ธปท.น่าจะตรึงดอกเบี้ย เพราะถ้าลดอัตราดอกเบี้ยอาจทำให้ค่าเงินบาทอ่อนมากเกินไป และทำให้เกิดผลกระทบทั้งราคาน้ำมันแพง การนำเข้าวัตถุดิบที่แพงเกินไปส่งผลให้ตลาดเสียสมดุล ทั้งนี้ คาดว่า ธปท.ลดอัตราดอกเบี้ยได้ในช่วงครึ่งหลังปี 2567 ในช่วงที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ลดอัตราดอกเบี้ยลงแล้ว

“ทั้งปี 2567 มองว่า กนง.จะลดอัตราดอกเบี้ย 1 ครั้ง ที่อัตรา 0.25% ลดลงสู่ระดับ 2.25% เป็นการลดลง เพื่อดูสัญญาณและเพื่อทำให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น และทำให้มีแรงจูงใจว่าราคาสินค้าที่แพงขึ้นทำให้ธุรกิจมีแรงจูงใจในการผลิตสินค้า ขณะเดียวกัน บอกว่าเงินเฟ้ออาจอยู่ในกรอบที่ประมาณ 0.7-1.3% หมายความว่าเงินเฟ้อยังถือว่าต่ำ การลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ในเมื่อประเทศอื่นลดดอกเบี้ยแล้วเชื่อว่า กนง.ทำได้” ธนวรรธน์กล่าว

ธนวรรธน์กล่าวเสริมว่า การลดดอกเบี้ยอาจจะเกิดขึ้น ถ้าเศรษฐกิจค่อยๆ ฟื้นอาจจะเกิดการลดดอกเบี้ย 1 ครั้ง เพื่อทำให้อัตราดอกเบี้ยไทยสอดคล้องกับทิศทางดอกเบี้ยโลกที่ปรับตัวลดลง ขณะเดียวกัน อัตราดอกเบี้ยไทยถือว่าต่ำสุด หากเทียบในแถบภูมิภาคเดียวกัน จึงจะยังไม่เห็นการลดอัตราดอกเบี้ยในระดับที่สูงเกินไป แต่การลดดอกเบี้ยเพื่อเสริมการกระตุ้นเศรษฐกิจ และทำให้เงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในภาพ 1-3% จะเป็นภาพที่ดูดีของเศรษฐกิจไทย

ทั้งนี้ ควรต้องติดตามดูเป็นระยะว่า 1.เศรษฐกิจไทยจะฟื้นต่อเนื่องหรือไม่ 2.อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นหรือยังหลังจากรัฐบาลออกงบประมาณราชการแผ่นดินปี 2567 ที่จะลงในราชกิจจานุเบกษาในเดือนเมษายน 2567 เศรษฐกิจไทยที่ผ่านมาซึมตัวลงเพราะงบประมาณแผ่นดินไม่ได้ถูกขับเคลื่อนเป็นปกติมา 1 ปี 3.สัญญาณการลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางโลก ดังนั้นไตรมาส 2/2567 จะเป็นสัญญาณที่สะท้อนว่าตัวอัตราเงินเฟ้อจะขยับขึ้นหรือไม่

⦁แบงก์หวั่น กนง.เขื่อนแตกหั่นดอก 2 ครั้งติด
ขณะเดียวกัน อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ระบุว่า หลังจากพิจารณาตัวเลขเศรษฐกิจไทยรายเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ที่รายงานจาก ธปท.แล้วค่อนข้างเชื่อว่า กนง.คงอยากลดอัตราดอกเบี้ยในวันที่ 10 เมษายน มี 3 ปัจจัยสนับสนุน คือ

1. ปัจจัยระยะสั้น โดยพิจารณาภาพรวมเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/2567 และอาจโยงไปไตรมาส 2/2567 น่าจะสะท้อนตัวเลขอ่อนแอลง

หลังจากมองว่าไตรมาส 1/2566 เศรษฐกิจอาจโตไม่ถึง 1% เทียบกับปีที่ผ่านมา แม้เศรษฐกิจจะขยายตัวไตรมาสต่อไตรมาสจากรายได้การท่องเที่ยวที่เป็นเครื่องยนต์เดียวที่ติดอยู่ช่วยสนับสนุน แต่การบริโภคภาคเอกชนอ่อนแอมาก การผลิตก็ย่ำแย่ ภาครัฐบาลก็ขาดงบประมาณมาใช้จ่าย แม้จะมีงบประมาณในเดือนเมษายนนี้ และเร็วกว่าที่เคยคาดว่าจะมาในเดือนพฤษภาคม 2567

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ารัฐบาลจะยังไม่ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือมาตรการลดค่าครองชีพแบบวงกว้าง และอาจรอไปรวมงบประมาณปี 2568 เพื่อออกมาตรการดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาทในช่วงปลายปี 2568 ซึ่งช่วงครึ่งแรกของปี 2568 จะยังน่าห่วง การลดดอกเบี้ยก็เพื่อประคองเศรษฐกิจไม่ให้ทรุด แต่ไม่ใช่การเร่ง อีกทั้งผลการลดดอกเบี้ยจะเห็นจริงก็อีก 6 เดือน กว่าดอกเบี้ยจะลง คนกู้มาใช้จ่าย เกิดการจ้างงาน การผลิต การบริโภค เงินหมุนเวียน

2.ปัจจัยระยะยาว ทุกฝ่ายอาจต้องทบทวนศักยภาพ การเติบโตของเศรษฐกิจไทยใหม่ พบว่ามีแนวโน้มจะโตต่ำลงไปเรื่อยๆ ทั้งปัญหาเชิงโครงสร้างจากการขาดการลงทุน ขาดแรงงาน สังคมสูงวัยซึ่งอัตราดอกเบี้ยนโยบายน่าจะปรับสมดุลใหม่ให้เข้ากับบริบทเศรษฐกิจไทยที่โตได้ต่ำลง

3.ปัจจัยพิเศษ โดยค่าเงินบาทอาจมีมูลค่ามากเกินไป (โอเวอร์เรต) จากการส่งออกที่ไม่รวมทองคำเดือนล่าสุดแทบไม่โต การส่งออกเสี่ยงขยายตัวต่ำ การลงทุนขาดแรงจูงใจ สินค้าไทยขาดความสามารถในการแข่งขัน

“น่าจะเห็นการสื่อสารของ ธปท.มากขึ้น และไม่ใช่เพื่อตอบสนองภาครัฐบาล แต่เพื่อปรับเปลี่ยนกับสถานการณ์ปัจจุบัน ห่วงเรื่องน้ำทะลักเขื่อน หากการสื่อสารไม่ชัดเจน หรือมีนักลงทุนอยากเก็งกำไรหรือตลาดไล่ต้อนแบงก์ชาติให้ลดอัตราดอกเบี้ยต่อ รวมทั้งอยากเห็นบาทอ่อนแรง เราอาจกำลังเห็นการเปิดประตูเขื่อนของพฤติกรรมเหล่านี้ในวันที่ 10 เมษายน ถ้าลดดอกเบี้ยครั้งเดียวไม่พอ น่าจะ 2 ครั้งติดกัน และอาจต้องลดอีกลากยาวในลำดับถัดไปหลังเฟดลดดอกเบี้ย ส่วนบาทอาจยืนที่ระดับ 37 บาทต่อเหรียญสหรัฐปลายปีนี้ แต่กังวลว่าหากบาทจะอ่อนขึ้นมา ตัวเลขที่ 40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐจะต้านไม่อยู่” นายอมรเทพระบุ

⦁ห่วงเอสเอ็มอีเข้าไม่ถึงเงินทุน
ด้านผู้ประกอบการอย่าง วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการ หอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการอาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต คาดหวังว่าการประชุม กนง.รอบนี้ จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจากปัจจุบันอยู่ที่ 2.50% ซึ่งอยู่ระดับสูง จากอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อประชาชน สะท้อนจากหนี้ครัวเรือนที่มีแนวโน้มสูงขึ้น

ในส่วนของผู้ประกอบการรายใหญ่ และรายย่อย (เอสเอ็มอี) ได้รับผลกระทบจากต้นทุนทางการเงินเรื่องของดอกเบี้ยเช่นเดียวกัน แต่ผู้ประกอบการรายย่อยจะได้รับผลกระทบหนักมากกว่า เพราะต้นทุนทางการเงินน้อยกว่า หากเทียบกับผู้ประกอบการรายใหญ่ ที่หารายได้จากการออกหุ้นกู้ เพื่อระดมทุนในการพัฒนาธุรกิจต่อไป

แต่กลุ่มรายย่อยจะมีแหล่งเงินทุนคือการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน เจออัตราดอกเบี้ยสูง แม้อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ที่ 2.50% แต่ดอกเบี้ยเงินกู้สถาบันการเงินจะอยู่ที่ราว 7-8% และจะปรับขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ขยับขึ้น ดังนั้น ต้นทุนการเงินสูงขึ้นจะทำให้รายย่อยเข้าถึงสินเชื่อยากขึ้น อีกทั้งสถาบันการเงินอาจระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อ เพราะเศรษฐกิจยังไม่กลับมาฟื้นได้ทั่วถึง หรืออาจมีแค่บางกลุ่มที่ได้รับสินเชื่อ เช่น ธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยว

ผู้ประกอบธุรกิจทุกกลุ่มที่เป็นรายย่อยน่าจะอยากเข้าถึงสินเชื่อกันทุกกลุ่ม เพราะการมีสภาพคล่องในธุรกิจย่อมดีกว่าการไม่มีเงินไว้ใช้จ่ายยามฉุกเฉิน เพียงแต่ติดปัญหาเรื่องการเข้าถึงวงเงินที่ผู้ประกอบการกังวลดอกเบี้ย ทำให้ชะลอการขอสินเชื่อไป สุดท้ายธุรกิจอาจหยุดชะงักได้ หากสายป่านมีไม่เพียงพอ

“การลดอัตราดอกเบี้ยถือเป็นการสนับสนุนเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่งแม้การประชุมในวันที่ 10 เมษายนนี้ จะคาดหวังว่า กนง.จะลดดอกเบี้ยลง 0.25% สู่ระดับ 2.25% เป็นอัตราที่ไม่สูงมากนัก แต่เป็นสัญญาณสะท้อนว่าถึงจุดที่ดอกเบี้ยไทยจะต้องลดแล้ว หลังจากขึ้นสู่ระดับสูงมาระยะหนึ่ง” วิศิษฐ์กล่าวย้ำ

⦁ทีทีบีพร้อมปรับดอก 2 ขาอุ้มลูกค้า
ด้านสถาบันการเงินพร้อมรับนโยบาย ธปท. โดย ศรัณย์ ภู่พัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าธุรกิจ ทีเอ็มบีธนชาต (ทีทีบี) ระบุว่า ธนาคารรอติดตามมติจาก กนง.ที่จะมีการประชุมในวันที่ 10 เมษายนนี้ คาดว่า กนง.ยังไม่ลดอัตราดอกเบี้ยลง เนื่องจาก ธปท.จะพิจารณาสถานการณ์การปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เป็นสำคัญ ถ้า ธปท.ลดดอกเบี้ยก่อนอาจส่งความกังวลต่ออัตราแลกเปลี่ยน ปัจจุบันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในฝั่งอ่อนค่าอาจจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ ธปท.มีความกังวล อีกทั้ง ธปท.จะเห็นข้อมูลเศรษฐกิจครบถ้วน แม้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยจะลดลงจริง แต่เป็นผลมาจากมาตรการเกี่ยวกับราคาพลังงานของภาครัฐบาล

รวมถึงปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยไม่ดีมากๆ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเบิกจ่ายภาครัฐบาล และการลงทุนจากฝั่งรัฐบาลที่ติดลบด้วยซ้ำ ขณะเดียวกัน ปี 2567 รัฐบาลมีงบประมาณปี 2567 ถ้าการเบิกจ่ายของรัฐบาลกลับมาเป็นบวก อาจจะสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวดีขึ้น ซึ่งอาจมีหลายปัจจัยเป็นเรื่องไม่ง่ายต่อการพิจารณาของ กนง.

“คาดการณ์ว่า กนง.จะลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ลงถึง 2 ครั้งช่วงครึ่งหลังปี 2567 จากระดับ 2.50% สู่ระดับ 2% สำหรับกลยุทธ์ในการปรับดอกเบี้ย หาก ธปท.ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลง ธนาคารจะปรับอัตราดอกเบี้ยทั้งดอกเบี้ยเงินฝากและดอกเบี้ยเงินกู้ให้สอดคล้อง และอ้างอิงกับนโยบายของ ธปท.” ศรัณย์ทิ้งท้าย

เกาะติด กนง.เอฟเฟ็กต์ 10 เมษายนนี้ อาการป่วยเศรษฐกิจไทยจะเป็นอย่างไร เดี๋ยวรู้กัน!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image