เฉลียงไอเดีย : ปตท.ปักธง Clean Growth พาส่องนวัตกรรม‘ไฮโดรเจน-เมทานอล’เยอรมนี

เฉลียงไอเดีย : ปตท.ปักธง Clean Growth
พาส่องนวัตกรรม‘ไฮโดรเจน-เมทานอล’เยอรมนี

บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ดำเนินธุรกิจภายใต้วิสัยทัศน์ Powering Life with Future Energy and Beyond

โดยวิสัยทัศน์ “Powering Life with Future Energy and Beyond ขับเคลื่อนทุกชีวิต ด้วยพลังแห่งอนาคต” มีขึ้นเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานและเพื่อสนับสนุนแผนการดำเนินงานให้เติบโตไปสู่ธุรกิจพลังงานอนาคตและธุรกิจใหม่ที่ไปไกลกว่าพลังงาน

ปตท.ยังประกาศเจตนารมณ์มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจเพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ภายในปี 2583 (ค.ศ.2040) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2593 (ค.ศ.2050)

Advertisement

ด้วยการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนโดยมุ่งธุรกิจใหม่คือ ธุรกิจพลังงานสะอาด หรือธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต (Future Energy) ได้แก่ พลังงานหมุนเวียน ระบบกักเก็บพลังงาน ห่วงโซ่อุปทานยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงไฮโดรเจน รวมทั้งธุรกิจที่สนับสนุนการขับเคลื่อนชีวิตของผู้คนนอกเหนือธุรกิจพลังงาน (Beyond)

เป้าหมายการดำเนินงาน 3 ด้าน คือ 1.Business Growth ปรับพอร์ตการลงทุนธุรกิจพลังงาน โดยมุ่งเน้นไปที่ธุรกิจคาร์บอนต่ำ 2.New Growth ธุรกิจพลังงานใหม่และธุรกิจอื่นๆ นอกเหนือจากพลังงาน ต้องสร้างกำไรในปี 2573 มากกว่า 30% พร้อมลงทุนและเพิ่มสัดส่วนกำไรจากธุรกิจที่เป็น Future Energy และที่ไกลกว่าพลังงานกลุ่ม Beyond และ 3.Clean Growth ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเทียบจากปี 2563 (ค.ศ.2020) ลง 15% ภายในปี 2573 (ค.ศ.2030)

โดย Clean Growth ปตท. มีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 15% ในปี ค.ศ.2030 (พ.ศ.2573) เทียบกับปี ค.ศ.2020 (พ.ศ.2563) รวมถึงบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality ภายในปี ค.ศ.2040 (พ.ศ.2583) และบรรลุเป้าหมาย Net Zero Emissions ภายในปี ค.ศ.2050 (พ.ศ.2593)

Advertisement

สอดรับกับเทรนด์พลังงานในปัจจุบันและอนาคต ที่พลังงานฟอสซิลจะถูกแทนที่ด้วยพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) ที่มีอยู่ในธรรมชาติ และไม่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อสภาพแวดล้อม ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ พลังงานลม พลังงานชีวมวล และพลังงานไฮโดรเจน เป็นต้น เป็นพลังงานสะอาดที่ตอบโจทย์การลดก๊าซเรือนกระจกได้

ปัจจุบัน เทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) มีการพัฒนาและนำมาใช้เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน ได้แก่

1.พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Energy) เป็นพลังงานหมุนเวียนที่ใช้กันอย่างแพร่หลายมากที่สุด โดยใช้เทคโนโลยีการนำพลังงานแสงอาทิตย์มาเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้า ประเทศไทยมีศักยภาพพลังงานแสงอาทิตย์ค่อนข้างสูง เทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์มีการใช้งานอย่างแพร่หลาย และพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่ตลอดเพื่อให้ได้พลังงานไฟฟ้าสูงขึ้น (Higher Efficiency) และครอบคลุมการใช้งานที่หลากหลาย

2.พลังงานน้ำ (Hydropower) แปรรูปเป็นพลังงานไฟฟ้าในรูปแบบของเขื่อน เพื่อสะสมกำลังในการสร้างพลังงานศักย์ สู่กังหันน้ำ ดันใบพัดกังหันหมุนเพลาที่เชื่อมต่อกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เพื่อสร้างพลังงานไฟฟ้า ซึ่งพลังงานน้ำเป็นพลังงานทดแทนที่มีการใช้มาอย่างยาวในประเทศไทย

3.พลังงานลม (Wind Energy) ซึ่งนำการเคลื่อนที่ของอากาศที่เกิดจากความแตกต่างของอุณหภูมิ หรือแรงกดดันจากชั้นบรรยากาศ มาผลิตกระแสไฟฟ้าโดยใช้เทคโนโลยีของกังหันลม (Wind Turbine) ซึ่งเป็นเครื่องจักรที่มีลักษณะเป็นใบพัดรับแรงเคลื่อนที่ของลม และเปลี่ยนพลังงานจลน์ (Kinetic Energy) จากการเคลื่อนที่ของลมให้กลายเป็นพลังงานกล (Mechanical Energy) ในการหมุนเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Generator) เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้า

4.พลังงานไฮโดรเจน (Hydrogen) เนื่องก๊าซไฮโดรเจนไม่มีคาร์บอนเป็นองค์ประกอบ การใช้ไฮโดรเจนจึงไม่ปล่อยก๊าซ CO2 ฝุ่นละออง หรือมลพิษไอเสียอื่นๆ นอกจากนี้ ไฮโดรเจนยังมีค่าพลังงานความร้อนต่อน้ำหนักสูงกว่าน้ำมัน Gasoline ประมาณ 3 เท่า

โดยเฉพาะ ไฮโดรเจน ปัจจุบันได้รับความสนใจจากทั่วโลกอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีความต้องการการใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น และไฮโดรเจนก็ถูกเชื่อว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด หรือ Energy Transition เนื่องจากไฮโดรเจนมีความสะอาด ไม่มีสารประกอบคาร์บอนจึงไม่มีการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เมื่อถูกใช้งาน

ปัจจุบันไฮโดรเจนสามารถผลิตได้จากแหล่งวัตถุดิบหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็น ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ และจากพลังงานไฟฟ้า และในแต่ละการผลิตไฮโดรเจนก็จะปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณที่ต่างกันด้วย ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงได้มีการกำหนดสีของไฮโดรเจนเพื่อบ่งบอกถึงความสะอาดของไฮโดรเจน ดังนี้

ไฮโดรเจนสีน้ำตาล (Brown Hydrogen) เป็นไฮโดรเจนที่ใช้ถ่านหินเป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิตไฮโดรเจนผ่านกระบวนการ Gasification ซึ่งถือว่าเป็นกระบวนการที่มีการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุด, ไฮโดรเจนสีเทา (Grey Hydrogen) เป็นไฮโดรเจนที่ผลิตโดยใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นวัตถุดิบผ่านกระบวนการ Steam Methane Reforming (SMR)

ไฮโดรเจนสีฟ้า (Blue Hydrogen) ก็จะหมายถึงไฮโดรเจนที่ผลิตจากก๊าซธรรมชาติเช่นเดียวกันกับไฮโดรเจนสีเทา แต่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิต จะถูกกักเก็บด้วยเทคโนโลยี Carbon Capture and Storage หรือ CCS, ไฮโดรเจนสีชมพู (Pink Hydrogen) เป็นไฮโดรเจนที่ผลิตโดยใช้กระบวนการ Water Electrolysis ซึ่งเป็นการแยกไฮโดรเจนออกจากน้ำ และพลังงานไฟฟ้าที่ใช้มีต้นกำเนิดจะมาจากพลังงานนิวเคลียร์

สุดท้ายไฮโดรเจนสีเขียว (Green Hydrogen) หมายถึง ไฮโดรเจนที่ผลิตจากกระบวนการแยกไฮโดรเจนออกจากน้ำโดยพลังงานไฟฟ้าและพลังงานไฟฟ้านั้นต้องมาจากพลังงานหมุนเวียนเท่านั้น เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Energy) หรือพลังงานลม (Wind Energy)

ดังนั้น ไฮโดรเจนสีเขียวนับเป็นพลังงานที่มีความสะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวอยู่เพียง 5% ของปริมาณไฮโดรเจนที่ใช้งานกันทั่วโลก แต่ก็เป็นที่คาดหมายกันว่า ไฮโดรเจนสีเขียวนี้จะเข้ามามีบทบาทอย่างมากในด้านพลังงานหลังปี ค.ศ.2030 เป็นต้นไป และราคาของไฮโดรเจนสีเขียวก็จะอาจจะถูกกว่าไฮโดรเจนสีเทาในอนาคตอีกด้วย

เทคโนโลยีในการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวจะใช้กระบวนการที่เรียกว่า Water Electrolysis ซึ่งจะใช้พลังงานไฟฟ้าในการแยกไฮโดรเจนออกจากน้ำบริสุทธิ์ เทคโนโลยี Water Electrolysis ที่มีใช้งานกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน

มีอยู่ด้วยกัน 2 เทคโนโลยี ได้แก่ Alkaline Electrolysis (ALK) และ Proton Exchange Membrane Electrolysis (PEM) ซึ่งทั้งสองเทคโนโลยีนี้ ได้พัฒนาอย่างต่อเนื่องและนำมาใช้งานในการผลิตไฮโดรเจนใน Scale ที่ใหญ่ (>5 MW ขึ้นไป) และมีการใช้งานร่วมกับพลังงานหมุนเวียน

นอกจากเทคโนโลยีการผลิตไฮโดรเจนแบบ ALK และ PEM แล้ว ยังมีอีกหนึ่งเทคโนโลยีการผลิตไฮโดรเจนที่น่าจับตามองก็คือ เทคโนโลยีการผลิตแบบ Solid Oxide Electrolysis Cell (SOEC) ซึ่งเทคโนโลยีนี้เชื่อว่าจะมีประสิทธิภาพที่สูงกว่า ALK และ PEM อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยี SOEC นี้ก็ยังอยู่ในการวิจัยและพัฒนาในระดับ Pilot Scale และคาดว่าจะเข้าสู่ระดับ Commercial ได้ในอนาคต

สาเหตุหลักที่ทำให้ราคาของไฮโดรเจนสีเขียวมีแนวโน้มที่ลดลงในอนาคตมาจาก 2 ปัจจัยด้วยกัน กล่าวคือ ต้นทุนของเทคโนโลยีของ Water Electrolysis มีราคาต่ำลง (ลดลงกว่า 40-50% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2015-2019)) และอย่างที่สองก็คือ ราคาต้นทุนไฟฟ้าจาก Renewable Energy ที่มีแนวโน้มลดลง ทั้งนี้ ค่าเฉลี่ยราคาต้นทุนพลังงานไฟฟ้าที่ได้จากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลดลงกว่า 40-90% ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา (2010-2020) ราคาของไฮโดรเจนสีเขียวที่ผลิตได้ในปัจจุบันทั่วโลกจะอยู่ในช่วง $1.6-$10 ต่อกิโลกรัม ซึ่งราคาไฮโดรเจนสีเขียวก็จะขึ้นอยู่กับราคาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ผลิตในประเทศนั้นๆ และขนาดกำลังการผลิตของ Electrolyzer

ปตท.เล็งเห็นความสำคัญของการประยุกต์ใช้งานไฮโดรเจนในการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รวมถึงโอกาสในการสร้างธุรกิจไฮโดรเจน ปี 2019 ปตท.ได้จัดตั้ง Hydrogen Thailand Club ร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทยบริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เป็นต้น เพื่อเตรียมความพร้อมและผลักดันในเรื่องเทคโนโลยีไฮโดรเจนให้กับประเทศไทย

นอกจากนี้ ได้ร่วมมือกับพันธมิตรดำเนินโครงการศึกษาและทดสอบการใช้งานไฮโดรเจนในภาคขนส่ง (Fuel Cell Electrical Vehicle (FCEV) Demonstration Project) จัดตั้งสถานีเติมไฮโดรเจนแห่งแรกในประเทศไทยที่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี และทดสอบการใช้งานของรถ FCEV จำนวน 2 คัน ในช่วงปี 2023-2024 ซึ่งข้อมูลที่ได้รับจากโครงการจะเป็นประโยชน์สำหรับการวางแผนการใช้งานโฮโดรเจนในภาคขนส่งของประเทศต่อไป

ล่าสุด ปตท.นำคณะสื่อมวลชนสายพลังงานและอุตสาหกรรม ศึกษาดูงานนวัตกรรมและธุรกิจใหม่ กลุ่ม ปตท. ณ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

“อรรถพล ฤกษ์พิบูล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันประเทศเยอรมนีมีการนำไฮโดรเจนมาใช้ในภาคการขนส่งเชิงพาณิชย์แล้ว โดยมีการติดตั้งหัวจ่ายไฮโดรเจนภายในสถานีบริการน้ำมัน แต่เบื้องต้นไฮโดรเจนไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนัก และแม้ราคาจำหน่ายไฮโดรเจนได้รับการอุดหนุนบางส่วน แต่ยังมีราคาที่สูงเมื่อเปรียบเทียบราคาน้ำมันทั่วไป

รูปแบบสถานีเติมไฮโดรเจนในเยอรมนีคล้ายคลึงกับสถานีเติมไฮโดรเจนแห่งแรกของไทยที่บางละมุง เป็นการขนส่งไฮโดรเจนมากักเก็บที่สถานีบริการ เมื่อเติมไฮโดรเจนจะเปลี่ยนสถานะจากก๊าซมาเป็นของเหลว คาดว่าอีก 5-10 ปีข้างหน้าไฮโดรเจนจะขึ้นแท่นเป็นพลังงานแห่งอนาคต เมื่อเทคโนโลยีมีการพัฒนาล้ำหน้าจนทำให้ต้นทุนการผลิตถูกลง การใช้ไฮโดรเจนจะเป็นเชื้อเพลิงแพร่หลาย

นอกจากนี้ ปตท.นำคณะเยี่ยมชมบริษัท ธิสเซ่นครุปป์ (Thyssenkrupp) ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำของโลกที่ให้บริการด้านการวางแผน การก่อสร้าง และการให้บริการวิศวกรรมแก่โรงงานเคมีและปิโตรเคมีอย่างครบวงจร ซึ่งเป็นบริษัทที่ก่อตั้งมากว่า 200 ปี มีพนักงานกว่า 100,000 คน โดยมีบริษัทลูกตั้งอยู่หลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย และเป็นบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในดัชนี MDAX โดยในปี 2566 มียอดขายรวม 37,500 ล้านยูโร

ธิสเซ่นครุปป์ ดำเนิน 5 ธุรกิจหลัก ประกอบด้วย ด้านเทคโนโลยียานยนต์ (Automotive Technology), ด้านการบริการด้านวัสดุ (Materials Services), ด้านเทคโนโลยีลดคาร์บอน (Decarbon Technologies), ด้านระบบยุทธนาวี (Marine Systems) และด้านเหล็กยุโรป (Steel Europ) เป็นบริษัทที่ให้ความสำคัญด้าน R&D มีศูนย์วิจัยกว่า 75 แห่งทั่วโลกโดยได้พัฒนาเทคโนโลยีด้านการอนุรักษ์สภาพอากาศ การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน และการปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจสีเขียวอย่างยั่งยืน (Green Transformation) ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้า

“บูรณิน รัตนสมบัติ” ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปตท.ร่วมกับธิสเซ่นครุปป์ อูเด้ห์ (Thyssenkrupp Uhde) ศึกษาความเป็นไปได้ในการตั้งโรงงานผลิตเมทานอลจากคาร์บอนไดออกไซด์ในโรงแยกก๊าซธรรมชาติ เบื้องต้นมีขนาดกำลังผลิตราว 100,000 ตันต่อปี และสามารถขยายกำลังการผลิตได้ถึง 2 ล้านตันต่อปี ขณะที่ความต้องการใช้เมทานอลในไทยเฉลี่ยปีละ 700,000 ตัน

การจับมือกับธิสเซ่นครุปป์ อูเด้ห์เพื่อศึกษาความเป็นไปได้โครงการผลิตเมทานอล เนื่องจากอูเด้ห์มีชื่อเสียงในอุตสาหกรรมการผลิตเมทานอลมาอย่างยาวนาน โดยบริษัทเป็นเจ้าของเทคโนโลยีการผลิตก๊าซสังเคราะห์ และเทคโนโลยีการสังเคราะห์เมทานอล ซึ่งโรงงานเมทานอลแห่งแรกที่อูเด้ห์เป็นผู้สร้างเริ่มเดินเครื่องจักรเมื่อปี 2474

ปัจจุบันอูเด้ห์ยังเป็นผู้นำด้านกระบวนการผลิตที่ใช้แรงดันสูงและอุณหภูมิสูงมาอย่างยาวนานกว่า 95 ปี ประกอบกับประสบการณ์และความชำนาญด้านวิศวกรรม การจัดซื้อ และก่อสร้าง (EPC) ทำให้บริษัทสามารถให้บริการการก่อสร้างโรงงานเมทานอลในแบบ Turnkey ครบวงจรได้

รายละเอียดโครงการจะนำคาร์บอนไดออกไซด์ที่ได้จากโรงแยกก๊าซธรรมชาติมาใช้ประโยชน์และทำปฏิกิริยากับไฮโดรเจนออกเป็นเมทานอล (Green Methanol) ผลการศึกษาเบื้องต้นพบว่า มีความเป็นไปได้เชิงเทคโนโลยี แต่ในด้านความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ยังต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เนื่องจากต้นทุนการผลิตเมทานอลจากคาร์บอนไดออกไซด์พบว่าสูงกว่าเมทานอลจากก๊าซธรรมชาติ โดยมีผลตอบแทนการลงทุน (IRR) ต่ำกว่า 10%

ขณะที่การตัดสินใจลงทุนโครงการของ ปตท.จะต้องมี IRR เฉลี่ย 14-15% ทำให้ธิสเซ่นครุปป์ อูเด้ห์ต้องหาแนวทางในการลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายลงเพื่อให้โครงการนี้มี IRR ที่สูงขึ้น รวมทั้งยังต้องเปรียบเทียบต้นทุนการนำคาร์บอนไปกักเก็บในหลุมปิโตรเลียมที่ไม่ได้ใช้แล้ว (CSS) หรือการเสียภาษีคาร์บอนว่าแบบไหนมีความเหมาะสม คุ้มค่ากว่ากัน คาดว่าผลการศึกษาจะได้ข้อสรุปในปีนี้

สำหรับโครงการผลิตเมทานอลจากคาร์บอนไดออกไซด์ขนาดกำลังผลิต 100,000 ตันต่อปี คาดว่าใช้เงินลงทุนราว 80 ล้านยูโร หรือราว 3,200 ล้านบาท หาก ปตท.ตัดสินใจลงทุนก่อสร้างโรงงานดังกล่าวจะตั้งอยู่ที่นิคมมาบตาพุด จังหวัดระยอง เพื่อให้ใกล้โรงแยกก๊าซ ปัจจุบันไทยยังไม่มีโรงงานผลิตเมทานอล แต่นำเข้าจากตะวันออก

โดยเมทานอลเป็นสารสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมเคมี การก่อสร้างและอุตสาหกรรมการผลิตพลาสติก รวมทั้งผสมในน้ำมันเชื้อเพลิง รวมถึงน้ำมันอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel : SAF)

“หากภาครัฐมีการเก็บภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) ในอนาคต รวมถึงการแบนอุตสาหกรรมที่ปล่อยคาร์บอนสูง ย่อมทำให้ความน่าสนใจในการลงทุนโครงการนี้มีมากยิ่งขึ้นจนสามารถดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ ช่วยให้ประเทศไทยก้าวสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ใน ค.ศ.2065” บูรณินทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image