ปักธง14จว.คลัสเตอร์อากาศยาน บีโอไอใจป้ำให้สิทธิสูงสุด-แก้กฎเพิ่มสัดส่วนลงทุน

เปิดโผ 14 จังหวัด คมนาคมเสนอตั้งคลัสเตอร์อากาศยานและชิ้นส่วน หนุนนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ ดึงผู้ผลิตไทย-เทศลงทุน บีโอไอใจป้ำเพิ่มสิทธิประโยชน์เทียบเท่าซูเปอร์คลัสเตอร์ เว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี ลดหย่อนได้อีก 50% ใน 5 ปี

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การประชุมคณะอนุกรรมการเร่งรัดนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษคลัสเตอร์อากาศยานและชิ้นส่วน ตามนโยบายของรัฐบาลเมื่อวันที่ 9 ก.พ.ที่ผ่านมา สำหรับในส่วนของกระทรวงคมนาคมจะรับผิดชอบได้การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาคลัสเตอร์ โดยได้เสนอจังหวัดที่สามารถจัดตั้งอุตสาหกรรมอากาศยาน ซึ่งเป็นผลการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และจากข้อเสนอของ GISTDA

มีทั้งหมด 14 จังหวัดโดยพิจารณาตามศักยภาพของพื้นที่นั้น ๆ ได้แก่ 1.กรุงเทพมหานคร มีสนามบินนานาชาติที่สำคัญ 2.สมุทรปราการ มีสนามบินนานาชาติที่สำคัญและมีนิคมอุตสาหกรรมจำนวนมาก 3.นครปฐม มีศูนย์ซ่อมอากาศยานของ TAI หรือบริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด 4.ปทุมธานี อยู่ใกล้สนามบินและมีนิคมอุตสาหกรรมจำนวนมาก 5.ฉะเชิงเทรา อยู่ใกล้สนามบินและมีนิคมอุตสาหกรรมจำนวนมาก 6.ชลบุรี มีสนามบินที่มีพื้นที่เพียงพอต่อการจัดตั้งศูนย์ซ่อมอากาศยานและมีนิคมจำนวนมาก

7.ระยอง อยู่ใกล้สนามบิน มีพื้นที่เพียงพอต่อการจัดตั้งศูนย์ซ่อมอากาศยานและมีนิคมอุตสาหกรรมจำนวนมาก 8.เชียงราย มีสนามบินและมีพื้นที่เพียงพอต่อการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมซ่อมอากาศยาน 9.พิษณุโลก มีสนามบินและมีพื้นที่เพียงพอต่อการจัดตั้งศูนย์ซ่อมอากาศยาน 10.นครสวรรค์ มีศูนย์ซ่อมอากาศยานของ TAI 11.ลพบุรี มีผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำหรับอากาศยาน 12.นครราชสีมา มีสนามบินและมีพื้นที่เพียงพอต่อการตั้งศูนย์ซ่อมอากาศยาน 13.สุราษฎร์ธานี มีสนามบินและมีพื้นที่เพียงพอต่อการตั้งศูนย์ซ่อมอากาศยาน และ 14.สงขลา มีสนามบินและมีพื้นที่เพียงพอต่อการตั้งศูนย์ซ่อมอากาศยาน

Advertisement

“โอกาสการลงทุนในอุตสาหกรรมอากาศยาน ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมจะจัดหาชิ้นส่วนที่มีต้นทุนต่ำลง ป้อนให้โรงงานผลิตและซ่อมบำรุง สามารถแข่งขันกับประเทศใกล้เคียงได้ เช่น สิงคโปร์ที่มีข้อจำกัดด้านพื้นที่รองรับการขยายการลงทุน ขณะนี้มี 24 บริษัทที่ได้รับการส่งเสริมผลิตชิ้นส่วนอากาศยานและมี 12 บริษัทได้รับการส่งเสริมซ่อมแซมอากาศยานและชิ้นส่วนในประเทศไทย ที่เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ เช่น แอร์บัส โบอิ้ง เป็นต้น”

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า สำหรับสิทธิประโยชน์ถ้ามีการตั้งพื้นที่คลัสเตอร์ที่กำหนด จะได้รับสิทธิประโยชน์เทียบเท่ากับซูเปอร์คลัสเตอร์ คือ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี และลดหย่อน 50% อีก 5 ปี แต่มีเงื่อนไขต้องมีความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย (Center of Excellence) ที่อยู่ในคลัสเตอร์ เพื่อพัฒนาบุคลากรและเทคโนโลยี และต้องยื่นขอรับการส่งเสริมภายในปี 2559 และต้องมีรายได้ครั้งแรกภายในปี 2560 เพื่อเร่งรัดให้เกิดการลงทุนโดยเร็ว แต่ในกรณีที่มีความจำเป็น เช่น เป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) พิจารณาผ่อนปรนตามความเหมาะสมได้


ขณะเดียวกันกิจการเกี่ยวกับอากาศยานและอวกาศที่ได้รับประโยชน์เพิ่มเติมในคลัสเตอร์ดังกล่าวเช่นกิจการผลิตAdvanced และ Nano materials, กิจการผลิตสิ่งทอหรือชิ้นส่วน, กิจการผลิตอากาศยานหรือชิ้นส่วนหลัก, กิจการผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคม เป็นต้น

Advertisement

นอกจากนี้จะต้องมีการปรับปรุงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นมาตรการสนับสนุนคลัสเตอร์อากาศยานและอวกาศ อาทิ แก้ไข พ.ร.บ.การเดินอากาศฉบับที่ 11 ปี 2551 โดยยกเลิกเงื่อนไขที่กำหนดให้ต้องมีทุนจดทะเบียนเป็นของบุคคลผู้มีสัญชาติไทยไม่น้อยกว่า 51% และอำนาจการบริหารกิจการต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของผู้ที่มีสัญชาติไทยสำหรับผู้ที่ขอใบอนุญาตผลิตอากาศยานและส่วนประกอบที่สำคัญของอากาศยานรวมทั้งจัดทำแผนพัฒนาอุตสาหกรรมอากาศยานและอวกาศให้เสร็จ

ติดตามข่าวสารผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊คประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image