‘แบงก์รัฐ-เอกชน’ รับลูก ‘เศรษฐา’ พาเหรดลดดอกเบี้ย MRR 0.25%

หลังจากถกถามกันมาระยะหนึ่งว่าอัตราดอกเบี้ยไทยจะลดลงกี่โมง หลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2567 คงอัตราดอกเบี้ยที่ 2.50% ต่อปี

การยืนระดับดอกเบี้ยสูงดังกล่าว ส่งผล กระทบต่อภาระทางการเงินของประชาชนถ้วนทั่ว

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังเดินหน้าแก้ปัญหาอย่างเต็มกำลัง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน โดย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เชิญผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ จำนวน 4 แห่ง อาทิ นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหารธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) น.ส.ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารกสิกรไทย (KBANK) นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) และ นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ของธนาคารกรุงเทพ (BBL) มาพูดคุยหารือเรื่องปัญหาเศรษฐกิจทั่วไป

นอกจากนี้ แสดงความกังวลเกี่ยวกับเรื่องดอกเบี้ยที่ทรงตัวระดับสูง สร้างภาระทางการเงินให้กับประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ขณะที่ธุรกิจสถาบันการเงินมีผลประกอบการที่สะท้อนความแข็งแกร่ง จึงได้ขอร้องให้แบงก์ใหญ่ทั้ง 4 แห่ง พิจารณาดูแลเรื่องดอกเบี้ย ซึ่งผู้บริหารทุกท่านได้รับปากจะไปพิจารณาเรื่องดังกล่าว

Advertisement

การเจรจามีแนวโน้มไปในทิศทางบวก เมื่อวันที่ 25 เมษายน สมาคมธนาคารไทย ได้ออกประกาศผลสรุปจากที่ประชุมวันที่ 24 เมษายน ระบุว่าคณะกรรมการสมาคมธนาคารไทย ตระหนักและเห็นถึงความจำเป็นในการออกมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมสำหรับลูกค้ากลุ่มเปราะบางระหว่างที่เศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่เต็มที่และไม่ทั่วถึง

ด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) 0.25% สำหรับลูกค้ากลุ่มเปราะบาง ทั้งลูกค้าบุคคล และผู้ประกอบการรายย่อย (เอสเอ็มอี) เป็นเวลา 6 เดือน เพื่อลดภาระดอกเบี้ย และมีโอกาสฟื้นตัวปรับตัว ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยอาจถูกปรับเปลี่ยนไปตามการดำเนินธุรกิจของแต่ละธนาคาร

ซึ่งธนาคารพาณิชย์ที่ตอบรับรายแรกคือ “ธนาคารกรุงเทพ” ออกประกาศระบุว่า ธนาคารตอบสนองต่อมาตรการของภาครัฐบาล และตระหนักถึงความสำคัญในการสนับสนุนช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของลูกค้าเพื่อลดภาระทางการเงิน

Advertisement

ด้วยการประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ลง 0.25% มีผลตั้งแต่วันที่ 29 เมษายน 2567 เป็นระยะเวลา 6 เดือน

พร้อมระบุได้ให้ความช่วยเหลือลูกค้า ครอบคลุมทั้งลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ ผู้ประกอบการรายย่อย (เอสเอ็มอี) และลูกค้ารายย่อย รวมถึงกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ลูกค้าได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ

ดังนั้น การปรับลด MRR 0.25% จึงเป็นการเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของธนาคารที่จะช่วยเหลือลูกค้าผู้ประกอบการในระหว่างที่เศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ อีกทั้งยังเป็นการช่วยกระตุ้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยภาพรวมในช่วงที่มีความเปราะบางทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ

นอกจากนี้ ธนาคารยังมีโครงการช่วยเหลือลูกค้า ผู้ประกอบการรายย่อย (เอสเอ็มอี) ด้วยการให้สินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษภายใต้โครงการสินเชื่อบัวหลวงเพื่อการปรับตัวธุรกิจ (Bualuang Transformation Loan) วงเงินโครงการ 20,000 ล้านบาท โดยพิจารณาให้วงเงินสินเชื่อสูงสุด 10 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยพิเศษคงที่ 5% ต่อปี เป็นระยะเวลา 5 ปี

สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจ ทั้งลูกค้าปัจจุบันหรือลูกค้าใหม่ สามารถติดต่อสมัคร สินเชื่อบัวหลวงเพื่อการปรับตัวธุรกิจ ได้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567-31 มกราคม 2568 (หรือเมื่อมีลูกค้าใช้สินเชื่อเต็มวงเงินของโครงการ) เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อย (เอสเอ็มอี) ในการฟื้นฟูธุรกิจและปรับตัวเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้สามารถเติบโตอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ หากพิจารณาอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ โดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ย MRR ของทั้ง 10 ธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบัน อาทิ ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย (CIMBT) 8.85% ธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์ (LH BANK) 8.80% ธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) 8.20% ธนาคารทิสโก้ (TISCO) 8.15% ธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB) 7.83% ธนาคารกรุงไทย (KTB) 7.57% ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) 7.40%

โดยธนาคารที่อัตราดอกเบี้ยรายย่อยต่ำที่สุดคือ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) และธนาคารกรุงเทพ (BBL) โดยอัตราดอกเบี้ย MRR อยู่ที่ 7.30% หาก BBL ดำเนินการลดอัตราดอกเบี้ยลงที่ 0.25% จะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 7.05% มีผล 29 เมษายนนี้

อีกฟากฝั่งสถาบันการเงินของรัฐบาลก็ออกแอ๊กชั่นกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเช่นกัน โดย “วิทัย รัตนากร” ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ในฐานะประธานกรรมการสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ ระบุว่า ในการประชุมคณะกรรมการสมาคมฯ เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2567 ที่ประชุมมีมติลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงสำหรับลูกค้ารายย่อยทุกกลุ่มลง 0.25%

ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อย (MRR) อัตราดอกเบี้ยตามประกาศ (Prime Rate) และอัตรากำไรอ้างอิงสำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 เป็นระยะเวลา 6 เดือน เพื่อช่วยเหลือลูกค้ารายย่อยและกลุ่มเปราะบางตามนโยบายรัฐบาล ที่ให้ช่วยเหลือบรรเทาภาระของลูกค้ารายย่อย และกลุ่มเปราะบาง

เริ่มจาก “ธนาคารออมสิน” ประกาศลดดอกเบี้ย MRR ลง 0.25% เพื่อช่วยเหลือลูกค้ารายย่อยทุกกลุ่ม โดยคงเหลืออัตราดอกเบี้ย MRR (หลังปรับลด) อยู่ที่ 6.595% เช่นเดียวกับ “ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)” ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MRR ลง 0.25% เป็นระยะเวลา 6 เดือน ให้เกษตรกรลูกค้ากลุ่มเปราะบางและเอสเอ็มอีที่ประสบปัญหาในการผลิต โดยมีลูกค้าที่จะได้รับประโยชน์กว่า 1.2 ล้านบัญชี ซึ่งมีผลตั้งแต่ 1 พฤษภาคม-31 ตุลาคม 2567

ด้าน “รักษ์ วรกิจโภคาทร” กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิม แบงก์) ระบุว่า เอ็กซิม แบงก์ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ย Prime Rate 0.25% ต่อปี จาก 6.60% เหลือ 6.35% ต่อปี นับเป็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดีที่ต่ำที่สุดในระบบ เป็นเวลา 6 เดือน เพื่อเป็นการขานรับนโยบายของนายกรัฐมนตรี ในการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการกลุ่มเปราะบางและ SMEs มีผลตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2567 เป็นต้นไป

การปรับลดอัตราดอกเบี้ย Prime Rate ในครั้งนี้เป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.15% ต่อปี เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 เพื่อเป็นของขวัญแก่ผู้ประกอบการในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา เมื่อรวมกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ เอ็กซิม แบงก์ จึงได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยรวม 0.40% ต่อปี เพื่อช่วยลดภาระให้กับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง และเอสเอ็มอี

ขณะที่ “กมลภพ วีระพละ” กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า ธอส.ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MRR 0.25% ต่อปี จากเดิม 6.795% ต่อปี ลดลงเหลือ 6.545% ต่อปี เป็นระยะเวลา 6 เดือน เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับลูกค้ากว่า 1.8 ล้านบัญชี

นอกจากนี้ ธอส.ยังพร้อมสนับสนุนการออมภาคประชาชนด้วยการเพิ่มทางเลือกในการออมเงินที่ได้รับผลตอบแทนสูง จึงได้จัดทำผลิตภัณฑ์เงินฝากออมทรัพย์เก็บออม เพียงเปิดบัญชีเงินฝากขั้นต่ำ 500 บาทขึ้นไป และมีวงเงินฝากคงเหลือไม่เกิน 200,000 บาท จะได้รับอัตราดอกเบี้ยสูงถึง 1.95% ต่อปี ซึ่งดอกเบี้ยจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยธนาคารจะจ่ายดอกเบี้ยเงินฝากปีละ 2 ครั้ง

ขณะเดียวกัน “ประสิชฌ์ วีระศิลป์” รักษาการแทนกรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) กล่าวว่า ธนาคารปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ สำหรับ MRR 0.25% ต่อปี จากเดิม 8.05% ต่อปี ลดลงเหลือ 7.80% ต่อปี เป็นเวลา 6 เดือน เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป เพื่อช่วยลดภาระให้แก่ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง

รวมถึง “สิทธิกร ดิเรกสุนทร” กรรมการและผู้จัดการทั่วไปบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เผยว่า บสย.จะประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ย MRR ตามประกาศที่อัตรา 0.25% เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีรายย่อย และกลุ่มเปราะบางต่อเนื่อง มีผล 1 พฤษภาคมนี้

จากแอ๊กชั่นของแบงก์พาณิชย์-รัฐบาล ต่อคำขอร้องของ “นายกฯเศรษฐา” ช่วยให้ประชาชนเบาภาระได้อีก 6 เดือน!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image