แบงก์ชาติ ยันไม่ปรับจีดีพีปี‘67 หลังเศรษฐกิจ Q1/67 สะดุด จับตาส่งออก-ท่องเที่ยวแผ่ว

แบงก์ชาติ ยันไม่ปรับจีดีพีปี‘67 หลังเศรษฐกิจ Q1/67 สะดุด จับตาส่งออก-ท่องเที่ยวแผ่ว

เมื่อวันที่ 30 เมษายน ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นางปราณี สุทธศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. กล่าวรายงานภาวะเศรษฐกิจและการเงิน เดือนมีนาคม 2567 ว่า จากภาพเศรษฐกิจไตรมาส 1/2567 ที่ออกมาค่อนข้างต่ำ รวมถึงสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจลงที่ 2.4% ทำให้ ธปท. จะปรับลดการคาดการณ์จีดีพีจาก 2.6% ลงตามหรือไม่นั้น จากภาพเศรษฐกิจไตรมาส 1/2567 ที่ออกมาก็เป็นไปตามที่ ธปท. ประเมินเอาไว้และสอดคล้องกับตัวเลขจีดีพีที่ 2.6% ยังไม่ได้มีตัวเลขเศรษฐกิจใดเซอร์ไพรส์ทางด้านบวกหลายด้านลบที่ ธปท.ดูแลอยู่

“ถ้าขอมูลเศรษฐกิจไตรมาส 1/2567 ตัวเลขอยู่ประมาณนี้ ดังนั้น 2.6% ที่ประมาณการไว้ก็อยู่ในวิสัยที่ ธปท. ประเมินเอาไว้ อย่างไรก็ดี ต้องรอดูตัวเลขจริงของไตรมาส 1/2567 จะออกโดย สศช. วันที่ 20 พฤษภาคมนี้ แต่โดยรวมใกล้เคียงกับที่ ธปท.คาดไว้” นางปราณีกล่าว

Advertisement

นางปราณีกล่าวว่า เศรษฐกิจไทยชะลอลงในเดือนมีนาคม จากอุปสงค์ในประเทศและภาคท่องเที่ยวที่ลดลงหลังนักท่องเที่ยวเร่งเที่ยวไปช่วงก่อนหน้านี้ เนื่องจากมีเทศกาลตรุษจีน และรอมฎอน เมื่อเข้าเดือนมีนาคม มีนักท่องเที่ยวเข้าไทยจำนวน 3 ล้านคน เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหดตัว 6.9% จากจำนวน 3.4 ล้านคน ทำให้รายรับการท่องเที่ยวในรูปดอลลาร์สหรัฐลดลงจากเดือนก่อนเร่งไปที่ 9.3% ติดลบมาอยู่ที่ 10.1% ประกอบกับปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อผ่านมาตรการลดหย่อนภาษี Easy E-receipt หมดลง

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจโดยรวมในไตรมาสที่ 1/2567 ปรับดีขึ้นจากไตรมาสก่อน แต่เมื่อเทียบกับปีก่อน อัตราการขยายตัวยังอยู่ในระดับต่ำ โดยแรงขับเคลื่อนมาจากภาคการท่องเที่ยวที่ดีต่อเนื่อง จากนักท่องเที่ยวเข้าไทยมากขึ้น นับตั้งแต่ 1 มกราคม-21 เมษายน 2567 จำนวนนักท่องเที่ยวอยู่ที่ 11.3 ล้านคน ส่งผลให้ภาคบริการและการจ้างงานที่เกี่ยวเนื่องขยายตัว

นางปราณีกล่าวว่า ส่วนการลงทุนภาคเอกชนติดลบลดลงที่ 1.4% จากเดือนก่อนอยู่ที่ 1.5% ตามการทยอยลงทุนของธุรกิจใหม่ๆ ขณะที่การส่งออกสินค้าติดลบ 10.2% จากฐานสูงในปีก่อน หากเทียบรายเดือน การส่งออกที่ไม่รวมทองคำยังขยายตัวได้ โดยเป็นบวก 2.1% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และการผลิตภาคอุตสาหกรรมในภาพรวมทรงตัว โดยบางอุตสาหกรรมยังได้รับแรงกดดันจากการค้าโลกที่ฟื้นตัวช้าและปัจจัยเชิงโครงสร้าง

Advertisement

ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนลดลงจากการซื้อสินค้าคงทนแม้การบริโภคสินค้าไม่คงทนยังขยายตัวได้ดีจากไตรมาสก่อน ด้านการใช้จ่ายภาครัฐหดตัวจากรายจากลงทุนและรายจ่ายประจำ เป็นผลจาก พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 ที่ล่าช้า

“ระยะต่อไป ต้องติดตาม 1.ผลของการเบิกจ่ายงบประมาณและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ 2.การฟื้นตัวของการส่งออก 3.การฟื้นตัวของจำนวนและรายรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และ 4.ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์” นางปราณีกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image