‘มาม่า’สปีดรายได้ 3 หมื่นล้าน ทุ่มงบก้อนโต กวาดตลาดทั่วโลก

‘มาม่า’สปีดรายได้ 3 หมื่นล้าน
ทุ่มงบก้อนโต กวาดตลาดทั่วโลก

ยังไม่ถึงจุดอิ่มตัว แต่เส้นกราฟการเติบโตของ “ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” ในประเทศไทย มูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาท กำลังเข้าสู่โหมด “โตแบบค่อยเป็นค่อยไป” ไม่หวือหวา เห็นตัวเลขการขยายตัวระดับ 2 หลักอย่างในอดีต

ปัจจุบันตลาดบะหมี่ของไทย มี “มาม่า” ครองเบอร์หนึ่ง ด้วยส่วนแบ่งการตลาดกว่า 50% ทิ้งห่าง “ไวไว” และ “ยำยำ” อยู่หลายช่วงตัว

กว่าที่ “มาม่า” องค์กรที่ดำเนินธุรกิจมากว่า 50 ปี จะยืนหยัดเป็นผู้นำตลาดได้ เรียกว่าผ่านมาทุกสถานการณ์และทุกวิกฤต

Advertisement

สำหรับในปี 2567 ภายใต้สถานการณ์หลากปัจจัย “พันธ์ พะเนียงเวทย์” ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TFMAMA ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปตรา “มาม่า” ฉายภาพว่า ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปโดยรวมในปี 2567 น่าจะเติบโต 4-5% แม้ในช่วง 3 เดือนของปี ยอดขายต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ แต่ยังเพิ่มขึ้น 2-3% ไม่ติดลบ เนื่องจากตลาดส่งออกติดเรื่องการขนส่งสินค้าที่ล่าช้าเล็กน้อย

“ตลาดบะหมี่ฯในประเทศ ไม่ค่อยหวือหวามากนัก ขึ้นอยู่กับจังหวะกำลังซื้อและพฤติกรรมของผู้บริโภคมากกว่า เช่น ช่วงไหนที่มีเงิน จะกินอาหารอย่างอื่น แต่ถ้าวันไหนเงินเหลือน้อยก็จะซื้อบะหมี่ฯ ซึ่งช่วงใกล้สิ้นเดือนจะขายดีขึ้น” พันธ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม “ทายาทมาม่า” คาดหวังในช่วงไตรมาส 4 ปี 2567 การใช้จ่ายจะคึกคักมากขึ้น จากอานิสงส์ของโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ที่รัฐบาลผลักดันจะเริ่มการใช้จ่ายภายในไตรมาส 4 นี้ แต่มองว่าในช่วงแรกคงไม่ได้ทำให้มียอดขายแบบถล่มทลาย เพราะรัฐบาลให้เวลาใช้เงินถึง 6 เดือน ดังนั้นจะมีการใช้จ่ายต่อเนื่องจากไตรมาส 4 ของปีนี้ไปถึงไตรมาสแรกของปี 2568

Advertisement

ด้านสถานการณ์ต้นทุนล่าสุด “พันธ์” ระบุว่า เริ่มคลี่คลายลดลงมาในระดับหนึ่ง ไม่วิกฤตเหมือนช่วงต้นปี 2565 แม้สงครามรัสเซียกับยูเครน ยังคงยืดเยื้อ และมีสงครามอิสราเอลกับอิหร่านเข้ามาก็ตาม โดยปัจจุบันแป้งสาลีเริ่มนิ่ง มีบ้างที่น้ำมันปาล์มขยับขึ้น แต่ยังอยู่ในระดับที่ยังควบคุมได้

ขณะที่ตลาดในอิสราเอลนั้นก็ไม่กระทบ เนื่องจากยังเข้าไปทำตลาดไม่มาก ส่วนโรงงานที่มัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมาก็ยังปกติ เพราะอยู่ห่างไกลจากเมียวดี ดังนั้นเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นจึงยังไม่ส่งผลต่อการขายและต้นทุนวัตถุดิบแต่อย่างใด แต่ยังคงเกาะติดสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง

“ตอนนี้ตลาดเริ่มแข่งขันกันสูงขึ้น หลังไตรมาส 4 ที่ผ่านมา ต้นทุนวัตถุดิบเริ่มปรับตัวลดลง เพราะทุกคนนำเงินที่เหลือ มาทำกิจกรรมการตลาด เช่น จัดลดราคา ออกสินค้าใหม่ ซึ่งที่ผ่านมามาม่ามีออกรสชาติใหม่ทั้งสินค้า 7 บาท และสินค้าพรีเมียมมาม่าโอเค ล่าสุดเดือนพฤษภาคมได้ออกสินค้าใหม่ในส่วนของมาม่าโจ๊กคัพ รสมาม่าเป็ดพะโล้ รวมถึงขยายฐานไปเจาะคนรุ่นใหม่มากขึ้น เช่น มีการนำอิ้งค์-วรันธร มาเป็นพรีเซ็นเตอร์” พันธ์กล่าว

เมื่อถามว่าค่าแรง 400 บาทที่จะปรับขึ้นนั้น ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตมากน้อยขนาดไหน “พันธ์” แจกแจงส่งผลต่อการผลิตบะหมี่ฯน้อยมากประมาณ 1% ถือว่าไม่เป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การขอปรับขึ้นราคาต่อกรมการค้าภายใน ขณะเดียวกันในการปรับค่าแรงขึ้น ทางรัฐบาลมีการทยอยประกาศออกมา จึงทำให้ผู้ประกอบการยังมีเวลาปรับตัว และบริษัทก็มีการปรับขึ้นค่าแรงให้กับพนักงานในเดือนมกราคมของทุกปีอยู่แล้ว เฉลี่ยปีละ 5-6 บาท

“ค่าแรงขั้นต่ำที่จะปรับขึ้น มองว่าการขึ้นค่าแรงจะช่วยให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น กระทบกับบริษัทเพียงเล็กน้อย เพราะปัจจุบันค่าแรงเป็นต้นทุนทางตรงในการผลิตเพียง 10% หากปรับขึ้น 10-15% กระทบต้นทุนบริษัทแค่ 1% เราต้องเพิ่มสปีดการผลิต ลดการสูญเสีย เช่น ปัจจุบันเราผลิตบะหมี่แบบซองและถ้วยวันละ 7 ล้าน จะเพิ่มเป็นวันละ 8 ล้าน โดยที่คนไม่ได้เพิ่ม เท่ากับค่าแรงต่อการผลิตจึงไม่มีผล” พันธ์ย้ำ

พร้อมกล่าวว่า เรื่องใหม่ของมาม่าในช่วง 5-7 ปีนี้ จะลงทุนร่วม 1,000 ล้านบาท เพื่อทยอยซื้อเครื่องจักรเพิ่ม 5 เครื่อง จาก 27 เครื่อง เป็น 32 เครื่อง สำหรับติดตั้งในพื้นที่โรงงานเดิมที่ศรีราชากับระยอง ที่ยังสามารถดำเนินการได้ แทนการลงทุนซื้อที่ดินสร้างโรงงานใหม่ เพื่อขยายไลน์การผลิตเพิ่ม 18-20% รองรับการทำตลาดได้อีก 8 ปี ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่จะขยายไปยังจีน ยุโรป อเมริกา อินเดียและแอฟริกา เพื่อดันยอดขายให้เติบโตปีละ 4-5% ไปสู่เป้าหมายรายได้ 3 หมื่นล้านบาทในปี 2569-2570 และตั้งเป้ามียอดขายต่างประเทศเพิ่มเป็น 40-50% แต่ถ้ายอดขายโตเร็วกว่าที่คาด อาจจะนำเครื่องจักรมาติดตั้งเพิ่มไลน์เร็วขึ้น

จากแผนงาน “พันธ์” เผยวันนี้ได้เริ่มต้นแล้ว โดยเมื่อไตรมาส 4 ที่ผ่านมาได้เปิดไลน์การผลิตแล้ว 1 เครื่อง และต้นปี 2568 เตรียมจะเปิดไลน์การผลิตมาม่าบิ๊กแพค ราคา 10 บาท และมาม่าโอเค ที่ใช้ไลน์การผลิตเดียวกัน ซึ่งมาม่าบิ๊กแพค ในช่วงหลังยอดขายเติบโตขึ้น 20% หลังปรับเครื่องปรุงให้เข้มข้นมากขึ้น จากเดิมคนบอกว่าจืดไป เป็นการแก้เรื่องที่คนแชร์เป็นไวรัลในโซเชียลกันมากว่า “ซองเดียวกินไม่อิ่ม 2 ซองกินไม่หมด”

“พันธ์” ยังบอกอีกว่า ปัจจุบันมาม่ามีรายได้จาก 3 เครื่องยนต์หลัก คือ รายได้ในประเทศ 40% ต่างประเทศ 30% อีก 30% เป็นรายได้จากการลงทุนในบริษัทย่อยและกองทุนต่างๆ ถ้ามีวิกฤตเกิดขึ้น จะมีรายได้จากขาใดขาหนึ่งมาหล่อเลี้ยง เช่น ยอดขายในประเทศไม่ดี จะมีรายได้ส่งออกและลงทุนมาหล่อเลี้ยงหรือช่วงที่การลงทุนไม่ดี จะมีรายได้ในประเทศและส่งออกมาหล่อเลี้ยง จึงทำให้มาม่าเราในช่วง 10 กว่าปีหลังนี้ ยังมีรายได้ที่มั่นคงและยังยืนระยะได้อยู่ในปัจจุบัน

ขณะที่ช่องทางการขายและการสร้างแบรนด์ “มาม่า” ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นเป็นอีกกลยุทธ์หนึ่ง ผ่านโมเดล “มาม่าสเตชั่น” (MAMA SATION) ที่ “พันธ์” บอกว่าเป็นการทดลองทำตลาด มีหลากหลายโมเดล ซึ่งเสียงตอบรับมีทั้งดีบ้างและไม่ดีบ้าง ขึ้นอยู่กับทำเล ปัจจุบันเหลือที่ “อาร์ซีเอ” ที่จะนำเป็นโมเดลต้นแบบ และเมื่อสงกรานต์ที่ผ่านมาได้เปิดที่พัทยา ตั้งเป้าเจาะนักท่องเที่ยว แต่ยังไม่เวิร์กมากนัก เพราะนักท่องเที่ยวยังเข้ามาไม่มาก ส่วนสาขาที่จะเปิดต่อไป ต้องมีการปรับรูปแบบการขายและราคาลงมา ให้ตอบโจทย์พฤติกรรมลูกค้ามากขึ้น

“ช่วงสงกรานต์ที่อาร์ซีเอขายดีมาก มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยอะมากใน 5 วัน มียอดขายกว่า 3 แสนบาท เพิ่มขึ้น 3 เท่าจากปกติที่ขายได้วันละ 1.8-2 หมื่นบาท จากตรงนี้ทำให้เราได้รู้ข้อจำกัดนำไปปรับใช้กับสาขาใหม่ที่จะเปิด ซึ่งทำเลอาจไม่เหมือนกับอาร์ซีเอ เช่น ที่นั่งไม่ต้องเยอะ เมนูไม่ต้องมาก ปรับราคาลงเล็กน้อย ส่วนร้านเครซี่ มาม่า บายแซ่บ มิวเซียม ที่ไอคอนสยาม มียอดขายที่ดี มีนักท่องเที่ยวเข้ามาคึกคัก โดยเฉพาะชาวจีนที่รู้จักมาม่าอยู่แล้ว” พันธ์กล่าว

พร้อมย้ำว่าการเปิด “มาม่า สเตชั่น” ไม่ได้หวังยอดขายหรือกำไรที่เติบโต แต่เน้นการสร้างแบรนดิ้งมาม่าให้เป็นที่รู้จักในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งมาม่าทำตลาดมากว่า 50 ปี ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป มีบะหมี่ต่างประเทศเข้ามาทำตลาดมากขึ้น ทำให้คนรุ่นใหม่อาจไม่ค่อยรู้จักมาม่า จึงต้องสร้างการจดจำมากขึ้น ท่ามกลางตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมีการเติบโตที่ไม่หวือหวา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image