คลัง-แบงก์ชาติ ต้องมีเอกภาพเพื่อรับมือความท้าทายความผันผวนของทุนนิยมโลกาภิวัตน์

คลัง-แบงก์ชาติ ต้องทำงานอย่างมีเอกภาพเพื่อรับมือความท้าทายความผันผวนของทุนนิยมโลกาภิวัตน์

เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การเงินและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยต้องการการทำงานที่เป็นเอกภาพของกระทรวงการคลังและแบงก์ชาติเพื่อให้เกิดส่วนผสมของนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง (Fiscal and Monetary Policy Mixed) อันสมดุลเพื่อรับมือความท้าทายความผันผวนของทุนนิยมโลกาภิวัตน์และผลกระทบสงครามในตะวันออกกลาง ยุโรปและเมียนมา เพื่อบรรเทาและแก้ไขความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจของกลุ่มประชาชนและเอสเอ็มอีที่ยังไม่พ้นจากวิกฤติเศรษฐกิจโควิด การมีส่วนผสมของนโยบายทางการเงินและการคลังอย่างเหมาะสมจะช่วยทำให้ประสิทธิภาพการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจดีขึ้น โดยจำเป็นต้องใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินและการคลังไปพร้อมกันเพื่อให้เศรษฐกิจไทยเติบโตเต็มศักยภาพและมีการใช้อัตรากำลังการผลิตส่วนเกินเพิ่มขึ้น นำไปสู่การลงทุนใหม่ๆ หากแบงก์ชาติใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มขึ้น ภาระต่อมาตรการทางการคลังจะลดลง และ นำมาสู่การก่อหนี้สาธารณะลดลงได้ หากแบงก์ชาติไม่ลดดอกเบี้ยเนื่องจากต้องดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว หรือ กังวลว่าจะเกิดแรงกดดันเงินเฟ้อ ภาระในการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ จะตกเป็นภาระต่อกระทรวงการคลังและมาตรการทางการคลังเพิ่มขึ้น มาตรการการคลังนั้นต้องผ่านขั้นตอนมากมายในระบบราชการและกระบวนการทางการเมือง ก่อให้เกิดความล่าช้าของเม็ดเงินงบประมาณปี 2567 ในการเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ

การกำกับดูแล ระบบสถาบันการเงิน ระบบธนาคาร ได้อย่างมีประสิทธิภาพจะช่วยทำให้ปัญหาหนี้สินของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจดีขึ้น การก่อหนี้เกินตัว ลงทุนเกินตัว บริโภคเกินตัวจะลดน้อยลง ไม่มีปัญหาหนี้เสีย NPLs ในอนาคต อัตราเงินเฟ้อของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ข้อมูลเดือนมีนาคม 2567 พบว่า อัตราเงินเฟ้อของไทย ลดลง 0.47% ซึ่งยังคงอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ โดยอยู่ระดับต่ำอันดับ 5 จาก 137 เขตเศรษฐกิจ ที่ประกาศตัวเลข และอยู่ในระดับต่ำอันดับ 2 ในอาเซียนจาก 8 ประเทศที่ประกาศตัวเลข ตอกย้ำถึง เศรษฐกิจยังคงขยายตัวต่ำ อัตราการใช้กำลังการผลิตยังต่ำทำให้มีกำลังการผลิตส่วนเกินซึ่งต้องแก้ด้วยการกระตุ้นอุปสงค์ภายในและปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมส่งออกเพิ่มส่วนแบ่งในตลาดโลก แม้นว่า อัตราเงินเฟ้อกลับมาเป็นบวกในรอบ 7 เดือนในเดือนเมษายนแต่เป็นบวกเพียงเล็กน้อย 0.19% เท่านั้นเป็นผลจากปัจจัยด้านอุปทานเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับสูงขึ้นจากสถานการณ์สงครามในตะวันออกกลาง สินค้าเกษตรและอาหารหลายรายการราคาปรับตัวสูงขึ้น ผักสด และผลไม้สด ออกสู่ตลาดลดลงจากภัยแล้ง อุปสงค์ไม่ได้ร้อนแรง ไม่ได้มีสภาวะที่น่าวิตกกังวัลต่อปัญหาทางด้านเสถียรภาพและเงินเฟ้อแต่อย่างใด แรงกดดันเงินเฟ้อทางด้านอุปสงค์อาจเพิ่มขึ้นบ้างในช่วงปลายปีจากการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำและการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท คาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปทั้งปีจะอยู่ที่ไม่เกิน 1%

สถานการณ์ความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจและตลาดการเงินในต่างประเทศต้องจับตาปัญหาความเคลื่อนไหวปัญหาวิกฤตการณ์อสังหาริมทรัพย์ในจีน รัฐบาลจีนเน้นที่การออกมาตรการอสังหาฯ ของรายเมืองเฉพาะจุด ตลอดจน ยังเน้นถึงโมเดลอสังหาหริมทรัพย์แบบใหม่ ที่เป็น Public Housing และ Rental Housing รวมถึง การวางแผนออกมาตรการเพื่อลด Inventory อสังหาริมทรัพย์ แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนระยะสั้น มาจาก GDP ใน 1Q2567 ที่ดีกว่าคาด ความท้าทายเชิงโครงสร้างที่ยังมีอยู่ เช่น อุปสงค์ภายในประเทศที่ยังอ่อนแอ การเผชิญแรงกดดันในการดำเนินธุรกิจของบริษัท ความเสี่ยงที่ซ่อนเร้นในส่วนหลักต่างๆ ของเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ย และอัตราส่วนการกันสำรองของธนาคาร (RRR) ควรถูกใช้อย่างยืดหยุ่นและผ่อนคลายเพื่อจะลดต้นทุนการระดมทุนของภาคเศรษฐกิจจริง ทั้งนี้ คาดว่า ธนาคารกลางจีนมีแนวโน้มลดอัตราดอกเบี้ย RRR ลงอีกเพื่อมาเอื้อต่อการแนวโน้มการออกพันธบัตรพิเศษของรัฐบาลกลางและรัฐบาลกลางท้องถิ่น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนนโยบายการคลังมีการเร่งใช้จ่ายเงินจากพันธบัตรพิเศษระยะยาวรัฐบาลกลาง 1 ล้านล้านหยวน และพันธบัตรพิเศษรัฐบาลท้องถิ่น 3.9 ล้านล้านหยวน สร้างเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพ

Advertisement

ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 34 ปี เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยได้ร่วงลงผ่านระดับ 160 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1990 ด้วยสภาพคล่องที่เบาบาง หลังจากสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) ได้คงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0-0.1% และ ระบุว่าจะใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไป อย่างไรก็ตาม ทางด้านรัฐมนตรีกระทรวงการคลังญี่ปุ่น ได้ส่งคำเตือนในช่วงก่อนหน้าว่า มีโอกาสเข้าแทรกแซงค่าเงินเยนอีกครั้ง หลังก่อนหน้านี้ได้เข้าแทรกแซงในเดือน ต.ค. 2565 และ กระทรวงการคลังเน้นย้ำว่า จะตอบสนองอย่างเหมาะสมต่อการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่า กระทรวงการคลังพยายามปรามนักเก็งกำไรจากการเพิ่มสถานะ Short ค่าเงินเยน คาดว่า แนวโน้มการดำเนินธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) และธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่ยังสวนทางกัน โดยที่ธนาคารกลางมีแนวโน้มขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อ และอาจพิจารณาลดการผ่อนคลายเชิงปริมาณลง ส่วนธนาคารกลางสหรัฐฯมีแนวโน้มลดดอกเบี้ย พร้อมลดการทำ Quantitative Tapering ความเคลื่อนไหวเหล่านี้อาจส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในทางอ้อม และ มีแนวโน้มที่เงินบาท และ เงินเยน อาจแข็งค่าขึ้นในระยะต่อไป

การเพิ่มขึ้นของตำแหน่งงานล่าสุดของสหรัฐอเมริกาชะลอตัวลง น้อยกว่าตลาดการเงินคาดการณ์ไว้ทำให้เกิดความหวังว่า ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาอาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยเร็วขึ้น การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยต้องนำเอามิติเสถียรภาพภายนอกและภายในมาพิจารณาร่วมกัน การไหลออกของเงินทุนเคลื่อนย้ายระยะสั้นเก็งกำไรจากส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยไม่ได้เป็นปัญหาของประชาชนส่วนใหญ่ แต่การบริหารนโยบายเพื่อให้เกิดความสมดุลของการบริภาค การออม การลงทุนภายในมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและประชาชนส่วนใหญ่มากกว่า

การสร้างสมดุลให้เกิดขึ้นในภาคเศรษฐกิจจริงผ่านส่วนผสมอันเหมาะสมของมาตรการการเงินและมาตรการการคลังจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืนระยะยาว และ แก้ปัญหาความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจระยะสั้นได้ไปพร้อมกัน แบงก์ชาติต้องพัฒนาให้ระบบการเงินมีประสิทธิภาพสูงขึ้นโดยจัดสรรเงินออมไปยังผู้ใช้เงินทุนที่มีประสิทธิภาพกว่า (Productive use of funds) ระบบการเงินและตลาดเงินที่ไม่พัฒนาและไม่สามารถทำหน้าที่ได้ดีเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ประเทศไม่สามารถก้าวสู่ประเทศรายได้ระดับปานกลาง ระบบการเงินและตลาดเงินที่สามารถทำหน้าที่ได้ดีและมีประสิทธิภาพ (Well-functioning Financial Markets) ทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงขึ้น เมื่อไม่มีเงินทุน กิจกรรมการทางเศรษฐกิจจะสะดุดและหยุดชะงักได้ ธุรกิจเอกชนก็อาจสูญเสียโอกาสในการลงทุน รัฐบาลขาดแคลนเงินทุนก็ต้องชะลอการใช้จ่ายและการลงทุน ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศและคุณภาพชีวิตของประชาชนได้

Advertisement

รัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยควรร่วมมือกันในการพัฒนาระบบการเงินแบบดิจิทัลขึ้นมาซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจดิจิทัล กระบวนการในการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล (Digital Transformation) ของภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจไทย จะเกิดขึ้นได้อย่างเต็มประสิทธิภาพเมื่อประเทศมีโครงสร้างพื้นฐานทางด้านดิจิทัลสนับสนุน การทำงานร่วมกันของหน่วยงานต่างๆของรัฐบาลรวมทั้งแบงก์ชาติจึงมีความสำคัญ เอาเฉพาะระบบการเงินนั้น พัฒนาการของเทคโนโลยีดิจิทัลทำให้รูปแบบการทำธุรกรรมทางการเงินที่ไม่มีตัวกลาง (Decentralized finance – DeFi) ขยายตัวและต้นทุนทางการเงินต่ำลง การถือสกุลเงินดิจิทัลไว้เพื่อซื้อสินค้าและบริการได้รับความนิยมมากขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลและการใช้บริการกู้เงินระหว่างกันผ่านแพลตฟอร์มโดยไม่ต้องผ่านตัวกลางทางการเงิน แนวโน้มดังกล่าวทำให้ Fiat Money อาจมีบทบาทลดลงในภาคการเงิน (Adrian & Mancini-Griffoli, 2021) แนวโน้มดังกล่าว แบงก์ชาติต้องทำงานในเชิงรุกและมีการตัดสินใจให้ชัดเจนว่าจะยอมเปิดให้มีธุรกรรมผ่านสินทรัพย์ดิจิทัลในระดับไหน

ระบบการเงินแบบเดิมที่มีลักษณะรวมศูนย์ (Centralized Finance หรือ CeFi) จะลดความสำคัญลงเรื่อยๆ การใช้งบประมาณ พิมพ์ ธนบัตรเพื่อหมุนเวียนในระบบควรจะลดลง ในระบบการเงินแบบรวมศูนย์นั้นมีเงินอยู่ 2 ประเภท คือ ประเภทแรก คือ เงินที่ออกโดยรัฐ คือ Public Money หรือ Fiat Money ประเภทที่สอง เป็นเงินที่ออกโดยเอกชน หรือ Private Money ที่มาต่อยอด เช่น การสร้างเงินฝากของระบบสถาบันการเงิน รวมทั้งการสร้าง e-Money ในลักษณะต่างๆ เนื่องจากเงินที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันเป็นเงินเฟียต (Fiat Money) เป็นเงินตราที่อำนาจรัฐตราขึ้นให้สามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมายโดยไม่ได้มีโลหะมีค่าหนุนหลังเต็มจำนวน โดยที่สิ่งที่นำมาใช้เป็นเงินนั้นไม่ใช่โลหะมีค่า เช่น เงินธนบัตรก็เป็นเพียงกระดาษ การยกเลิกการผูกเงินกระดาษกับทองคำก็เพื่อให้ธนาคารกลางมีความสามารถในการพิมพ์เงินอัดฉีดสภาพคล่องและลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เงินเฟียตจึงเหมือนเป็น “หนี้” ของธนาคารกลางที่ออกมาให้คนถือครองโดยไม่จ่ายดอกเบี้ย มันมีค่าเพราะเราเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจ เชื่อมั่นในระบบการเงินและธนาคารกลาง ความเชื่อมั่นต่อธนาคารกลาง และ ระบบธนาคารกลางจึงมีความสำคัญมากในระบบเงินเฟียต และ ประเทศต้องดำรงรักษาสิ่งนี้ไว้

การยกเลิกผูกเงินไว้กับทองคำทำให้ธนาคารกลางสามารถควบคุม “นโยบายการเงิน” ได้มากกว่าเดิม หากประชาชนหันไปใช้ Cryptocurrency มากขึ้นย่อมทำให้ความสามารถในการควบคุมปริมาณเงินโดยธนาคารกลางลดลง การแจกเงินดิจิทัล มีผลอย่างไรต่อระบบการเงินและปริมาณเงินในช่วงปลายปีนี้เป็นเรื่องที่ต้องมีการศึกษาเพื่อบริหารจัดการได้อย่างเหมาะสม การออกแบบให้เงินดิจิทัลหมุนไปเพื่อซื้อสินค้าและบริการก่อนที่จะไปขึ้นเงินได้ มีผลต่อเศรษฐกิจ กระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไร ควรศึกษาและติดตามผลให้ชัดเจน หากเงินดิจิทัลไม่ว่าออกโดยเอกชนในประเทศหรือต่างประเทศมีบทบาทมากขึ้น และ สามารถทำหน้าที่ในการเป็นหน่วยวัดมูลค่า (Unit of Account) ดีขึ้น เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน (Medium of Exchange) ดีขึ้น เป็นหน่วยในการเก็บรักษาและสะสมมูลค่า (Store of Value) ดีขึ้น อาจจะส่งผลให้บทบาทของธนาคารกลางและอธิปไตยทางการเงิน (Monetary Sovereignty) ลดลง การออกเงินสกุลดิจิทัลรายย่อยของธนาคารกลาง (Retail CBDC) จะช่วยรักษาสมดุลระหว่าง Fiat Money กับ สกุลดิจิทัลทางเลือก ทำให้ส่งผลกระทบต่ออธิปไตยทางการเงินลดลงได้บ้าง

ธนาคารกลางนั้นโดยทั่วไปจะออกแบบโครงสร้างแบบ 2 ชั้น (Two-tier System) เพื่อให้ประชาชนที่ถือ Private Money สามารถแลกกลับมาเป็น Fiat Money ได้ ทำให้ประชาชนที่ถือเงินมีความปลอดภัยและเงินที่ถือมีสภาพคล่องสูง เงินทั้งสองรูปแบบในระบบการเงินแบบรวมศูนย์นี้จะช่วยสร้างสมดุลระหว่างนวัตกรรมและความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยเอกชน กับ บทบาทเงินภาครัฐที่เน้นเสถียรภาพเชิงระบบ ในระบบนี้ธนาคารกลางจะทำหน้าที่ ผู้ให้กู้แหล่งสุดท้าย (Lender of Last Resort) อันเป็นกลไกค้ำประกันความมั่นคงของระบบการเงิน การออกแบบโครงสร้างระบบการเงินต้องเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ หาก e-Money เงินดิจิทัล รูปแบบชำระแบบใหม่ๆที่อาจเกิดขึ้นตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี มีบทบาทมากขึ้นตามลำดับ

ระบบและโครงสร้างแบบเดิมจะรองรับธุรกรรมได้อย่างไรเพื่อให้ “เงิน” “ระบบสถาบันการเงิน” “ตลาดการเงิน” และ “ระบบการชำระเงิน” สามารถทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ในระบบเศรษฐกิจแห่งอนาคต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image