กรรมการไตรภาคีมึนขึ้นค่าจ้าง 400บ.ทั่วประเทศ ยังไม่ได้ข้อสรุป ปรามฟากการเมืองไม่ควรพูด

กรรมการไตรภาคีมึนขึ้นค่าจ้าง 400บ.ทั่วประเทศ ยังไม่ได้ข้อสรุป ปรามฟากการเมืองไม่ควรพูด

วันที่ 8 พฤษภาคม นายอรรถยุทธ ลียะวณิช คณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ชุดที่ 22 ในสัดส่วนผู้แทนฝ่ายนายจ้าง เปิดเผยว่า หอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ติดต่อผ่านทางโทรศัพท์พร้อมส่งข้อมูลต่างๆ มาให้ตนเกี่ยวกับการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ จากนี้คงต้องมีการคุยกัน

“แต่ข่าวที่ระบุว่า จะมีปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ทุกกลุ่มอาชีพ ทั่วประเทศนั้น ตนไม่ทราบว่ามาได้อย่างไร เพราะกรรมการไตรภาคียังไม่มีการดำเนินการอะไรใดๆ ยังไม่มีการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ ซึ่งปกติ เราจะพิจารณาปรับเพิ่มเป็นรายจังหวัด การจะมาทำรายอาชีพแบบนึกจะทำก็ทำเลยไม่ได้ ส่วนในการปรับรอบ 2 ในกลุ่มโรงแรม 4 ดาวขึ้นไป ใน 10 พื้นที่ ก็ผ่านการทำแบบสอบถามต่างๆ แล้วเห็นว่าไม่กระทบกระเทือนอะไร หากจะทำรายอาชีพต้องทำวิจัย ซึ่งกรรมการไตรภาคีก็มีมติในการประชุมเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ว่า ให้ทำวิจัย ว่าหากปรับเป็นรายอาชีพนั้นเหมาะที่จะทำในช่วงนี้หรือไม่ โดยในการประชุมวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ ก็จะมาพูดคุยกันในรายละเอียดว่า จะมีการวิจัยเรื่องอะไรบ้าง ขอบข่ายการวิจัย ใช้เวลานานแค่ไหน ซึ่งที่ผ่านมา เราก็เคยทำวิจัยเกี่ยวกับค่าจ้างเด็กนักเรียนภาคฤดูร้อน และวิจัยเรื่องค่าจ้างลอยตัว ซึ่งทำกัน 2 ปี ไม่ใช่นึกอยากจะทำอะไร ก็ทำ ออกมาประกาศเลย เรายังไม่มีมติ และไม่รู้ว่าข่าวออกมาจากไหน ทั้งๆ ในที่ประชุมไม่มีเรื่องนี้” นายอรรถยุทธ กล่าว

นอกจากนี้ นายอรรถยุทธ กล่าวต่อไปว่า อีกเรื่องที่เป็นมติที่ประชุม คือ ให้ทำปฏิทินการพิจารณาค่าจ้างปลายปี

Advertisement

“ในรอบปฏิทินปกติ เขาก็ต้องทำไป และประชุมไป แล้วประกาศใช้วันที่ 1 มกราคมปีหน้า อันนี้เป็นรายจังหวัด ส่วนจะขึ้นเท่าไร ก็เป็นเรื่องของแต่ละจังหวัดเสนอมา แล้วอนุกรรมการกลั่นกรองก็จะดูอีกทีว่า เหมาะควรอย่างไร แล้วค่อยเสนอบอร์ดค่าจ้างชุดใหญ่ ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้น เรามีกฎหมายคุ้มครองแรงงานมาตรา 87 เป็นตัวกำหนดอยู่แล้วว่า จะขึ้นได้มากน้อยเท่าไร แล้วเอามาตรา 87 นี้ มาถอดเป็นสูตรการคำนวณ เป็นวิทยาศาสตร์ ทุกคนยอมรับ ที่ประชุมเห็นร่วมกันว่า สูตรปี 2567 ที่จะพิจารณาขึ้นค่าจ้างปี 2568 ให้ใช้สูตรนี้ สูตรนั้น ซึ่งคล้ายๆ เดิม จะมีปรับให้ดีขึ้น เป็นไปตามยุคสมัยมากขึ้น เป็นที่ยอมรับของสาธารณชน เมื่อคิดออกมาแล้ว ตามสูตรที่เป็นที่ยอมรับร่วมกัน จะออกมาเป็น 500 บาท 600 บาท เราก็รับได้เพราะเป็นไปตามสูตร แต่การพูดออกไปก่อนว่า จะขึ้นเท่านั้น เท่านี้ มันไม่ควรที่จะพูด ไม่รู้ว่าเอาข้อมูลจากไหนมาพูด แล้วใครพูดบ้างก็ไม่รู้ เพราะผมออกจากห้องประชุมก็พูดแค่มติที่ประชุม ไม่เคยพูดนอกเหนือจากนี้ ใครไปพูดนอกจากนี้ถือว่าใช้ไม่ได้ และก็ต้องถามในที่ประชุมวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ ว่าใครพูด ซึ่งทำไม่ถูกต้อง ทำให้เกิดการปั่นป่วนทั้งประเทศ” นายอรรถยุทธ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า เรื่องนี้มีการประกาศเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันแรงงานแห่งชาติ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และรองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลกระทรวงแรงงาน นายอรรยุทธ กล่าวว่า ไม่ทราบว่า ทั้ง 2 ท่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้องหรือไม่ เพราะไม่ได้มาประชุมด้วย อาจจะได้รับข้อมูลที่ผิดๆ มาก็ได้ ซึ่งเป็นข้อมูลไม่ถูกต้อง ผู้ใหญ่ขนาดนั้น หากได้รับข้อมูลไม่ถูกต้อง คงไม่กล้าพูด ดังนั้น อาจจะได้ข้อมูลผิดๆ มา

เมื่อถามต่อไปว่า การที่ออกมาพูดถือเป็นการแทรกแซงหรือไม่ นายอรรถยุทธ กล่าวว่า นี่คือการแทรกแซงแล้ว การเมืองไม่ควรจะพูด กรรมการค่าจ้าง ก็เหมือนคณะกรรมการควบคุมดอกเบี้ย ราคาน้ำมันต่างๆ ต้องปราศจากการเมือง แต่นี่นายกฯ พูดบ้าง ปลัดกระทรวงพูดบ้าง มันเหมาะหรือไม่

Advertisement

ด้าน นายวีรสุข แก้วบุญปัน กรรมการค่าจ้าง ชุดที่ 22 ในฐานะผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง กล่าวว่า จริงๆ ที่ประชุมไตรภาคีเมื่อวันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมา ยังไม่ได้พูดคุยเรื่องการปรับค่าจ้างขั้นต่ำว่าจะขึ้นกี่บาท แต่ที่ประชุม มีคำสั่งให้อนุกรรมการค่าจ้างฯ จังหวัด เตรียมความพร้อม เรื่องการหาข้อมูล รวบรวมข้อมูล เรื่องการเสนอค่าจ้างที่จะมีขึ้นในโอกาสถัดไป โดยให้เสนอมาในเดือนกันยายนนี้ หรือก่อนเดือนตุลาคม

“เพราะทุกปีที่เสนอมา กว่าจะมีการพิจารณาของคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด กว่าจะส่งมาที่คณะอนุกรรมการ กลั่นกรอง กว่าจะมาถึงบอร์ดค่าจ้างใช้เวลานานมาก บางครั้งก็เกือบสิ้นปี บางครั้งก็ส่งมาหลังปีใหม่ไปแล้ว ปีนี้เลยคุยกันว่าจะทำแต่เนิ่นๆ แค่นี้เอง ไม่ได้คุยกันว่าจะเป็นกี่บาท และไม่ได้ขีดเส้นว่าจะต้องปรับเพิ่มรอบถัดไปให้ได้ภายในปี 2567 แต่ถ้าหากเรื่องมาและจบในเดือนตุลาคม ก็อาจจะประกาศได้ว่า อาจจะประกาศปรับในเดือนตุลาคมเลย หรือจะประกาศเดือนถัดไป หรือประกาศเป็นของขวัญปีใหม่ก็ว่ากันไป นั่นเป็นอนาคตที่ยังไม่ได้คุยกัน กรณีที่มีการออกมาคัดค้าน อาจถึงขั้นฟ้องร้องกันนั้น ก็ไม่รู้ว่า จะฟ้องร้องใคร เพราะกรรมการไตรภาคี ยังไม่ได้พูดถึงเรื่องว่าจะขึ้นกี่บาทเลย เพราะเป็นเรื่องของอนาคตอีกตั้งกี่เดือน กว่าจะถึงดือนตุลาคม สภาวะเศรษฐกิจ เงินเฟ้ออาจจะเปลี่ยนแปลงไป” นายวีรสุข กล่าว

เมื่อถามว่า มีการประกาศเมื่อวันแรงงานแห่งชาติว่า เพิ่ม 400 บาท ทุกกลุ่ม ทั่วประเทศ นายวีรสุข กล่าวว่า คนที่พูดวันนั้นเขาเป็นใคร เขาเป็นฝ่ายการเมือง ซึ่งนโยบายของรัฐบาลนี้ก็บอกอยู่แล้วว่า ค่าจ้างขั้นต่ำจะอยู่ที่เท่าไร ดังนั้น ตนไม่ขอตอบตรงนี้ว่าได้ หรือไม่ได้ อย่างไรก็ตาม การที่ฝ่ายการเมืองออกมาพูดเช่นนั้น ไม่ถือว่ากดดันกรรมการไตรภาคี สักนิดก็ไม่กดดัน

“อย่างการปรับครั้งแรกที่นายกฯ บอกว่า ให้ไปพิจารณามาใหม่ เพราะรับไม่ได้เงิน 2 บาท ซื้อไข่ครึ่งฟองยังไม่ได้ ผมก็โต้ว่า ทำไมรัฐบาลไม่ทำให้เงิน 2 บาท ซื้อไข่ได้ครึ่งฟองแทน จริงๆ แล้ว ค่าสาธารณูปโภค บริโภคไม่ได้ขึ้นอยู่กับค่าแรงขั้นต่ำ คุณปรับเท่าไรก็ตามขึ้นเป็นลูกโซ่ มันผูกกันอยู่” นายวีรสุข กล่าว

เมื่อถามว่า แต่เมื่อกรรมการไตรภาคีปรับค่าจ้างรอบ 2 จำนวน 400 บาท ในกลุ่มโรงแรม 10 พื้นที่ ทำให้ถูกมองว่ากรรมการไตรภาคีไม่เข้มแข็ง และโล้ตามรัฐบาล นายวีรสุข กล่าวว่า เนื่องจากคนมากก็แล้วแต่มุมมอง แล้วแต่ความคิดแต่ละคน ในเมื่อมีนโยบายที่จะปรับ ซึ่งไม่ใช่ปรับทั้งหมด แต่ปรับเฉพาะสาขาอาชีพ ก็เป็นไปได้หรือไม่ น่าคิดว่าน่าจะทดลองดูว่า หากปรับแล้วจะได้ผลมากน้อยแค่ไหน ซึ่งตอนนี้หลายเดือนที่ผ่านมา เราก็มองดูแล้วว่า มันไม่ได้ประโยชน์เลย เพราะว่า ค่าแรงที่ปรับเป็น 400 บาท บางพื้นที่นั้น พอเราไปสำรวจดูเขาได้ 400 บาท มาตั้งแต่ปีมะโว้แล้ว

“กรรมการไตรภาคีฝ่ายลูกจ้าง ไม่ได้รับการกดดัน ไม่มีรัฐบาลมาแทรกแซง เพราะเขาไม่ได้เรียกเราเข้าไปคุยเป็นการส่วนตัวว่าเราต้องทำอย่างนั้น อย่างนี้ จะถือเป็นการแทรกแซงไม่ได้ เพียงแต่เขาจะไปพูดที่สาธารณะอย่างไรก็เป็นสิทธิของเขาที่จะพูด พอเราขึ้นแล้วเขาไม่พอใจเขาก็ไปพูดว่าเราบนเวทีของเขา” นายวีรสุข กล่าว

ด้านแหล่งข่าวระดับสูงในกระทรวงแรงงาน ให้ข้อมูลว่า ตามที่มีการออกมาให้ข่าวว่าผู้บริหารกระทรวงแรงงานมีการนัดหาหรือกับกลุ่มผู้ประกอบการ นายจ้าง ในวันที่ 13 พฤษภาคมนี้ เกี่ยวกับการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ทั่วประเทศนั้น เป็นการพูดคลาดเคลื่อน เพราะที่จริงแล้ว ในวันที่ 13 พฤษภาคมนี้ เป็นทางฝ่ายผู้ประกอบการเองที่ขอเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อแสดงเจตจำนงในการคัดค้านการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ทุกกลุ่ม ทั่วประเทศ และหากยังดึงดันที่จะขึ้น ก็จะมีการฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอคุ้มครอง

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image