นักเศรษฐศาสตร์ เตือนไทยเตรียมรับสมรภูมิดาวเทียม แนะจับตา Cyberspace ความท้าทายใหม่

นักเศรษฐศาสตร์ ชี้ไทยเตรียมรับสมรภูมิดาวเทียม หลายชาติจองวงโคจร หวั่นไทยตกชั้น

เมื่อเวลา 11.15 น. วันที่ 24 พฤษภาคม ที่ห้องคริสตัล บ็อกซ์ ชั้น 19 เกษร เออร์เบิน รีสอร์ท อาคารเกษรทาวเวอร์ แยกราชประสงค์ กรุงเทพฯ หนังสือพิมพ์มติชนจัดมติชนฟอรั่ม หัวข้อ Thailand 2024 : Surviving Geopolitics โดย รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมเสวนารูปแบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ในหัวข้อไทยในสมรภูมิใหม่

รศ.ดร.ปิติกล่าวว่า จากการวิจัยพบว่า การศึกษาด้าน Digital Divided ในอาเซียน พบประเทศไทยมีความสามารถด้านดิจิทัลต่ำที่สุดในอาเซียน ดังนั้น เราจะเท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงในโลกดิจิทัลหรือไม่ ซึ่งการสำรวจที่ผ่านมามี 44 เทคโนโลยีที่จะกำหนดอนาคต ซึ่งคนที่นำ 44 เทคโนโลยีไปใช้คือจีน ขณะที่สหรัฐมีภาวะนำในเทคโนโลยีที่ลงทุนสูง ขณะที่สำนักวิจัยอื่นๆ ระบุว่าปี 2563 มีการขยายเทคโนโลยีจาก 44 เทคโนโลยีไปเป็น 64 เทคโนโลยี

เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะทำให้ชีวิตดีขึ้นคือจีนเป็นผู้นำ และการเผยแพร่ข้อมูลผ่านวารสารวิชาการ ถ้าสหรัฐมี 10 บทความ จีนจะมีถึง 90 บทความ สูงกว่าสหรัฐ 9 เท่า ดังนั้น ระยะยาวจีนจะขึ้นมาเป็นผู้นำสหรัฐ โดยเฉพาะ “การกดดันทางด้านการค้า” เพราะจีนจะใช้เทคโนโลยีเข้าไปทำธุรกิจมากขึ้น อย่างไรก็ตาม มีอินเดีย และอังกฤษเข้ามาลุยธุรกิจโดยใช้เทคโนโลยีมากขึ้น

Advertisement

รศ.ดร.ปิติกล่าวว่า ไทยจะใช้เทคโนโลยีอะไรที่นำเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพ และการทำงานให้เกิดประโยชน์มากขึ้น เนื่องจากประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย ส่งผลให้ไทยต้องมีเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น เพราะถ้าไทยไม่เปลี่ยนแปลงด้านนี้ โดยเฉพาะการดึงคนเก่งเข้ามาทำงานในไทยมากขึ้น ในอนาคตจะไม่สามารถตอบโจทย์สังคมสูงวัยที่เพิ่มมากขึ้นไม่ได้ หากเทียบกับสิงคโปร์ที่เปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติเข้าไทยมากขึ้น

นอกจากนี้ เรื่อง ภูมิรัฐศาสตร์ เพราะเทคโนโลยีต่างๆ ที่คนไทยใช้ เช่น ฟิล์มกันแสงแดด เตาอบไมโครเวฟ มาจากเทคโนโลยีอวกาศ โดยที่มีการศึกษาจาก ศาสตราจารย์ Everett Dolman ผู้ที่วางแนวคิดทฤษฎีภูมิรัฐศาสตร์อวกาศ ซึ่งกล่าวว่า ผู้ใดควบคุมวงโคจรโลกต่ำเป็นผู้ควบคุมอวกาศใกล้โลก ใครควบคุมอวกาศใกล้โลกครอง Terra รัฐใดเป็นผู้ครอบครอง Terra รัฐนั้นจะสามารถกำหนดชะตากรรมของมนุษยชาติ

รศ.ดร.ปิติกล่าวอีกว่า อวกาศอาจจะไม่มีขอบเขต และไม่เกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ แต่ดาวเทียมต่างๆ ต้องเกิดการประมูล เพื่อนำดาวเทียมต่างๆ ยิงขึ้นสู่ผิวโลกบนตำแหน่งที่ถูกต้อง คือวงโคจรที่ระยะ 35,786 กิโลเมตรนี้ถูกขนานนามว่า “วงโคจรค้างฟ้า” เพราะที่ความสูงระยะนี้ วัตถุจะมีเส้นทางโคจรอยู่ในแนวเส้นศูนย์สูตร (Equatorial Orbit) ดาวเทียมสะหม่นรอบโลกด้วย และความเร็วเชิงมุมเท่ากันโลกหมุนรอบตัวเอง นั่นคือเท่ากับ 23 ชั่วโมง 56 นาที่ 4 วินาที จึงทำให้ผู้เสมือนว่าวัตถุ หรือดาวเทียมนั้นลอยอยู่เหนือพื้นผิวโลก ณ ตำแหน่งเดิมตลอดเวลา GISTDA (2022)

Advertisement

ดังนั้น ถ้าประเทศไทยต้องการมอนิเตอร์ประเทศไทยตลอดเวลาต้องเอาดาวเทียมไปวางตรงวงโคจรดาวเทียมค้างฟ้า อย่างไรก็ตาม ดาวเทียมที่อยู่บนวงโคจรก็มีจำกัด ซึ่งโจทย์คือไทยจะนำดาวเทียมไปวางได้อย่างไร เพราะในประเทศจีน สหรัฐมีการส่งดาวเทียมต่างๆ ขึ้นบนท้องฟ้า เพราะสอดแนมในประเทศอื่นๆ จึงเห็นได้ว่าสงครามอวกาศไม่ได้อยู่ไกลตัว ซึ่งจะเห็นชัดเจนว่าจีนยิงคลื่นไมโครเวฟจากพื้นดินเพื่อทำลายดาวเทียมบนวงโคจร เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเอง

“เห็นได้ว่าอวกาศไม่ใช่พรมแดนสุดท้ายของมนุษยชาติ แต่อย่าลืมว่าพรมแดนสุดท้ายจะเป็นพื้นใหม่ที่มีทรัพยากรมหาศาล แต่ขณะเดียวกัน ไม่มีกฎระเบียน หรือกติกา เพราะทุกคนใช้อำนาจเพื่อใช้เทคโนโลยี” รศ.ดร.ปิติกล่าว

รศ.ดร.ปิติกล่าวว่า นอกจากนี้ เรากำลังกลับเข้าสู่การสำรวจดวงจันทร์ เพราะมนุษย์คงไม่ได้อยู่แค่ดวงจันทร์ อาจจะไปสำรวจจักรวาล หรือกระบวนการ Gravity Assist หรือ Gravitational Slingshot คือกระบวนการสำคัญหากมนุษยชาติจะเดินทางสำรวจจักรวาลให้ไกลออกไปยิ่งกว่าวงโคจรระยะต่ำและระยะปานกลาง (LEO และ MEO) เช่น การออกไปสำรวจดวงจันทร์ หรือดาวอังคาร การออกไปตั้งสถานีอวกาศที่จุดยุทธศาสตร์สำคัญที่อยู่ที่รอยต่อระหว่างแถบแหวนอัลเลนจึงเป็นสิ่งสำคัญ

เส้นทางการสำรวจอวกาศในอนาคตคือการเดินทางออกจากโลกด้วยจรวด (ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้) และกระสวยอวกาศ เพื่อไปถึงสถานีอวกาศที่ลอยตัวอยู่ในวงโคจร และเริ่มต้นการเดินทางจากจุดนี้ ด้วยกระบวนการ Gravitational Slingshot ออกไปยังดาวเคราะห์จุดหมายปลายทางเพื่อให้สามารถเดินทางได้รวดเร็วที่สุด และใช้พลังงานอันเป็นต้นทุนสำคัญให้น้อยที่สุด ดังนั้น สงครามอวกาศจะแย่งจุดจอดนี้จะเกิดขึ้น

รศ.ดร.ปิติกล่าวว่า ปัญหาคือกฎหมาย เพราะเรามี The 1967 Outer Space Treaty (OST) ที่บอกว่าอะไรก็ตามที่อยู่ในอวกาศ หรือวัตถุต่างๆ ซึ่งหลายประเทศต้องการจะไปดวงจันทร์ หากประเทศใดไปดวงจันทร์ก่อน และอ้างสิทธิการเป็นเจ้าของก็ต้องบอกว่าไม่มีใครสามาเครมอำนาจอธิปไตยบนอวกาศได้ ซึ่งเรื่องพวกนี้จะเป็นเรื่องที่ต้องคิดต่อไป เพราะสงครามการขัดแย้งอยู่ใกล้ตัวเรามากขึ้น

ขณะเดียวกัน บน Cyberspace ไม่ได้มีเส้นเขตแดนของรัฐที่ชัดเจนเหมือนในภูมิศาสตร์กายภาพ (ซึ่งในความเป็นจริงชายแดนและเขตแดนของหลายๆ ประเทศก็ยังไม่มีเส้นแบ่งที่ชัดเจนเช่นกัน) คำถามที่สำคัญคือ การออกกฎหมาย กฎระเบียบ หรือ แม้แต่การปฏิบัติบังคับใช้กฎหมายของแต่ละประเทศที่มีอยู่แล้ว บนโลก Cyber ถือเป็นการยกเขตอำนาจอธิปไตยภายในประเทศของตนให้มีอำนาจนอกเขตประเทศ (Extraterritorial Jurisdiction หรือ Universal Jurisdiction) หรือไม่ แล้วถ้าเป็นสิ่งเหล่านี้ถือเป็นการละเมิดอำนาจอธิปไตยของประเทศ หรือรัฐอื่นๆ หรือไม่

รศ.ดร.ปิติกล่าวว่า ตัวอย่างของความยุ่งยากซับซ้อนในประเด็นนี้ อาทิ กฎหมายไทย ห้ามกระทำการบางอย่างในประเทศไทย แต่ถ้ามีผู้ละเมิดดำเนินกิจกรรมเหล่านั้นในประเทศไทย แต่ใช้ระบบเครือข่ายส่วนตัวเสมือน (VPN) ทำให้เสมือนว่าเขาดำเนินกิจกรรมเหล่านั้นมาจากต่างประเทศ และหากกิจกรรมเหล่านั้นเป็นภัยคุกคามต่อประเทศไทย เจ้าหน้าที่ไทยจะบังคับใช้กฎหมายไทยได้หรือไม่ และปัญหาจะยิ่งซับซ้อน

“หากเป็นกรณีของบางประเทศที่มีกฎหมายความมั่นคงทางไซเบอร์ที่เข้มข้น และมีกฎหมายที่มีประสิทธิภาพสูง และต้องการบังคับใช้กฎหมายเหล่านั้นในประเทศไทย คนไทยและกฎหมายไทยจะอนุญาตหรือไม่ ประเด็นเหล่านี้จะถูกมองเสมือนว่าเป็นการุกล้ำอำนาจอธิปไตยของไทยหรือไม่ หรือในทางกลับกัน พวกเราจะอยู่กันเช่นไร หากในที่สุดกิจกรรมอะไรที่เกิดขึ้นบนโลกไซเบอร์ก็ถือเป็นอิสระและเสรีภาพโดยไร้การควบคุม หรือ พื้นที่เหล่านี้กลายเป็นพื้นที่ๆปราศจากหลักนิติรัฐ นิติธรรม” รศ.ดร.ปิติระบุ

รศ.ดร.ปิติกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ นักวิชาการหลายๆ ท่านจะใช้คำเรียกฉากทัศน์นี้ว่า Internet Balkanization ซึ่งเป็นฉากทัศน์ที่หมายถึงการแบ่งแยกดินแดนต่างๆ บนโลกอินเตอร์เน็ตให้กลายเป็นเสมือนรัฐต่างๆ ที่มีพรมแดนที่ขีดเส้นชัดเจนลงไปเลย มีอำนาจอธิปไตยที่บังคับใช้บนพื้นที่ดังกล่าวเฉพาะในพื้นที่ๆ ตนถูกจำกัดอยู่เท่านั้น

“คำถามคือจะแบ่งเค้กครอบครองพื้นที่บนโลกไซเบอร์กันเช่นนั้นเลยหรือไม่ เพื่อให้ขอบเขตของอำนาจอธิปไตยเกิดขึ้นอย่างชัดเจน บังคับใช้กฎหมาย กฎเกณฑ์ กฎระเบียบต่างๆ ได้อย่างเต็มที่ ทุกประเทศสามารถมั่นใจในความมั่นคงของตนบนโลกออนไลน์ได้อย่างที่ตนเองต้องการ แต่แน่นอนว่ากว่าจะถึงจุดสมดุลนั้น ความขัดแย้งต่างๆ ก็คงจะเกิดขึ้นมากมาย เพราะต้องอย่าลืมว่า Cyberspace คือพื้นที่ที่มองไม่เห็น จับต้องไม่ได้ ตั้งป้อมค่ายคูประตูหอรบไม่ได้

หากสมมุติว่าสามารถสร้างเส้นเขตแดนแบ่งโลกอินเตอร์เน็ตกันได้จริงๆ นั่นก็นำมาซึ่งความย้อนแย้งที่เลวร้ายที่สุดอีกรูปแบบหนึ่งอยู่ดี นั่นคือ อุดมคติที่ว่าอินเตอร์เน็ต หรือ Cyberspace คือโลกไร้พรมแดนได้สูญหายมลายสิ้นไปแล้วนั่นเอง Global Open Internet/Cyberspace ก็จะกลายเป็นเพียง Utopia ที่ไม่ได้มีอยู่จริง

Cyber-Anarchy อนาธิปไตยไซเบอร์ ก็เป็นอีกหนึ่งความเป็นไปได้ที่เลวร้าย ลองจินตนาการดูว่าหากทุกคนมีเสรีภาพได้อย่างไร้ขีดจำกัด ไม่มีข้อจำกัดใดๆ แต่อย่างใด และหากเราไม่สามารถออกแบบโลกไซเบอร์ให้มีการบังคับกฎหมาย กฎระเบียบ และกฎเกณฑ์ต่างๆ ได้แล้วเราจะอยู่กันอย่างไร” รศ.ดร.ปิติกล่าว

รศ.ดร.ปิติกล่าวต่อว่า แน่นอนว่าองค์การระหว่างประเทศที่ต้องเข้ามามีหน้าที่ในการลดทอน บรรเทาเบาบาง ปัญหาความย้อนแย้งถือเป็นเรื่องจำเป็น แต่ก็ต้องอย่าลืมว่าองค์กรระหว่างประเทศเองก็มีความท้าทาย และข้อจำกัดของตนเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องธรรมาภิบาล การแทรกแซงของมหาอำนาจ ปัญหาขาดแคลนทรัพยากร ทั้งกำลังคน องค์ความรู้ งบประมาณ รวมทั้งทรัพยากรที่สำคัญที่สุด นั่นคือ “เวลา” เพราะต้องอย่าลืมว่าเทคโนโลยี ณ ปัจจุบัน พัฒนาไปอย่างรวดเร็วมาก

“ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องซับซ้อนจนเกินไปนักที่เราจะสามารถคาดการณ์ได้ว่า Cyberspace จะกลายเป็นความท้าทายใหม่ และอาจจะลุกลามจนกลายเป็นความขัดแย้งครั้งใหม่ในทางภูมิรัฐศาสตร์-เศรษฐกิจ” รศ.ดร.ปิติกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image