กังวลจีดีพี’67 ดิ่ง ‘ครม.เศรษฐกิจ’ เทคแอ๊กชั่น ลุ้นมาตรการเซอร์ไพรส์… ปั๊มศก.ไทย

กังวลจีดีพี’67ดิ่ง ‘ครม.เศรษฐกิจ’เทคแอ๊กชั่น ลุ้นมาตรการเซอร์ไพรส์...ปั๊ม ศก.ไทย

แม้เวลานี้สถานการณ์วิกฤตโควิดจะเบาบางลงไป จนกลายเป็นเพียงแค่โรคประจำถิ่น ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างหนักแล้ว แต่ดูเหมือนว่าเศรษฐกิจไทยประหนึ่งคนไข้ที่ยังไม่หายป่วย และอยู่ในภาวะฟื้นตัวไม่เต็มที่

ล่าสุด สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ แถลงถึงภาวะเศรษฐกิจไทย ระบุถึงการเติบโตของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ประจำไตรมาสที่ 1 ปี 2567 อยู่ที่ 1.5% ต่อปี เป็นการเติบโตแบบชะลอตัวลง เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2566 ที่ขยายตัว 1.9% ต่อปี

⦁จีดีพีไทยโตต่ำสุดในภูมิภาค

ปัจจัยที่มีผลสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1 ปี 2567 มีแรงส่งสำคัญมาจากการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวในเกณฑ์สูง 6.9% สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของภาคการส่งออกบริการ หรือการท่องเที่ยว ที่ขยายตัว 24.8% ขณะที่การลงทุนรัฐบาลยังลดลง 46.0% เนื่องจากความล่าช้าของกระบวนการงบประมาณรายจ่ายปี 2567 ส่งผลถึงภาคการก่อสร้างปรับตัวลดลง 17.3% รวมทั้งภาคการส่งออกที่เชิงมูลค่าที่ลดลง 1% ตามการลดลงของปริมาณส่งออก และการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมก็ปรับตัวลดลง 3% ต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 6

Advertisement

ขณะเดียวกัน เอกสารของสภาพัฒน์ยังระบุอีกว่า ในส่วนของเศรษฐกิจโลกไตรมาสแรกของปี 2567 ขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า ตามแรงส่งของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของหลายประเทศ โดยเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ขยายตัว 3.0% เศรษฐกิจยูโรโซน ขยายตัว 0.4% เศรษฐกิจญี่ปุ่น ลดลง 0.2% เศรษฐกิจจีน ขยายตัว 5.3% เศรษฐกิจเกาหลีใต้ ขยายตัว 3.4% และเศรษฐกิจไต้หวัน ขยายตัว 6.5%

ส่วนการเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1 ปี 2567 ของประเทศในภูมิภาคอาเซียนนั้น เศรษฐกิจสิงคโปร์ขยายตัว 2.7% เศรษฐกิจอินโดนีเซียขยายตัว 5.1% เศรษฐกิจมาเลเซียขยายตัว 4.2% เศรษฐกิจฟิลิปปินส์ขยายตัว 5.7% และเศรษฐกิจเวียดนาม ขยายตัว 5.7%

⦁หั่นจีดีพีตามทุกสำนัก

Advertisement

ในการแถลงสภาพัฒน์ยังได้ปรับลดประมาณการจีดีพีไทย ปี 2567 อยู่ที่ 2.0-3.0% (ค่ากลาง 2.5%) จากเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ได้ประมาณการการไว้ที่ 2.2-3.2% (ค่ากลาง 2.7%) โดยให้เหตุผลในการปรับลดมาจากความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกมีค่อนข้างมาก ทั้งเรื่องของการกีดกันทางการค้าในเวทีโลก เรื่องปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ และความผันผวนด้านการเงินและเศรษฐกิจโลก ส่วนปัจจัยภายในคือเรื่องภาคอุตสาหกรรม และการส่งออกที่ยังหดตัว ซึ่งมีสัดส่วนเยอะในจีดีพีไทย

สอดคล้องกับการประมาณการณ์จีดีพีปี 2567 ของอีกหลายหน่วยงาน อาทิ กระทรวงการคลัง ล่าสุดเมื่อปลายเดือนเมษายน ได้ปรับประมาณการจีดีพีปี 2567 เหลือ 2.4% ลดลงจากประมาณก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนมกราคม ที่ 2.8% ส่วนธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ล่าสุดเดือนเมษายน 2567 ยังคงคาดการณ์จีดีพีปี 2567 ไว้ที่ 2.6%

ส่วนฝั่งภาคเอกชน เช่น คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทยนั้น เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ได้ปรับประมาณการจีดีพีไทยปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัวได้ที่ 2.2-2.7% ลดลงจากประมาณการเดิมเมื่อเดือนก่อนหน้าที่ให้ไว้ 2.8-3.3%

ขณะเดียวกัน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีมุมมองต่อเศรษฐกิจไทยว่า มีแนวโน้มชะลอลงกว่าที่เคยประเมิน ได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวเติบโตมาอยู่ที่ 2.6% ลดลงคาดการณ์เดิมจาก 2.8% และศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS โดยธนาคารกรุงไทย จํากัด (มหาชน) ประเมินว่าเศรษฐกิจปี 2567 มีแนวโน้มเติบโตได้ 2.3% ต่ำกว่าประมาณการเดิมที่คาดไว้ 2.7%

⦁‘เศรษฐา’เรียกถกด่วน ครม.เศรษฐกิจ

หลังจากที่สภาพัฒน์แถลงภาวะเศรษฐกิจไม่นาน เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ออกแอ๊กชั่นทันที แม้จะติดภารกิจอยู่ต่างประเทศ โดยมีการโพสต์ผ่านแอพพลิเคชั่น เอ็กซ์ (X) ระบุว่า “กลับไปกรุงเทพฯจะประชุมรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจโดยเร็วครับ วันจันทร์ที่ 27 พฤษภาคม รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยครับ จะเรียกได้ว่าเป็นคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจอย่างไม่เป็นทางการก็ได้นะครับ”

ต่อมา นายกฯเศรษฐายังให้สัมภาษณ์อีกว่า ในวันจันทร์ที่ 27 พฤษภาคมนี้ เวลา 16.00 น. จะมีการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ซึ่งจะเรียกรัฐมนตรีและหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องมาพูดคุยกัน แต่ไม่ใช่เป็นการเรียกใครมาเพื่อต่อว่า แต่จะเป็นการมาพูดคุยหามาตรการ หรือไอเดียต่างๆ ที่จะต้องทำ ตั้งแต่เรื่องนโยบายและการเบิกจ่ายงบประมาณ เรื่องกฎหมายระหว่างประเทศ หรือคือการมานั่งแก้ไขปัญหากัน

“จีดีพีไตรมาสหนึ่งโตแค่เพียง 1.5% ต่ำที่สุดในอาเซียน ถ้าไม่มีภาคบริการที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว เราจะตกอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอย อันนี้น่าเป็นห่วง และยังมีอีกหลายเรื่องทั้งบัตรเครดิต หนี้เสีย และหนี้ครัวเรือน” นายกฯเศรษฐาระบุ

พร้อมกำหนดให้จัดการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจทุกวันจันทร์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป ขณะที่วันที่ 26 พฤษภาคม เวลา 18.00 น. นายกฯเศรษฐา นัดทานข้าวและพูดคุยกับ พิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อเตรียมการก่อนจะมีการประชุม ครม.เศรษฐกิจ

⦁พณ.-คลังเตรียมส่งการบ้านกู้จีดีพี

ด้าน ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระบุ ได้สั่งการให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ไปรวบรวมข้อมูลด้านเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาหารือในการประชุม ครม.เศรษฐกิจ ทั้งเรื่องเศรษฐกิจในและต่างประเทศ รวมทั้งแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการดูแลค่าครองชีพในประเทศ หรือการเพิ่มเป้าหมายส่งออกเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนมาตรการอะไรนั้น ต้องหารือกันในวง ครม.เศรษฐกิจก่อน

ขณะที่ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ระบุถึงการเตรียมพร้อมประชุม ครม.เศรษฐกิจว่า รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มีการเรียกพบเพื่อหารือถึงเรื่องเศรษฐกิจแล้ว 2-3 ครั้ง โดยเฉพาะเรื่องตัวเลขทางเศรษฐกิจ ที่ทางรัฐบาลมีการออกมาตรกระตุ้นไปหนักมาก แต่ตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสที่ 1 ปี 2567 ที่ออกมาขยายตัว 1.5% แม้จะสูงกว่าที่คาดการณ์กันไว้ แต่ยังต่ำสุดเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคอาเซียนเพราะฉะนั้น จึงได้มีการพูดคุยกับถึงเรื่องมาตรการใหม่

โดยในประชุม ครม.เศรษฐกิจ วันที่ 27 พฤษภาคม มีทั้งรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงเศรษฐกิจ รวมถึงหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง จะร่วมมาหารือเกี่ยวกับเศรษฐกิจ และการหามาตรการใหม่ เพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่ง ครม.เศรษฐกิจครั้งนี้ ถือเป็นการพูดคุยอย่างเป็นทางการครั้งแรก

“ในส่วนของกระทรวงการคลัง มีการทำการบ้านไว้แล้วเช่นกัน และพร้อมที่จะนำเสนอใน ครม.เศรษฐกิจ ซึ่งเชื่อว่าทุกๆ หน่วยงานก็เตรียมพร้อมเช่นกัน” จุลพันธ์กล่าว

⦁คาดไตรมาส2ดีกว่านี้

พร้อมระบุอีกว่า ตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1 ปี 2567 ที่ชะลอตัวลง เป็นผลจากภาคการส่งออก และภาคอุตสาหกรรมที่หดตัว รวมทั้ง งบประมาณปี 2567 ที่ออกมาล่าช้า แต่สิ่งที่ช่วยพยุงอยู่ก็คือ ภาคการบริการและท่องเที่ยว ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสที่ 2 ปี 2567 เชื่อว่าจะดีกว่านี้

“ขณะที่เรื่องของงบลงทุนภาครัฐ คาดว่ายังหดตัว เพราะงบประมาณ 2567 เพิ่งออกมาได้ 2-3 สัปดาห์ คงไม่มีอิมแพคกับเศรษฐกิจทันที เนื่องจากต้องใช้เวลาในการจัดซื้อจัดจ้างผูกพันงบประมาณ แต่จากที่ฟังรายงานจากกรมบัญชีกลาง การผูกพันงบประมาณ 2567 เป็นไปได้ด้วยดี การเดินหน้าเบิกจ่ายเป็นไปตามกรอบ ทุกหน่วยงานรัฐก็เตรียมความพร้อม ตามที่กรมบัญชีกลางมีมาตรการให้หน่วยงานรัฐเตรียมการจัดซื้อจัดจ้างไว้ล่วงหน้าก่อนงบประมาณออกจริง” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังระบุทิ้งท้าย

⦁ย้อนรอยประวัติศาสตร์ ครม.เศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม ช่วงที่นายกฯเศรษฐาเพิ่งเข้ารับตำแหน่งใหม่ๆ หรือประมาณเดือนกันยายน 2566 นั้น นายกฯเศรษฐายังไม่มีแนวคิดตั้งคณะรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ หรือ ครม.เศรษฐกิจ เพราะมองว่ายังไม่จำเป็น เสียเวลาในการเตรียมเอกสารค่อนข้างมาก จึงใช้วิธีทำงานอย่างรวดเร็วและจับกลุ่มพูดคุย แยกตัวกันทำงานดีกว่า ส่วนสาเหตุที่จัดประชุม ครม.เศรษฐกิจในครั้งนี้ นายกฯเศรษฐายอมรับว่า ส่วนหนึ่งเป็นคำแนะนำของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นผู้แนะนำมา

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ รัฐบาลเคยกดดัน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อให้ลดดอกเบี้ยนโยบาย จนเป็นกระแสความกังวลเรื่องของการแทรกแซง ซึ่งตอนนี้ก็มี พิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นกาวใจเชื่อมความสัมพันธ์แล้ว ในการประชุม ครม.เศรษฐกิจนัดแรกนี้คงราบรื่นดี

ทั้งนี้ การนัดประชุม ครม.เศรษฐกิจนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่รัฐบาลหลายๆ ชุดก่อนหน้านี้เคยดำเนินการ ซึ่งมีทั้งแบบการจัดประชุมเพื่อพูดคุยกันระหว่างกระทรวงเศรษฐกิจโดยเฉพาะ หรือแม้แต่แต่งตั้งเป็นชุดทำงานเฉพาะกิจ

หากย้อนกลับไป เมื่อปี 2562 ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา การมีคณะกรรมการที่ชื่อว่า “คณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ” ทำหน้าที่พิจารณากลั่นกรองเรื่องสำคัญที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวม โดยมี พล.อ.ประยุทธ์นั่งเป็นประธานด้วยตนเอง ไม่ได้ประชุมต่อเนื่องมากนัก พร้อมทั้งในช่วงวิกฤตภูมิรัฐศาสตร์ หรือต้นปี 2565 พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจขึ้น ดูแลเรื่องค่าครองชีพ โดยเฉพาะปัญหาราคาพลังงานสูง

ขณะที่รัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นรัฐบาลจากครอบครัวเพื่อไทยเช่นเดียวกัน มีการนัดประชุม “คณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ” เดือนมีนาคม 2555 มอบให้ กิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็น “รองนายกฯเศรษฐกิจ” เป็นประธาน ขณะนั้นเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากมหาอุทกภัย ปี 2554 ทำให้มูลค่าการส่งออกและดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมยังติดลบ และเผชิญกับปัญหาสถานการณ์เงินเฟ้อและราคาสินค้าแพง

นอกจากนี้ รัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยังมีการตั้ง “คณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ” หรือ รศก. ซึ่งอภิสิทธิ์นั่งหัวโต๊ะเองเช่นกัน กำหนดประชุมเป็นประจำ “ทุกวันพุธ” เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในภาวะเร่งด่วน พร้อมทั้ง ตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ หรือ กรอ.เศรษฐกิจ ที่ให้ รศก. ประชุมร่วมกับภาคเอกชน ทุกๆ 2-3 สัปดาห์

⦁เอกชนจี้รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้น

ด้านภาคเอกชน นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป และรองประธานกรรมการหอการค้าไทย วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ระบุตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 1 ปี 2567 ขยายตัว 1.5% แถลงโดยสภาพัฒน์ ไม่ได้สร้างความแปลกใจมากนัก แต่เพิ่มความกังวลมากขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจทั่วโลกถูกกดดันจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ และในประเทศมีปัญหาภัยแล้งส่งผลต่อเนื่องจากปลายปี 2566 ทำให้สินค้าเกษตรหลายตัวมีผลผลิตลดลง รวมถึงการใช้จ่ายของภาครัฐที่ยังไม่สามารถเบิกจ่ายออกมาได้

ทั้งนี้ แนวโน้มเศรษฐกิจยังดูไม่สดใสเท่าที่ควร ซึ่งขณะนี้มีการปรับ ครม.ใหม่แล้ว โดยเฉพาะกระทรวงการคลัง ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจเป็นหลัก มองว่าควรมีเครื่องมือออกมาช่วยกระตุ้นและขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป

ส่วนการภาคส่งออก ปีนี้ประเมินว่าคงโตได้ไม่เกิน 2% เนื่องจากสถานการณ์ความขัดแย้งของต่างประเทศ ดังนั้นสิ่งที่ได้ คือ การเติมเต็มเศรษฐกิจด้วยภาคการท่องเที่ยว ซึ่งการท่องเที่ยวไทยเป็นจุดเด่นเมื่อเทียบกับประเทศอื่น อาทิ การกระตุ้นเที่ยวเมืองรองด้วยการจัดอีเวนต์ชูอัตลักษณ์ท้องถิ่นให้น่าสนใจ และยิ่งในช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว (โลว์ซีซั่น) จะต้องหาอะไรมาดึงความสนใจให้ผู้คนอยากเข้าไปเที่ยวพักผ่อนมากขึ้น

“ในส่วนภาคการส่งออกหรือการค้าขาย อุตสาหกรรมการผลิต รัฐบาลต้องเร่งขับเคลื่อนเดินหน้าไปพร้อมกัน โดยสิ่งที่ภาคเอกชนต้องการให้รัฐบาลดำเนินการคือ การดูแลสภาพคล่องเป็นหลัก เพราะเรื่องดอกเบี้ยคงไม่ต้องพูดถึงแล้ว ปัญหาใหญ่คือ สภาพคล่องการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ ที่ต้องช่วยให้ผู้ประกอบการผ่านวิกฤตไปให้ได้รอจนธุรกิจเดินหน้าได้ด้วยตัวเองต่อไป ซึ่งส่วนนี้รัฐบาลต้องช่วยหาทางให้ธุรกิจเข้าถึงสภาพคล่องให้ได้ก่อน ไม่อย่างนั้นทุกคนต้องแบกรับภาระการผลิต ภาระสต็อกสินค้า แบบไม่มีตัวช่วย ทำให้บางรายเดินหน้าต่อไปได้ยาก” นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป และรองประธานกรรมการหอการค้าไทยระบุ

เกาะติด ครม.เศรษฐกิจนัดแรก จะสร้างเซอร์ไพรส์ โดนใจประชาชนขนาดไหน รอลุ้นเลย!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image