เบื้องลึกวิกฤต “นกแอร์” งัดข้อกัปตันประท้วงหยุดบิน กระทบลูกค้า-ภาพลักษณ์

โกลาหลวุ่นวายไปทั่วสนามบินดอนเมือง สำหรับการประกาศยกเลิกเที่ยวบินถึง 9 เที่ยวบิน โดยไม่ทราบสาเหตุของสายการบิน “นกแอร์” เมื่อช่วงบ่ายๆ วันวาเลนไทน์ 14 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ผ่านมา

หลังมีปัญหาเครื่องบินไม่สามามารถขึ้นบินได้ ขณะที่เครื่องบินจากต่างจังหวัด อาทิ อุบลราชธานี ก็ไม่สามารถขึ้นบินตามกำหนดได้ ทำให้ผู้โดยสารที่กำลังจะเดินทางไม่ต่ำกว่า 1,500 คน ต้องเสียเวลาและพลาดการเดินทาง ส่วนใหญ่แสดงความไม่พอใจและเรียกร้องให้ผู้บริหารแสดงความรับผิดชอบ และให้หามาตรการมาลงโทษสายการบิน

ขณะที่เจ้าหน้าที่ภาคพื้นประจำสนามบิน ออกมาชี้แจงว่า “ขัดข้องทางเทคนิค” เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในเบื้องต้น แต่สถานการณ์ก็ยังไม่มีท่าทีว่าจะยุติลงง่ายๆ

หลังจากเกิดเหตุการณ์ ชัดเจนว่า ไม่มีผู้บริหารนกแอร์ที่มีอำนาจในการตัดสินใจแก้ปัญหาได้ทันท่วงที ทำให้ผู้โดยสารเกิดความสับสนอลหม่าน

Advertisement

ร้อนถึง “เพชร ชั้นเจริญ” ผู้อำนวยการท่าอากาศยานดอนเมือง ต้องลุกขึ้นมาประสานงานกับเจ้าหน้าที่ของนกแอร์ เพื่อคลี่คลายปัญหาก่อนที่เรื่องจะบานปลายใหญ่โต

แม้เวลาจะล่วงเลยไป แต่ก็ยังไร้เงาไร้วี่แววที่ผู้บริหารจะประสานงานเข้ามายังการท่าอากาศยาน ทั้งๆ ที่ องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization หรือ ICAO ได้ประกาศปักธงแดงไทยบนเว็บไซต์ หลัง “สอบตก” การตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบิน เมื่อเดือนมิถุนายนปีที่ผ่านมา

ที่สำคัญ การคุ้มครองผู้บริโภคเป็นส่วนหนึ่งของมาตรฐานการบินตามที่ ICAO กำหนด

Advertisement

จึงไม่แปลกใจที่ “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งอยู่ระหว่างการปฏิบัติภารกิจที่ประเทศสิงคโปร์ทราบเรื่อง ก็เทกแอ๊กชั่นเรื่องนี้อย่างรวดเร็ว ด้วยการสั่งการให้ “ออมสิน ชีวะพฤกษ์” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ให้เข้าไปช่วยดูแลปัญหาอย่างเร่งด่วน

เวลาล่วงเลยมาจนถึงสี่ทุ่ม “พาที สารสิน” ซีอีโอ นกแอร์ จึงเดินทางมาตั้งโต๊ะแถลงข่าวที่สนามบินดอนเมือง เพื่อเร่งแก้ปัญหาผู้โดยสารตกค้าง ด้วยการประสานและนำเครื่องบินมาให้บริการเพื่อส่งผู้โดยสารไปยังเป้าหมาย

พร้อมกันนี้ยังระบุว่าการยกเลิกเที่ยวบินเกิดปัญหาจากมีนักบินกลุ่มหนึ่ง ประมาณกว่า 10 คน ได้ประท้วง เนื่องจากไม่พอใจที่บริษัทมีการปรับเพิ่มมาตรฐานการ Audit การบริหารงานของฝ่ายบิน โดยอิงมาตรฐานของเอียซ่า (European Aviation Safety Agency : EASA) ปรากฏว่า มีนักบินบางส่วนไม่ผ่านเกณฑ์ดังกล่าว จึงได้สร้างความไม่พอใจและประท้วงหยุดบิน

เย็นย่ำค่ำวันวันถัดมา มีรายงานข่าวในโลกออนไลน์ว่า นกแอร์ ได้เผยแพร่คำสั่งของประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) ที่ได้ลงนามในคำสั่งเลิกจ้าง นายศานิต คงเพชร ผู้จัดการแผนกรักษามาตรฐานการบินและนักบินผู้ควบคุมอากาศยาน โดยไม่จ่ายค่าชดเชยและเงินใดๆ เนื่องจากได้จงใจกระทำความผิดร้ายแรงต่อบริษัท

นอกจากนี้ ยังมีคำสั่งให้พักงานพนักงานในตำแหน่งรองผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายปฏิบัติการบิน/นักบินผู้ควบคุมอากาศยาน และผู้อำนวยการแผนกมาตรฐานการบินและนิรภัยการบิน/ผู้ควบคุมอากาศยาน เป็นเวลา 7 วัน และสอบสวนพนักงานอีก 7 คน

ถัดมา “ศานิต คงเพชร” อดีตผู้จัดการแผนกรักษามาตรฐานการบิน และนักบินผู้ควบคุมอากาศยาน ออกมาให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องที่เกิดขึ้น โดยออกมาตอบโต้ว่า ไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับมีการปรับเพิ่มมาตรฐานการ Audit การบริหารงานของฝ่ายบิน ตามที่ “พาที” ระบุ และเป็นปัญหาภายในองค์กร

พร้อมกับแฉว่า เรื่องที่เกิดขึ้นเกิดจากปัญหาการบริหารการจัดการภายใน ผู้บริหารไม่ได้ทำหน้าที่กำกับดูแลให้สมบูรณ์ ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา

นี่ไม่ใช่ความผิดพลาดครั้งแรกที่เกิดขึ้นกับนกแอร์ หากย้อนกลับไปเฉพาะเมื่อช่วงปีที่ผ่านมา สายการบินโลว์คอสต์ชื่อดังรายนี้ก็เคยมีปัญหาอยู่บ่อยครั้งจนกลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์

หากยังจำได้ ครั้งแรกเมื่อช่วงต้นปีที่แล้ว เดือนกุมภาพันธ์ นกแอร์ ไฟลต์จากน่าน-กรุงเทพฯ ก็เกิดปัญหาประตูหลังปิดไม่ได้ ผู้โดยสารไฟลต์นั้นซึ่งล้วนเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง นักธุรกิจ มหาเศรษฐีชั้นแนวหน้าของประเทศ นับสิบคนต้องลงมารับประทานข้าวกล่อง เพื่อรอเปลี่ยนเครื่องเดินทางกลับ

ถัดมา เวลาห่างกันอีก 6-7 เดือน นกแอร์ ก็สร้างข่าวใหญ่อีกครั้ง เมื่อระบบเช็กอินล่มนานกว่า 3-4 ชั่วโมง ตั้งแต่ช่วงตีสี่ยัน 8 โมงเช้า ทำให้ผู้โดยสารทั้งที่กรุงเทพฯ และสนามบินปลายทางในหลายๆ จังหวัด ทั้งขอนแก่น เชียงใหม่ หาดใหญ่ ภูเก็ต ฯลฯ ต้องตกเครื่องกันถ้วนทั่วหน้า

งานนี้ ซีอีโอ นกแอร์ ได้ออกมาแสดงความรับผิดชอบด้วย “คำขอโทษ” และชดเชยความเสียหายให้กับผู้โดยสารราวๆ 2 หมื่นคน ด้วยการแจกตั๋วฟรีคนละ 1 ใบ สำหรับเส้นทางในประเทศ

ครั้งนั้น “พาที” ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า “เราให้ตั๋วฟรี เพื่อเป็นการแสดงความขอโทษกับผู้โดยสารทุกคน ซึ่งวิธีการนี้เป็นการนำเอาสแตนดาร์ดของสหรัฐอเมริกามาใช้ เป็นการแสดงความรับผิดชอบและขอโทษที่ทำให้เสียเวลาและไม่ได้รับความสะดวก”

แต่ล่าสุด สแตนดาร์ดของนกแอร์ที่ว่าก็เกิดมีปัญหาอีกครั้งจนได้ และกลายเป็นภาพลบที่ซ้ำเติมให้ภาพลักษณ์ของสายการบินแห่งนี้ย่ำแย่มากขึ้นไปอีก

และเป็นที่มาของการที่ รมว.คมนาคม ต้องเรียกผู้บริหารนกแอร์มาตักเตือน พร้อมกำชับให้เร่งทำแผนแก้ปัญหาเฉพาะหน้าโดยด่วน ทั้งยังสั่งการให้สายการบินทั้ง 41 สายการบินจัดทำแผนฉุกเฉินและแผนบริหารความเสี่ยงมาส่งภายใน 1 เดือน นอกจากนี้ ยังได้รายงานกรณีปัญหาของนกแอร์ ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาได้รับทราบ และที่ประชุม ครม. ยังมีความเห็นตรงกันว่าต้องเชิญบริษัทนกแอร์มาตักเตือน

มีมาตรการคาดโทษนกแอร์ ว่า ถ้าเกิดเหตุการณ์เป็นครั้งที่สองจะต้องพักใบอนุญาต และหากเกิดเหตุการณ์เป็นครั้งที่สาม จะต้องเพิกถอนใบอนุญาตการบินทันที

ถือเป็นอำนาจของรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม

ประเด็นสำคัญคือให้นกแอร์เร่งจัดทำแผนแก้ไขปัญหาระยะสั้น ส่งให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาภายใน 3 วัน ที่ต้องมีความชัดเจนถึงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า

หลังการประชุมร่วมกับกระทรวงคมนาคม “พาที” ออกมายอมรับว่า นกแอร์มีปัญหาเรื่องนักบินขาด

จากปัญหาที่เกิดขึ้น จึงมีแผนจะปรับลดเที่ยวบินลงอีก 10-15% เพื่อให้สอดรับกับสภาพความเป็นจริง ซึ่งปัจจุบันมีนักบินอยู่ประมาณ 130 คน และมีแผนจะรับเพิ่มอีก 20-30 คนภายในเดือนมีนาคม-เมษายนนี้

พร้อมกันนี้ ซีอีโอ นกแอร์ ยังยืนยันว่า พร้อมส่งรายงานแผนรับมือกรณีฉุกเฉินต่อคมนาคมในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ อย่างแน่นอน

นอกจากจะต้องติดตามการส่งแผนให้กระทรวงคมนาคมแล้ว ยังต้องติดตามกันต่อไปว่า สายการบินนกแอร์จะหาทางบินฝ่ามรสุมลูกใหญ่ที่ถือเป็นวิกฤตด้านภาพลักษณ์และความเชื่อถือให้กลับคืนมาได้อย่างไร ท่ามกลางการแข่งขันที่เข้มข้นของธุรกิจสายการบิน

โดยเฉพาะสมรภูมิ โลว์คอสต์ ที่กำลังร้อนระอุอยู่ในขณะนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image