‘ครูวิภา’ ไม่ขอรับบริจาค เผย 2ศิษย์แจ้งปิดหนี้ 5 รายไม่มีเงิน 10รายหายกลีบเมฆ เพื่อนๆ เด็กอาสาช่วยตาม

กรณีน.ส.วิภา บานเย็น หรือครูวิภา อายุ 47 ปี ผู้บริหารโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดกำแพงเพชร ได้เป็นผู้ค้ำประกันกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.)ให้นักเรียนที่เป็นผู้กู้ยืมตั้งแต่ปี 2541-2542 จำนวน 60 ราย แต่มีลูกศิษย์ที่ค้างชำระหนี้ กยศ. จนถึงขั้นบังคับคดีกับครูที่เป็นผู้ค้ำประกัน ทำให้ครูวิภาถูกยึดทรัพย์ โดยจาก 60 ราย มีผู้กู้ที่ชำระหนี้ปิดบัญชีเรียบร้อยแล้ว 29 ราย ชำระหนี้ตามปกติ 10 ราย ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีทั้งสิ้น 21 ราย ในจำนวนคดีที่ถูกฟ้องร้องมีการยึดทรัพย์แล้ว 4 ราย หลังการที่ฟ้องคดีได้มีการสืบทรัพย์ ซึ่งทั้ง 4 รายนี้ กยศ. และ สำนักงานบังคับคดี จังหวัดกำแพงเพชร ดำเนินการถอนการยึดทรัพย์ครูวิภาแล้ว และหากครูวิภาต้องการไล่เบี้ยคืนจากลูกศิษย์ กยศ. พร้อมในการจัดหาทนายเพื่อดำเนินการฟ้องร้องให้ เหลืออีก 17 ราย ที่ขณะนี้ อยู่ในขั้นตอนการบังคับคดี ซึ่งทั้ง 17 รายนี้คิดเป็นเงินต้นที่ค้ำประกันประมาณ 190,000 บาทยังไม่รวมดอกเบี้ย แต่หากคิดรวมดอกเบี้ยอยู่ที่ประมาณ 300,000 บาท โดยล่าสุด กยศ.ประสานกับกรมบังคับคดีชะลอการยึดทรัพย์เพื่อช่วยเหลือครูวิภาเบื้องต้นนั้น

เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม ครูวิภา เปิดเผยว่า ตนค้ำประกันให้นักเรียน ม.4 จำนวน 60 คนที่กู้กองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.) เมื่อปี 2541 และเมื่อเด็กกลุ่มนี้ขึ้นม.5 ในปี 2542 ตนก็ยังคงค้ำประกันให้อยู่ซึ่งเป็นเงินกู้กยศ.สำหรับค่าเล่าเรียนและค่าครองชีพ สมัยนั้นกองทุน กยศ.เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ๆ กำหนดให้มีคนค้ำประกัน 1 คน ตนคิดว่าเด็กกลุ่มนี้ลำบากอยู่กับตายายเพราะพ่อแม่ไปทำงานอีกจังหวัด ตนเป็นที่ปรึกษาให้กับเด็ก จึงได้เซ็นค้ำประกันให้ แต่พอเด็กกลุ่มนี้ขึ้นม.6 ครอบครัวของเด็ก ก็ค้ำประกันกันเอง ตนไม่ได้ค้ำประกันให้อีก

ครูวิภา กล่าวต่อว่า หลังจากจบม.6 เด็กก็แยกย้ายกันไป กระทั่งในปี 2551 ตนได้รับหมายศาลให้ไปไกลเกลี่ยที่ศาล ตนจึงได้ไปตามเด็กที่บ้าน เด็กบอกว่าไม่มีเงินก้อนไปปิดบัญชีในวันที่ 31 พฤษภาคม 2551 ตามที่ศาลสั่ง ก็ไปไกลเกลี่ยกันที่ศาล ศาลก็ให้ผ่อนชำระเดือนละ 600 บาท เป็นเวลา 10 ปี หลังจากนั้นก็ไม่ได้ข่าวอะไรอีก จู่ๆ ในปี 2561 ศาลก็สั่งให้ยึดทรัพย์โดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า ถ้ามีมาแจ้งล่วงหน้าว่าลูกศิษย์ไม่จ่ายเงินตามที่มีการไกล่เกลี่ย ศาลจะยึดทรัพย์คนค้ำประกัน ถ้ามีหนังสือแจ้งล่วงหน้ามาแบบนี้ ตนยังจะได้ไปตามเด็กได้ เพราะแค่หมายศาลให้ไปไกลเกลี่ย ตนยังไปตามเด็กถึงบ้านเลย แต่นี่ไม่มีหนังสือแจ้งเตือนใดๆ เลย จู่ๆ ก็มายึดที่ดินพร้อมบ้าน และที่ดินเปล่าอีกแปลง

ครูวิภา กล่าวต่อว่า ในจำนวน 60 คนที่ค้ำประกันในปี 2541-2542 นั้น มีผิดนัดชำระหนี้ 21 ราย โดยในจำนวนดังกล่าว มี 4 ราย ที่ตนจ่ายในส่วนที่ค้ำประกันไปแล้ว เฉลี่ยรายละ 25,000 บาท โดย 1 ใน 4 รายดังกล่าวได้ติดต่อไปที่กองทุน กยศ.และปิดบัญชีแล้ว พร้อมทั้งโอนเงินคืนตนแล้ว ส่วนอีก 3 รายแจ้งว่าไม่มีเงินก้อน จะขอทยอยจ่ายคืน ทั้งนี้ใน 3 รายนี้ มี 2 รายที่ยังต้องชำระหนี้กยศ.ต่อ เพราะในส่วนที่ตนจ่ายค่าค้ำประกันให้นั้นยังไม่ครอบคลุมทั้งหมด เด็กยังเหลือหนี้ที่ค้างจ่ายกยศ.รายละประมาณ 8,000-12,000 บาท นอกจาก 4 รายดังกล่าวแล้ว ยังมีอีก 2 รายที่โทรมาแจ้งตนว่าจะปิดบัญชีในวันนี้ (26 กรกฎาคม) ส่วนอีก 15 คนที่เหลือนั้น มี 5 คนที่ติดต่อมาหาตน โดยขอหารือว่าจะทำอย่างไร เพราะไม่มีเงินก้อน ตนก็แนะนำว่าจะให้ไปติดต่อที่ธนาคารกรุงไทย เพื่อตรวจสอบว่ายังเหลือเงินค้างเท่าไหร่ ก็ให้จ่ายส่วนที่ค้างก่อนเพื่อทำให้บัญชีการชำระเงินกลับมาเป็นปกติ จากนั้นก็ให้จ่ายเงินตามที่ไกลเกลี่ยที่ศาล หรือถ้ามีเงิน ก็ให้ปิดบัญชีไปเลย ส่วนที่เหลืออีก 10 คน ตนไม่ทราบว่าเด็กๆ เหล่านั้น แยกย้ายไปอยู่ที่ไหนกันบ้าง แต่เพื่อนๆ ของเด็กซึ่งเป็นลูกศิษย์ แจ้งว่าจะช่วยติดตามเด็กๆ ทั้ง 10 คนนั้นให้

Advertisement

“กรณีที่ถูกยึดบ้านพร้อมที่ดินซึ่งราคาประเมินอยู่ที่ 1.1 ล้านบาท และที่ดินเปล่าอีกแปลงราคา 6 แสนนั้น เป็นทรัพย์ที่ถูกยึดจากการฟ้องเด็ก 2 ราย ทั้งนี้ในวันที่แถลงข่าวร่วมกับกยศ. ครูก็สอบถามเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องว่าทำไมถึงได้ยึดทรัพย์ที่มีมูลค่าสูงกว่าหนี้มาก ก็ได้คำตอบว่าเพราะที่ดินกับบ้านแยกจากกันไม่ได้ เลยต้องยึดทั้งหมด” ครูวิภา กล่าว

ครูวิภา กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่มีเฟซบุ๊กเพจหนึ่งนำรายชื่อและภาพเด็กไปแฉ พร้อมระบุว่าเด็กกินอยู่อย่างหรูหรา ใช้ชีวิตสบาย แต่กลับไม่ใช้หนี้กยศ.นั้น ชี้แจงว่าเพจดังกล่าว ตนไม่มีส่วนรู้เห็นด้วย และไม่ได้มาขอข้อมูลจากตนด้วย เพราะข้อมูลของผู้กู้ที่ค้างชำระหนี้นั้น มีแค่กยศ.เท่านั้นที่ทราบ ขนาดตนถ้าไม่ได้รับแจ้งจากกยศ. ก็ไม่มีทางทราบเลยว่ามีลูกศิษย์รายใดบ้างที่ค้างชำระกู้ ส่วนที่ถามว่าลูกศิษย์กินอยู่สบายนั้น ชี้แจงว่าหลังจากที่เด็กจบม.6 แล้วเด็กก็แยกย้ายกันไป บางคนก็ไปเรียนต่อ บางคนก็ไปทำงาน แต่ละรายเมื่อผิดนัดชำระหนี้ จึงถูกฟ้องร้องไม่พร้อมกันซึ่งมีตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปี 2561 หลังเด็กจบม.6 ตนก็ไม่ได้ติดต่ออีกเลย ทำให้ไม่ทราบว่าใครเป็นอยู่อย่างไร ใช้ชีวิตอย่างไร และตนไม่ขอเข้าไปรับรู้เพจดังกล่าวด้วย

ครูวิภา กล่าวต่อว่า ตนไม่รู้ว่าเพจดังกล่าวทำขึ้นด้วยวัตถุประสงค์อะไร ถ้าหวังดีกับตน ก็ขอขอบคุณ แต่ความหวังดีก็อาจส่งผลทั้งร้ายและดีได้ เพราะอย่างที่ตนบอก ตนไม่เคยมีเจตนาที่จะนำรายชื่อลูกศิษย์มาเปิดเผยออกสื่อหรือประจาน ถ้าจะทำ ตนทำไปนานแล้ว ตนทำเองไม่ดีกว่าหรือ ไม่ยืมมือใครหรอก แต่อย่างที่บอกในวันแถลงข่าว ไม่เคยคิดเอาชื่อเด็กออกมาเปิดเผยกับสื่อ ขนาดตำแหน่งตนและโรงเรียน นักข่าวถาม ตนก็ไม่บอก มีแต่นักข่าวที่ไปสืบกันเองซึ่งตรงนี้ก็เป็นความสามารถของสื่อ

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามว่า เพราะเพจดังกล่าวแฉรายชื่อเด็ก ทำให้เด็กติดต่อครูเพื่อขอปิดบัญชี ครูวิภากล่าวว่า ตนขอขอบคุณ แต่ความจริงไม่ต้องทำถึงขนาดเอาชื่อเด็กและภาพเด็กออกมาเปิดเผยก็ได้ ตนเชื่อว่าศิษย์ที่ตนสอนมามีความคิดดี ส่วนที่ถามว่าศิษย์ทำถึงขนาดนี้ ยังมองโลกในแง่ดีว่าศิษย์ยังจะคิดดีนั้น ส่วนตัวในความเป็นครู ก็ต้องมีความหวังว่าศิษย์ที่เราสอนมา จะมีความคิดดี ส่วนตัวเชื่อแบบนั้นด้วย แต่ที่ตนถูกยึดทรัพย์ ทำไมไม่คิดบ้างว่าเกิดจากระบบการติดตามทวงหนี้ของกยศ.บกพร่อง กยศ.โดยธนาคารกรุงไทย ทำหน้าที่ติดตามเด็กยังไม่ดีพอหรือไม่ เพราะธนาคารมีข้อมูลเด็กทุกคนอยู่แล้วว่าเป็นใคร ทำอะไรอยู่ที่ไหน ทำไมไม่ติดตามหนี้ แล้วเด็กที่ถูกฟ้องทั้ง 2 รายซึ่งเป็นผลให้ตนถูกยึดทรัพย์นั้น ธนาคารกรุงไทยก็มีข้อมูลอยู่แล้ว เพราะเด็กผ่านกระบวนการไกล่เกลี่ยแล้ว ธนาคารมีข้อมูลอยู่แล้วว่าเด็กทำอะไรอยู่ที่ไหน แล้วทำไมธนาคารกรุงไทยไม่ติดตาม ทำไมถึงปล่อยให้ค้างหนี้จนมาถึง 10 ปี ถ้าเด็กขาดการชำระหนี้ 1-2 งวด ธนาคารก็ควรติดตามแล้ว แต่นี่กลับปล่อยให้ครบกำหนดบังคับคดี 10 ปีแล้วมายึดทรัพย์

“ไม่ได้อยากตำหนิกยศ. แต่อยากสะท้อนระบบการติดตามหนี้ของกยศ. ว่าที่ครูถูกยึดทรัพย์ บางทีไม่ใช่เกิดจากเด็ก แต่เกิดจากระบบติดตามทวงหนี้บกพร่องด้วยหรือไม่ จริงๆ แล้วไม่ควรรอจนครบ 10 ปีแล้วมายึดทรัพย์ แค่เด็กค้างชำระ 1-2 งวด ธนาคารกรุงไทยก็ควรไปติดตามแล้ว อยากให้กยศ.ตั้งเป้าหมายที่จะลดจำนวนผู้กู้ที่มาชำระหนี้ มากกว่าที่จะมุ่งทำสถิติเรื่องฟ้องร้องลูกหนี้” ครูวิภา กล่าวและว่า ส่วนกรณีที่มีคนจะเปิดรับบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือตนนั้น ตนยืนยันว่าไม่ขอรับบริจาค

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 25-26 กรกฎาคมที่ผ่านมา เฟซบุ๊กเพจดังแห่งหนึ่งได้เผยแพร่รายชื่อเด็กที่ค้างชำระหนี้ว่าเป็นใครบ้าง โดนฟ้องปีไหนและมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร โดยมีการนำเฟซบุ๊กของเด็กเหล่านั้นมาเปิดเผย ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ชีวิตหรูหรากินอยู่สบาย และหากเด็กรายไหน ปิดบัญชีแล้ว เพจดังกล่าวจะลบนามสกุลของเด็กออก ซึ่งในส่วนของครูวิภา ยืนยันว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับเพจดังกล่าว ไม่มีส่วนรู้เห็นและไม่เห็นด้วยที่เพจประจานเด็ก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image