กอปศ. นำร่อง ‘อ่างขางโมเดล’ 5 ร.ร.ในเชียงใหม่ ให้อิสระ ร.ร.ด้าน ‘งบ-วิชาการ’

เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม ที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) เปิดเผยภายหลังการประชุม กอปศ.ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ซึ่งขณะนี้ทำเสร็จแล้ว จะนำเสนอรัฐบาลต่อไป และจะจัดเวทีชี้แจงประชาชนต่อไป นอกจากนี้ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่อง โครงการการจัดการศึกษากลุ่มโรงเรียนพื้นที่สูงและถิ่นทุรกันดาร (อ่างขางโมเดล) เนื่องจากใน พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ กำหนดให้โรงเรียนมีอิสระในการบริหารจัดการ จะเป็นแห่งเดียวหรือเป็นการรวมกลุ่มของโรงเรียนขนาดเล็กก็ได้ ซึ่งโครงการนี้จะบุกเบิกและพัฒนาโรงเรียนให้เป็นอิสระ

ด้านนางเรียม สิงห์ทร กรรมการ กอปศ. กล่าวว่า กอปศ.บุกเบิกโครงการอ่างขางโมเดลในโรงเรียนใน จ.เชียงใหม่ 5 แห่ง ประกอบด้วย โรงเรียนเทพศิรินทร์ 9 โครงการหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ (ดอยอ่างขาง), โรงเรียนบ้านขอบด้ง, โรงเรียนบ้านหลวง, โรงเรียนบ้านผาแดง, และโรงเรียนสันติวัฒนา แต่ละแห่งมีเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ที่แตกต่างกัน ซึ่งอ่างขางโมเดล จะเป็นโรงเรียนที่มีอิสระในการบริหารจัดการ กอปศ.จะทดลองนำร่องว่าสามารถทำได้หรือไม่ หากสำเร็จจะต่อยอดไปโรงเรียนในพื้นที่สูงอื่นๆ ด้วย โดยจะให้โรงเรียนเหล่านี้มีอิสระในการบริหารจัดการ 2 ด้านด้วยกัน คือ 1.ด้านงบประมาณ และ 2.ด้านวิชาการ

“ส่วนการประเมินผล จะประเมินสมรรถนะผู้เรียน 10 สมรรถนะ ได้แก่ 1.ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร 2.คณิตศาสตร์ในชีวิตประจำวัน 3.การสืบสอบทางวิทยาศาสตร์และจิตวิทยาศตร์ 4.ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร 5.ทักษะชีวิตและความเจริญแห่งตน 6.ทักษะอาชีพและการเป็นผู่ประกอบการ 7.ทักษะการคิดขั้นสูงและนวัตกรรม 8.การรู้เท่าทันสื่อสารสนเทศและดิจิทัล 9.การทำงานแบบรวมพลังเป็นทีมและภาวะผู้นำ และ 10.การเป็นพลเมืองตื่นรู้ และสำนึกสากล ซึ่งทั้ง 10 สมรรถนะ จะช่วยให้เด็กไทยมีคุณสมบัติเป็นคนฉลาดรู้ มีความสามารถสูง ใส่ใจสังคม” นางเรียมกล่าว

นางเรียมกล่าวต่อว่า ส่วนกลางจะให้อิสระแก่โรงเรียน 5 ด้าน ดังนี้ 1.หลักสูตรและการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น 2. จัดการเรียนการสอนเชิงรุก Active Learning และ PLC 3.การประเมินผลเน้นสมรรถนะหลัก 10 ข้อ 4.การขับเคลื่อนโดยบริหารครู บุคลากรทางการศึกษา ชุมชนและคณะกรรมการในพื้นที่ และ 5.การมีส่วนร่วมและรับรองคุณภาพจากภาคีเครือข่าย  ทั้งนี้ ต้องได้รับความร่วมมือจากพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานการศึกษาทั้งระดับจังหวัดและท้องถิ่น ผู้ปกครองและประชาชนทั่วไป และจะขอความร่วมมือจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มาร่วมขับเคลื่อนด้วย

Advertisement
เรียม สิงห์ทร

นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการ สกศ.กล่าวว่า โครงการนี้จะเป็นโครงการหนึ่งที่ กอปศ. พยายามชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่กำหนด ในแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาและ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ สามารถเป็นจริงได้ สาระหลักของโครงการนี้คือ 1.โรงเรียนหรือ กลุ่มโรงเรียนจะต้องเป็นอิสระ 2.ร่วมกันทำงานแบบรูณาการ ไม่ว่าจะเป็น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ศึกษาธิการจังหวัด(ศธจ.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง 3.โครงการอ่างขางนี้ จะคล้ายกับโรงเรียนประชารัฐ หรือโรงเรียนร่วมพัฒนา Partnership School ซึ่งนายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้ดูแลเรื่องนี้ พิจารณารับโรงเรียนทั้ง 5 แห่ง เข้าอยู่โรงเรียนประชารัฐ คาดว่าจะดำเนินการให้เกิดโครงการนี้โดยเร็ว เดือนหน้าจะเริ่มหารือร่วมกันเพื่อจัดทำโครงการนี้

ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์

 

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image