โซเชียล ไม่เอา “อธิการวัยเกษียณ” ลั่น แก่แล้วเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่โตบ้าง

จากกรณี นายศักดา นาสองสี ประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา กล่าวว่า จากกรณีมีผู้บริหารมหาวิทยาลัยราชภัฏและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอายุเกิน 60 ปี ว่า ตาม พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยราชภัฏได้ระบุไว้ชัดเจนว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏเป็นนิติบุคคลและเป็นหน่วยงานราชการ ฉะนั้นตามกฏหมายและระเบียบทางราชการแล้วผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปี จะต้องเกษียณราชการเหมือนหน่วยงานราชการทั่วไป ทั้งนี้ต้องเข้าใจว่าตนเองและคณาจารย์ในมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาซึ่งเรียกร้องเรื่องนี้มาตลอด ไม่ได้มีอคติหรือรังเกียจเรื่องตัวบุคคลแต่พิจารณาที่กฏหมายกำหนดไว้เป็นหลักการ

“ปัจจุบันผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปี ในมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาจะต้องใช้เงินรายได้ของมหาวิทยาลัยจ่าย โดยไม่ได้ใช้งบประมาณแผ่นดิน ในขณะถ้าผู้เข้ามาดำรงตำแหน่งสายบริหารอายุไม่เกิน 60 ปี ก็สามารถใช้งบประมาณแผ่นดินได้ ส่วนงบรายได้ของมหาวิทยาลัยก็สามารถนำไปพัฒนาด้านอื่นๆได้ เช่น การพัฒนาการเรียนการสอน หรือ การเพิ่มประสิทธิภาพโดยใช้นวัตกรรมในการจัดการเรียนการสอน เป็นต้น ที่ผ่านมาที่ประชุมสภาคณาจารย์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ได้เรียกร้องเรื่องนี้มาตลอดและมีเหตุการณ์ฟ้องร้องกรณีนี้เกิดขึ้นหลายสถาบัน ล่าสุด ที่มรภ.กาญจนบุรี ศาลปกครองสูงสุดได้ตัดสินว่า รักษาการอธิการบดี จะมีอายุเกิน 60 ปี ไม่ได้ เพราะตำแหน่งอธิการเป็นตำแหน่งผู้บริหาร รักษาการอธิการบดี ก็คือผู้บริหารเช่นกัน ฉะนั้นกลุ่มผู้บริหาร ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่ง อธิการบดี, รองอธิการบดี ,ผู้ช่วยอธิการบดี ,คณบดี และ ผู้อำนวยการศูนย์สำนักต่างๆภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏ จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบทางราชการ คือ เมื่อมีอายุถึง 60 ปี จะต้องเกษียณราชการ และผู้มีอายุเกิน 60 ปี จะเข้ามาดำรงตำแหน่งต่างๆในกลุ่มบริหารไม่ได้ เพราะเป็นการกระทำผิดกฎหมาย”นายศักดา กล่าว

มติชนออนไลน์ ขอเชิญร่วมแสดงความคิดเห็น ท่านเห็นด้วยหรือไม่ที่คนอายุเกิน 60 ปี เข้าไปนั่งในตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัย และควรเพิ่มการเกษียณอายุราชการเพิ่มจากอายุ 60 ปี หรือไม่

ผลจากการแสดงความคิดเห็น พบว่า 9% ของผู้ที่แสดงความคิดเห็นผ่านทวิชเตอร์เห็นว่า แม้อายุเกิน 60 ปีแล้วก็ยังสามารถเป็นอธิการบดีในมหาวิทยาลัยได้ ขณะที่ 64% ไม่เห็นด้วย และ 27% ระบุว่าแล้วแต่บุคคล

Advertisement

สำหรับการแสดงความคิดเห็นผ่านทางเฟชบุ๊กนั้น พบว่า เกือบทั้งหมดของผู้ที่เข้ามาแสดงความคิดเห็น ไม่เห็นด้วยหากจะให้ผู้ที่เกษียณอายุราชการไปแล้ว กลับมาทำหน้าที่เป็นอธิการบดีในมหาวิทยาลัย โดยให้เหตุผลไปในทางเดียวกันว่า คนที่เกษียณอายุไปแล้ว ไม่ควรมาทำหน้าที่บริหารงานด้านการศึกษาอีกแล้ว อาจจะเป็นได้ก็แค่ที่ปรึกษา เท่านั้น ควรพักผ่อนอยู่กับบ้าน ทั้งนี้เพื่อเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้เติบโตในสายงานด้านเดียวกันนี้บ้าง เพราะหากคนรุ่นนี้ไม่ยอมออกจากตำแหน่ง คนรุ่นใหม่ก็ไม่มีโอการเจริญเติบโต

” อธิการ ควรเปลี่ยนทุก 4 ปี เพราะจะได้มีคนใหม่ เข้ามาทำงานบ้าง องค์กรจะได้เดินหน้าอะไรใหม่ๆ อาคนรุ่นใหม่ ไฟแรงดีกว่า ทั้งวิสัยทัศน์ และ ความรู้ ประเทศที่เจริญแล้วเขาให้คนรุ่นใหม่บริหาร ส่วนคนแก่นั้นให้เป็นที่ปรึกษาก็พอ อย่าถึงกับให้บริหารเต็มตัวเลย ที่สำคัญงานบริหารการศึกษา ไม่จำเป็นต้องเอาคนที่มีประสบการอะไรมากนัก คนแก่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยสนใจเทคโนโลยีและการวิจัย ไม่เหมาะกับยุคปัจจุบัน อายุ 60 ปี ถือว่าเหนื่อยมาทั้งชีวิตแล้ว ควรปล่อยวางในหน้าที่การงาน พักผ่อนอยู่กับบ้านดีที่สุด ทั้งนี้ หลายมหาวิทยาลัยที่มีอธิการบดีเป็นคนรุ่นใหม่ มหาวิทยาลัยนั้น จะเจริญกว่า มหาวิทยาลัยที่มีอธิการบดีที่อยู่ในวัยเกษียณอายุอย่างมาก”

อย่างไรก็ตาม มีผู้ที่แสดงความคิดเห็นว่า แล้วแต่บุคคล คือ พิจารณาเป็นรายคนไปว่าคนๆนั้นมีความเหมาะสมมากแค่ไหน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image