เรียนไทยได้จีน : นิทานสุภาษิตจีน (130) 成语故事 (一百三十)

(ที่มาภาพ https://image.baidu.com)

นิทานสุภาษิตจีนที่ “เรียนไทยได้จีน” จะนำเสนอในฉบับนี้คือ 三长两短/三長兩短sān chánɡ liǎnɡ duǎn (ซาน ฉาง เหลียง ตวั่น) โดย คำว่า 三sān (ซาน) แปลว่า สาม 长/長chánɡ (ฉาง) แปลว่า ยาว 两/兩liǎnɡ (เหลี่ยง) แปลว่า สอง 短 duǎn (ตวั่น) แปลว่า ยาว เมื่อนำมารวมกันแปลว่า สามยาวสองสั้น หรือยาวสามสั้นสอง เป็นสุภาษิตที่ใช้อธิบายถึงความโชคร้าย การสูญเสียถึงขั้นเสียชีวิต การประสบกับภัยพิบัติที่อันตรายถึงชีวิต ชื่อสุภาษิตคำนี้มีที่มาหลากหลาย ต่างก็ว่ากันไป แต่ในบทความนี้นำเสนอที่มาของคำที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ของจีนด้วย

จีนในยุคสมัยรัฐศึกตอนต้น 战国初期/戰國初期 Zhàn Guó chūqí(จ้าน กั๋ว ชูฉี) เหล่าขุนศึกเจ้านครรัฐต่างๆ ช่วงชิงความเป็นใหญ่ในแผ่นดิน จนแผ่นดินลุกเป็นไฟ ประชาชนเดือดร้อนกันทุกหย่อมหญ้า ชาติรัฐใหญ่น้อยผลัดกันเกิดและดับสูญไป ตลอดเวลาเกือบสองร้อยปี จนกลับมารวมเป็นหนึ่งได้อีกครั้งโดยจิ๋นซีฮ่องเต้

เนื่องจากมีศึกสงครามบ่อยมาก การศึกในยุคนั้นจำเป็นต้องใช้มีดดาบและหอกจำนวนมาก ช่างตีเหล็กก็เป็นที่ต้องการของทุกรัฐ มียอดช่างตีเหล็กนามว่า 欧冶子/歐冶子 Ōu Yězi (โอว เหฺย่จื่อ) มีคำเล่าลือว่า มีดดาบที่เขาตีได้นั้น ทั้งคมกริบและแข็งแกร่ง ยากที่จะหาใครเทียมทานได้ เหล่าขุนศึก และเหล่าจอมยุทธ์จึงต้องการมีดดาบของเขาอย่างยิ่ง มีครั้งหนึ่งช่างโอว เหฺย่จื่อ ได้ตีมีดดาบขึ้นมาชุดหนึ่ง จำนวนห้าเล่ม มีดดาบแบบยาว 3 เล่ม แบบสั้น 2 เล่ม ล้วนมีชื่อดังนี้ 纯钧Chún jūn (ฉุน จวิน) 磐郢pán yǐnɡ (ผาน อิ่ง) 湛卢/湛盧zhàn lú (จ้าน หลู) 巨阙jù quē (จฺวี้ เชฺว) และ 鱼肠/魚腸yú chánɡ (หยวี ฉาง) หรือมีดไส้ปลา

มีดดาบชุดนี้เป็นที่หมายปองของทุกคน เพราะมันมีความแข็งแกร่ง และคมกริบ สามารถฟันแทงเสื้อเกราะ หรือโล่ได้ทุกชนิด มีดเล่มสุดท้ายนั้นแต่เดิมไม่มีชื่อ ต่อมาได้ชื่อที่มีความหมายว่า ไส้ปลา ที่มาของชื่อนั้น มีเรื่องเล่าดังนี้ ครั้งหนึ่งมีคนจ้างวานยอดนักฆ่าไปสังหารเจ้าเมืองอู๋ นามว่า 吴王僚/吳王僚 Wú Wánɡliáo (อู๋ หวังเหลียว) แต่เหล่านักฆ่าก็รู้ว่า เจ้าเมืองอู๋สวมชุดเกราะที่ฟันแทงไม่เข้าอยู่ตลอดเวลา นักฆ่าไปเสาะหาสุดยอดมีดแห่งยุค ซึ่งก็เป็นมีดเล่มสุดท้ายในห้าเล่มของโอว เหฺย่จื่อ และมันก็ยังไม่มีชื่อ มันเป็นมีดขนาดเล็ก และสั้นมาก พวกเขาคิดหาวิธีที่จะเข้าถึงตัวเจ้าเมืองอู๋ จนสืบทราบได้ว่า เจ้าเมืองอู๋ชอบกินปลาเผามาก พวกเขาใช้แผนมือสังหารปลอมตัวเป็นพ่อครัวทำปลาเผาปลาย่างไปถวาย ส่วนมีดเล็กเล่มนั้นก็ซ่อนอยู่ในท้องปลาได้พอดี นักฆ่าดำเนินการไปตามแผน เมื่อนำปลาเผาขึ้นถวายนั้น สบโอกาสเข้าใกล้ตัวเจ้าเมืองอู๋แล้ว จึงเอามีดที่ซ่อนอยู่ในท้องปลา ทิ่มแทงเจ้าเมืองอู๋จนถึงแก่ความตาย มีดเล่มนี้จึงได้ชื่อว่ามีดไส้ปลานั่นเอง

Advertisement

ข้อคิดจากประโยคสุภาษิตนี้

成语比喻:意外的灾祸或事故。

成語比喻:意外的災禍或事故。

Advertisement

Chénɡyǔ bǐyù:Yìwài de zāihuò huò shìɡù.

เฉิงยหวี่ ปี่ยวี่: อี้ไหว้ เตอะ จายฮั่ว ฮั่ว ฉื้อกู้

สุภาษิตเปรียบว่า อุบัติเหตุหรือภัยภิบัติที่เกิดขึ้นอย่างเหนือความคาดหมาย

ประโยคตัวอย่างที่ใช้สำนวนสุภาษิตนี้ เช่น

要告诉小孩子,不要一个人到河里游泳,以免发生三长两短的。

要告訴小孩子,不要一個人到河裏遊泳,以免發生三長兩短的。

Yào ɡàosù xiǎo háizi, bùyào yīɡè rén dào hé lǐ yóuyǒnɡ, yǐmiǎn fāshēnɡ sān chánɡliǎnɡ duǎn de.

เหย้า เก้าซู่ เสี่ยว ไหจื่อ, ปู๋เหย้า อีเก้อ เหริน เต้า เหอ หลี่ โหยวหย่ง, อี๋เหมี่ยน ฟาเฌิง ซาน ฉาง เหลียง ตวั่น เตอะ.

ต้องบอกเด็กน้อยว่า อย่าไปว่ายน้ำเล่นคนเดียวในแม่น้ำ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่ไม่อาจคาดคิดได้

ศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีนสิรินธร
มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image