‘สพฐ.’ หนุน ทปอ.เปลี่ยนข้อสอบเข้ามหา’ลัย ชี้เป็นความทุกข์ของ นร.-ผู้ปกครองมานาน

‘สพฐ.’ หนุน ทปอ.เปลี่ยนข้อสอบเข้ามหา’ลัย ชี้เป็นความทุกข์ของ นร.-ผู้ปกครองมานาน

เมื่อวันที่ 25 เมษายน นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยกรณีที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) มีมติเห็นชอบแนวทางปรับปรุงข้อสอบการคัดเลือกบุคคลกลางเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา หรือทีแคส เพื่อลดความซ้ำซ้อน ลดจำนวนวิชาและการสอบ และลดค่าใช้จ่ายในการสอบ โดยข้อสอบที่ปรับปรุงนั้นจะเพิ่มการวัดทักษะในอนาคต เช่น เรื่องความคิดสร้างสรรค์ การสื่อสาร การทำงานเป็นทีม ความเป็นผู้นำ เป็นต้น ซึ่งคาดจะพัฒนาเพื่อใช้เป็นข้อสอบระดับชาติปีการศึกษา 2565 นั้น ว่า ถือเป็นเรื่องดี และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ก็สนับสนุน เพราะปัจจุบันมีการสอบจำนวนมาก และสอบหลายครั้ง ถือเป็นประเด็นความทุกข์ของนักเรียนและผู้ปกครองมาเป็นเวลานาน ซึ่งสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงต่อไปข้างหน้าคือ หลักสูตรการเรียนการสอนจะเน้นสมรรถนะ ทักษะมากขึ้น ดังนั้นข้อสอบที่ใช้ในอนาคต ต้องมาวางกรอบ แนวทางให้สอดคล้องกับหน่อยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ทาง สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ต้องรู้แนวทางใหม่ของการสอบเพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดสอบ หรือหลักสูตรของสพฐ. ที่ต้องนำแนวทางข้อสอบมาจัดการเรียนการสอน ให้สอดคล้องโดยเน้นพัฒนาสมรรถนะนักเรียน พัฒนาทักษะของนักเรียนต่อไป ทั้งนี้ในอนาคต สพฐ.มุ่งเป้าเปลี่ยนหลักสูตรการเรียนการสอนให้เป็นฐานสมรรถนะ

“อย่างไรก็ตาม การเรียนการสอนที่เป็นฐานสมรรถนะนั้น จะเกิดขึ้นได้โดยการรวมเอาหลายวิชาเข้ามาบรูณาการร่วมกัน เช่น ความรู้ ทักษะ เจตคติที่ดี เป็นต้น ดังนั้นการที่ ทปอ. กำหนดให้มีการปรับปรุงข้อสอบ ผมมองว่าจะสอดคล้องกับอนาคตที่ สพฐ.จะเปลี่ยนแปลงหลักสูตรด้วย ซึ่งหากมีการเปลี่ยนแปลงครูจะต้องทำงานหนักมากขึ้น เพราะความรู้ถือเป็นชั้นแรกของการจัดการเรียนการสอน แต่การสร้างสมรรถนะ ถือเป็นขั้นที่เกินกว่าความรู้ ซึ่งครูจะต้องบรูณาการทั้งในเรื่องของความรู้ ทักษะ และเจตนคติที่ดี เพื่อสอนให้นักเรียนมีสมรรถนะที่จำเป็นในอนาคต” นายบุญรักษ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า แนวคิดในการจัดสอบทักษะที่ใช้ในอนาคต จะวัดในเรื่องความคิดสร้างสรรค์ ความเป็นผู้นำ สามารถวัดได้จริงหรือไม่ นายบุญรักษ์ กล่าววว่า สามารถวัดได้ เพราะข้อสอบเหล่านี้มีอยู่ เช่น การสอบเข้ามหาวิทยาลัยในอดีตสอบวัดทักษะ หรือการสอบบรรจุเข้าเป็นข้าราชการพลเรือน ข้าราชการครู มีข้อสอบลักษณะนี้อยู่แล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image