น.ศ.พิการหู มสด.เจ๋ง คว้าทุนบินแลกเปลี่ยนภาษาที่สหรัฐ

ผศ.ดร.บรรพต พิจิตรกำเนิด ประธานหลักสูตรสาขาวิชาบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ คณะมนุษศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต (มสด.) เปิดเผยถึงการส่งนักศึกษาเข้าร่วมการคัดเลือกโครงการ Global Undergraduate Exchange Program (Global UGRAD) ประจำปีการศึกษา 2562-2563 ว่า ดร.สุวมาลย์ ม่วงประเสริฐ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ได้มอบนโยบายให้ทุกหลักสูตรที่มีนักศึกษาพิการเรียนร่วม ส่งนักศึกษาเข้าคัดเลือกโครงการดังกล่าว เพราะมหาวิทยาลัยตระหนัก และให้ความสำคัญด้านการศึกษาแก่ผู้พิการอย่างเท่าเทียม เห็นได้จากการที่ มสด.มีนักศึกษาพิการเรียนร่วม 99 คน ในปีการศึกษา 2562 ยังเปิดโอกาสให้กับผู้พิการเรียนร่วม สมัครเข้าเรียนในทุกสาขาวิชา

ผศ.ดร.บรรพตกล่าวอีกว่า เช่นเดียวกับสาขาวิชาบรรณารักษศาสตร์ฯ ปัจจุบันมีนักศึกษาพิการเรียนร่วม 20 คน ซึ่งหลักสูตรได้ดูแลนักศึกษา ทั้งเด็กปกติ และเด็กพิการเรียนร่วม เหมือนๆ กัน เพียงแต่บางรายวิชาที่เกี่ยวกับไอที คณาจารย์หลักสูตรได้ร่วมมือกับฝ่ายสนับสนุนนักศึกษาพิการเรียนร่วม หรือหน่วยงาน DSS สอนเสริมให้นักศึกษาพิการเรียนร่วมเกิดความรู้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ เพราะเรียนรู้ได้ช้ากว่ากว่าเด็กปกติ ทางหลักสูตรยังร่วมมือกับภาครัฐ และเอกชนอีกหลายแห่ง ส่งนักศึกษาพิการเรียนร่วมเข้าอบรมพัฒนาศักยภาพตนเอง ถือเป็นการส่งเสริมให้นักศึกษาเรียนรู้การอยู่ร่วมกับบุคคลในสังคม เตรียมพร้อมให้กับนักศึกษาก่อนสำเร็จการศึกษาออกไปใช้ชีวิตในสังคม ภารกิจข้างต้น มสด.ได้ดูแลนักศึกษาพิการเรียนร่วมมาโดยตลอด

นายวัฒนากรณ์ กันตะแก้ว หรือไนท์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาบรรณารักษศาสตร์ฯ ที่ได้รับคัดเลือกในโครงการ Global Undergraduate Exchange Program (Global UGRAD) ประจำปีการศึกษา 2562-2563 กล่าวว่า รู้สึกดีใจ และภูมิใจมาก ขอบคุณอาจารย์ในหลักสูตร และ มสด.ที่ผลักดันให้มีโอกาสได้รับทุนไปแลกเปลี่ยนที่สหรัฐอเมริกา เป็นโอกาสอันดีที่มหาวิทยาลัยเห็นศักยภาพของเด็กพิการเรียนร่วม ตนจะตั้งใจแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ให้มากที่สุด และจะนำวัฒนธรรมภาษามือแบบไทยไปทอดถ่ายแก่เพื่อนต่างชาติด้วย

Advertisement

“อยากฝากถึงเพื่อนๆ ผู้พิการเรียนร่วม อย่าหมดหวังกับความพิการที่ติดตัวมา ถ้าหากมีความตั้งใจ และความพยายาม ไม่ว่าจะมีอุปสรรคอะไรในชีวิต เราทำให้สำเร็จได้ อาทิ การเรียนภาษาอังกฤษ อยากให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของการสื่อสารในเด็กยุคใหม่ ภาษาอังกฤษกลายเป็นภาษาพื้นฐานที่ต้องสื่อสารได้ ผมชื่นชอบ และตั้งใจฝึกฝนมาตั้งชั้นประถมศึกษา โดยการเรียนรู้ผ่านยูทูป หรือเข้าสังคมกับคนปกติที่สื่อสารภาษาอังกฤษบ่อยๆ อย่ากลัว หรือกังวล เพราะร่างกายคนเราคือสิ่งมหัสจรรย์ หากคนเราทำซ้ำๆ จะเกิดการเรียนรู้ และพัฒนาตนเองไม่หยุด ผู้พิการก็สามารถดำรงชีวิตได้เหมือนคนปกติ แค่อดทน และรู้จักคำว่าพยายาม” นายวัฒนากรณ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image