ม.การกีฬาแห่งชาติ อุดมศึกษากับโจทย์แห่งความท้าทาย

เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา มีการเผยแพร่ประกาศราชกิจจานุเบกษา พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ พ.ศ.2562 จากประกาศดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นปรากฎการณ์ทางการศึกษาชาติที่บ้านเราจะมีสถาบันอุดมศึกษาเฉพาะทาง ที่มุ่งเน้นไปที่มิติของการขับเคลื่อนการพัฒนากีฬาชาติ

สาระสำคัญของ พ.ร.บ.การกีฬาแห่งชาติ หมวด 1 บททั่วไปในมาตรา 8 กำหนดให้มหาวิทยาลัยเป็นสถานศึกษาทางวิชาการและวิชาชีพชั้นสูงทางการกีฬา มีวัตถุประสงค์ให้การศึกษา ส่งเสริมวิชาชากรวิชาชีพ ทำการสอน วิจัยและพัฒนา บริการทางวิชาการและวิชาชีพแก่สังคม ทะนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม ที่มุ่งเน้นการสร้างองค์ความรู้ด้านการกีฬา การพลศึกษา การสร้างเสริมสุขภาพ วิทยาศาสตร์การกีฬา การบริหารจัดการกีฬา การประกอบธุรกิจและอุตสาหกรรมการกีฬา และสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง เป็นแหล่งสร้างและพัฒนาบุคลากรด้านการกีฬาของประเทศ

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาถึงสาระแห่งมาตราดังกล่าว จะเห็นได้ว่ามีความต่างบนความเหมือนของสถาบันอุดมศึกษาทั่วไป ซึ่งความต่างของพันธกิจสำหรับมหาวิทยาลัยแห่งนี้ จะเป็นมหาวิทยาลัยที่ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนการพัฒนาการกีฬาชาติในมิติของนวัตกรรมใหม่ ที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยเฉพาะทางด้านอุตสาหกรรม และการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ และสังคม ที่ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ตลอดจนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 รวมทั้ง แผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ฉบับที่ 6 อย่างชัดเจน

การก่อเกิดของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ หากย้อนไปดูภูมิหลังของที่มา สืบเนื่องมาจากการดำริ และการขับเคลื่อนของรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการเห็นการกีฬาของชาติก้าวไกลเท่าเทียมกับนานาประเทศที่เจริญแล้ว ภายใต้การดำเนินการของคณะทำงานที่มาจากผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านการกีฬา และอีกหลากหลายสาขาอาชีพ และเมื่อคณะทำงานได้ศึกษาวิจัยเพื่อหาคำตอบในการนำไปสู่โจทย์แห่งการพัฒนา จึงได้หลักการ และเหตุผลของการจัดตั้งในนิยามความว่า

Advertisement

“โดยที่รัฐให้ความสำคัญกับการใช้กีฬาเป็นเครื่องมือพัฒนาคุณภาพของพลเมือง และกำหนดให้มีการปฏิรูปประเทศด้านการกีฬา จึงมีความจำเป็นต้องยกฐานะสถาบันการพลศึกษาเป็นมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ เพื่อจัดการศึกษาและการวิจัยด้านการกีฬา การพลศึกษา วิทยาศาสตร์การกีฬา การบริหารจัดการกีฬา การประกอบธุรกิจ และอุสาหกรรมกีฬา รวมทั้ง ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการพัฒนากีฬาภูมิปัญญาไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับภูมมิภาค และระดับนานาชาติ เพื่อประโยชน์ในการสร้าง และพัฒนาบุคลากรด้านการกีฬาของประเทศ”

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากหลักการและเหตุผล จะเห็นได้ว่าเป็นแรงปรารถนาของรัฐบาลที่ต้องการเห็นพัฒนาการของการกีฬาไทยก้าวไกลกว่าปัจจุบัน โดยใช้มิติทางการศึกษาเข้าไปขับเคลื่อน แต่ในในทางกลับกัน เมื่อมหาวิทยาลัยก่อเกิดอย่างเป็นทางการแล้ว จึงมีคำถามตามมาว่า มหาวิทยาลัย หรือสถาบันอุดมศึกษาแห่งนี้ จะสามารถตอบโจทย์ หรือเกาถูกที่คันได้มากน้อยแค่ไหน

จากมูลเหตุดังกล่าว นักวิชาการ และผู้คนในแวดวงการกีฬาบางกลุ่ม ได้โยนคำถามไปยังผู้เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล กระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น ตลอดจนกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ว่าทำไมไม่ผนึกพลังความเข้มแข็งทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับศาสตร์ทางการกีฬา ที่มหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศดำเนินการอยู่แล้ว มาเป็นพลังร่วมสำหรับการขับเคลื่อน และบริหารจัดการ

Advertisement

ด้านการบริหารจัดการของมหาวิทยาลัยดังกล่าว หากส่องลงไปในร่าง พ.ร.บ.จะพบว่าสาระสำคัญของที่มา และที่ไปไม่ต่างจาก พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยราชภัฏ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ที่ก่อเกิดมาจากวิทยาลัยสู่การเป็นสถาบัน และเปลี่ยนผ่านเข้าสู่มหาวิทยาลัยดังในปัจจุบัน

ปรากฎการณ์ที่แสดงให้เห็นว่ามหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติมีรูปแบบของโครงสร้างในการบริหารจัดการคล้ายกับมหาวิทยาลัยราชภัฏ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ได้แก่ การเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มีกฎหมาย หรือ พ.ร.บ.เป็นของตนเอง แต่ใช้ร่วมกับองค์กรเครือข่ายทั่วประเทศ ซึ่งองค์กรเครือข่ายประกอบด้วยสถาบันลูกกระจายอยู่ใน 4 ภูมิภาค ภายใต้ 17 วิทยาเขตเดิม

จากนี้ไปโจทย์ และการบ้านแห่งความท้าทายที่จะต้องเดินหน้าให้สังคมได้เห็นในเชิงประจักษ์อย่างรูปธรรม คือการขับเคลื่อนองค์กรให้บรรลุวัตถุประสงค์ภายใต้ผู้บริหารที่เปี่ยมไปด้วยวิสัยทัศน์ และนวัตกรรมการบริหารจัดการสมัยใหม่ ทันต่อการแข่งขัน และการเปลี่ยนแปลง

เหนือสิ่งอื่นใด มหาวิทยาลัยแห่งนี้จะต้องไม่เป็น “เหล้าเก่าในขวดใหม่” บริบทแห่งความสำเร็จ และการตอบโจทย์สังคม คงหนีไม่พ้นความรับผิดชอบของสภามหาวิทยาลัย และผู้บริหาร ตลอดจนภาคีเครือข่ายว่าจะทำอย่างไรให้สังคมตระหนัก และเห็นคุณค่า เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับการศึกษา หรือการเรียนรู้ในยุคใหม่การสร้างแรงจูงใจ หรือจุดขายให้ผู้เรียน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ในยุคดิจิทัลตื่นตัว และสนใจที่จะเข้าศึกษา เพื่อให้สำเร็จสามารถเป็นบัณฑิตที่พึงประสงค์มีงานมีอาชีพ

อีกหนึ่งในมิติที่สถาบันแห่งนี้จะต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน ดังที่ผู้ทรงคุณวุฒิในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หลายท่านได้เสนอแนะ พร้อมข้อสังเกตจากการอภิปรายเพื่อเสนอขอความเห็นชอบต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติก่อนหน้านี้ อาทิ ศ.กิตติคุณ นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อดีตอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สะท้อนมุมมองในการอภิปรายตอนหนึ่งความว่า

จากการนำเสนอหลักการ และเหตุผล เกรงว่ามหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติจะเป็นเพียงเหล้าเก่าในขวดใหม่ และไม่เพียงเพื่อยกระดับสถาบันการพลศึกษาที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ 17 แห่งให้มีสถานะเป็นมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่กลับพบว่าสถาบันดังกล่าวยังมีจุดอ่อนอยู่พอสมควร โดยเฉพาะความเข้มแข็งทางด้านวิชาการ เพื่อการพัฒนา และสร้างบัณฑิตให้เป็นไปตามการบริหารจัดการการอุดมศึกษา

ประเด็นที่น่าสนใจสำหรับการพัฒนาสถาบันแห่งอนาคต และเป็นทางออกที่ดีสำหรับการบริหารจัดการงานวิชาการ ซึ่งอดีตอธิการบดีจุฬาฯ ท่านนี้ห่วงใย พบว่า ปัจจุบันสถาบันการพลศึกษาทั่วประเทศมีบุคลากร หรือคณาจารย์ที่มีตำแหน่งทางวิชาการ เช่น ศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ อยู่จำนวนค่อนข้างน้อย การที่กล่าวไว้ว่า จะไม่เพิ่มเงิน และคน จึงเป็นเรื่องที่มหาวิทยาลัยต้องกลับไปพิจารณา เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานของการเป็นสถาบันอุดมศึกษาอย่างแท้จริง

ต่อมาคือพันธกิจที่ว่าด้วยการวิจัย และสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่มหาวิทยาลัยต้องดำเนินการ ให้เป็นไปตามบทบาทหน้าที่ ซึ่งสถาบันแห่งนี้จะปักหมุดไปที่การวิจัยและการพัฒนาทางด้านการกีฬา วิทยาศาสตร์การกีฬา และอุตสาหกรรมกีฬา รวมทั้ง อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหากพิจารณาในรายละเอียดด้านงบประมาณ เพื่อการบริหารจัดการโดยรวม พบว่า ก่อนหน้านี้สถาบันฯ มีงบประมาณในการบริหารจัดการตกปีละประมาณ 200 ถึง 500 ล้านบาท

แต่เมื่อพิจารณาถึงงบประมาณในส่วนของงานวิจัยและการพัฒนาตามพันธกิจ กำหนดไว้เพียง 10 ล้านบาทเท่านั้น จากการกำหนดงบประมาณการวิจัยที่น้อยนิดนี้เอง จึงอาจจะไม่ตอบโจทย์ของ

สถาบันอุดมศึกษา หรือมหาวิทยาลัยที่มีการระบุไว้ในหลักการ และเหตุผลของการจัดตั้ง ที่ต้องการจะให้สถาบันอุดมศึกษาแห่งนี้ เป็นองค์กรแห่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่การยกระดับ และพัฒนาด้วยการสร้างนวัตกรรมใหม่ ตลอดจนการศึกษาวิจัยที่จะส่งผลต่อความยั่งยืน สำหรับการขับเคลื่อนการพัฒนาการกีฬาของชาติ รวมทั้ง การสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ และสังคมในอนาคต

วันนี้ โลกทางการศึกษาเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกับยุคดิจิทัล ทางเลือกของผู้เรียนจึงมีช่องทางที่หลากหลาย ศาสตร์ หรือสาขาวิชาสมัยใหม่ ซึ่งเป็นวิชาชีพที่ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน จึงเป็นทางเลือกที่ผู้เรียน และผู้ปกครองแสวงหา

มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ ซึ่งมุ่งเน้นจัดการศึกษา และการพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับศาสตร์ทางด้านการกีฬาโดยเฉพาะ จึงถือได้ว่าเป็นวาระแห่งความท้าทายที่น่าสนใจยิ่งสำหรับขุนพล หรือจอมทัพ ที่จะมากุมบังเหียนการบริหารจัดการสถาบันให้ก้าวข้ามปรากฎการณ์แห่งความท้าทายสู่การเปลี่ยนแปลงได้อย่างแท้จริง

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image