‘สุวิทย์’ คุยสำนักงบฯ ขอ 2 พันล้าน ดึงมหา’ลัยร่วม BCG

เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกิจกรรมเปิดบ้านจุฬาฯ โดยมีนายบัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาฯ ผู้บริหาร คณาจารย์ให้การต้อนรับ นายสุวิทย์ กล่าวตอนหนึ่งว่า เหตุผลที่มาจุฬาฯ เพราะเป็นมหาวิทยาลัยแรกที่เป็นเสาหลักของแผ่นดิน และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงปฏิรูปการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ และครั้งนี้จะเป็นเสาหลักในการปฏิรูปการเปลี่ยนแปลงครั้งที่2 ทั้งนี้อว. เป็นกระทรวงที่ตั้งขึ้นเพื่อดูแลศาสตร์ทุกแขนง ที่ผ่านมาคนไปมองว่าเป็นกระทรวงที่ตั้งขึ้นเพื่อเน้นวิทยาศาสตร์อย่างเดียว แต่จริงๆ แล้วอว.เน้นวิทยาศาสตร์ ที่สร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์การมีชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน ทั้งนี้การสร้างงานวิจัยที่ผ่านมา จะเป็นโปรเจคเบส เป็นเบี้ยหัวแตก ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ตนได้หารือกับสำนักงบประมาณ ว่าจากนี้การจัดสรรงบฯ จะต้องเน้นการวิจัย 4 รูปแบบหลัก คือ 1.งานวิจัยที่เน้นสร้างคน สร้างองค์ความรู้ 2.ตอบโจทย์ความเหลื่อมล้ำ 3.เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ และ4.สอดคล้องกับแผนงานวิจัยขั้นแนวหน้า ขณะเดียวกันยังได้ของบฯ สนับสนุน มหาวิทยาลัยเข้ามามีส่วนร่วม โครงการวางรากฐานระบบเศรษฐกิจของประเทศสู่อนาคต หรือ BCG ไว้ประมาณ 2,000 ล้านบาท

นายสุวิทย์ กล่าวต่อว่า ในส่วนมหาวิทยาลัย จะแบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ มหาวิทยาลัยที่ผลิตบัณฑิต สร้างองค์ความรู้ใหม่ มหาวิทยาลัยที่เน้นด้านอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี และมหาวิทยาลัยที่เน้นพัฒนาพื้นที่ ส่วนที่เหลือเป็นมหาวิทยาลัยที่บูรณาการทั้งสังคมศาสตร์และวิทยาศาสตร์เข้าด้วยกัน นอกจากนี้มหาวิทยาลัยยังต้องไปดูในเรื่องการปรับหลักสูตร ให้มีความลื่นไหล ทั้งระหว่างคณะ ระหว่างมหาวิทยาลัย รวมถึงมีความลื่นไหล แลกเปลี่ยนอาจารย์ระหว่างมหาวิทยาลัย ซึ่งต่อไปเด็กสามารถเรียนข้ามศาสตร์ มีการเก็บหน่วยกิตระหว่างมหาวิทยาลัย ต่อไปเด็กอาจไม่ต้องเรียนถึง 4 ปี หากสามารถเก็บหน่วยกิตได้ ก็สามารถจบปริญญาตรีได้ภายใน 3 ปีหรือน้อยกว่านั้น

Advertisement

“อว.เป็นกระทรวงสำคัญในการพัฒนาประเทศ มีมหาวิทยาลัย ที่มีองค์ความรู้และปัญญาชนเป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อนการทำงาน ซึ่งผมเองก็ตั้งใจที่จะเข้ามาช่วยปลดล็อกสิ่งต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคในการทำงานของมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ ( มคอ.) และการเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการ ทั้งนี้ในส่วนของมคอ.นั้นได้มอบหมายให้นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดอว. ไปดูรายละเอียด ให้ได้ข้อสรุปภายใน 3 เดือน ซึ่งคงไม่ใช่การยกเลิก แต่ต้องไปดูว่าจะปรับอย่างไรให้เหมาะสม ส่วนนโยบายที่จะให้มหาวิทยาลัยปรับสถานะไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ หรือมหาวิทยาลัยนอกระบบนั้น คงต้องมาคุยกันใหม่ให้เข้าใจ การจะเป็นมหาวิทยาลัยนอกระบบจะต้องมีความพร้อม มีความรับผิดชอบ มีคุณภาพและตรวจสอบได้ เราไม่ได้ต้องการให้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบทั้งหมดโดยไม่มีความพร้อม ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยนอกระบบอาจจะยังไม่สะเด็ดน้ำ บางแห่งออกไปแล้วมีปัญหา บางแห่งไม่มีปัญหา ดังนั้นถ้ามหาวิทยาลัยยังไม่ต้องพร้อมก็อยู่ต่อ แต่ก็ต้องทำภารกิจให้ตอบโจทย์ประเทศ “นายสุวิทย์กล่าว

นายบัณฑิต กล่าวว่า จุฬาฯทำงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่องมาหลายปี หลายเรื่องสามารถตอบโจทย์ประเทศได้ ทั้งนี้ในศตวรรษที่2 ของจุฬาฯ ก็พร้อมที่จะนำศาสตร์ต่างๆ มารับใช้ประชาชนอย่างเข้มแข็ง

Advertisement

นายพลกฤษณ์ แสงวณิช คณบดี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ปัจจุบันอัตราผู้เรียนระดับบัณฑิตศึกษาในสายวิทยาศาสตร์ ลดลง 15-20% อย่างต่อเนื่องทุกมหาวิทยาลัย ขณะที่เด็กที่เข้าเรียนในระดับปริญญาตรีก็ลดลง มหาวิทยาลัยพยายามปรับตัว ทั้งปรับการประชาสัมพันธ์ และปรับหลักสูตร แต่ก็ไม่ได้ทำให้ผู้เรียนเพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงต้องไปหาลูกค้าในกลุ่มอาเซียน ให้เข้ามาเรียน เช่น นักศึกษาจากประเทศเวียดนาม อินโดนีเซีย พม่า เป็นต้น ในส่วนนี้อยากให้อว. ช่วยเข้ามาดู โดยเฉพาะโอกาสการมีงานทำ ซึ่งผู้ที่จบปริญญาเอก จะหางานทำได้ยาก ส่วนใหญ่จบออกมาก็จะไปทำงานในภาครัฐเป็นอาจารย์ ขณะที่อัตราการบรรจุลดลงเรื่อยๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image