มติชนสัญจรสุดคึก “สุจิตต์” ฟันธง “คนอุบลฯ” คือเจ๊กปนลาวปนเขมร เป็นคนไทย

เมื่อวันที่ 6 ก.ค.ที่โรงแรมสุนีย์แกรนด์ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี นายสุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ในเครือ “มติชน” ได้เดินทางไปบรรยายในหัวข้อ “เจ๊กปนลาวปนเขมรเป็นคนไทย อยู่อุบลฯ” เนื่องในงาน “สัปดาห์หนังสือและการเรียนรู้อุบลราชธานี ครั้งที่ 8”

นายสุจิตต์กล่าวว่า คนไทยเป็นลูกผสม ร้อยพ่อพันธุ์แม่ คนอุบลราชธานีก็เช่นกัน โดยเมืองอุบลฯ เพิ่งมีขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 แต่เพิ่งกลายเป็น “คนไทย” อย่างแท้จริงเมื่อ พ.ศ. 2482 เมื่อมีการเปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามเป็นไทย อุบลราชธานี หมายถึง เมืองแห่งบัวบาน หรือเมืองอันมีที่มาจาก “นครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน” ได้นามจากบรรดาศักดิ์ของพระปทุมสุรราชภักดี (คำผง) เจ้าเมืองคนแรกที่ได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ 1 เมื่อ พ.ศ.2335

“คนไทยเป็นลูกผสมร้อยพ่อพันแม่ ได้แก่ เจ๊กปนลาวปนเขมร มอญ ม้ง เมี่ยน มลายู แขกจามพราหมณ์กุลา ส่วนเมืองอุบลฯ มีในสมัย ร.1 แต่คนอุบลยุคแรกยังไม่ไทย เพิ่งเป็นคนไทยใน พ.ศ. 2482 เมื่อเปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามเป็นไทย บรรพชนเก่าสุดของชาวอุบลฯมีหลักฐานอยู่ที่ภาพเขียนที่ผาแต้ม ซึ่งจริงๆแล้วไม่ใช่เฉพาะบรรพชนของชาวอุบลฯแต่เป็นบรรพชนคนไทยและคนอุษาคเนย์ด้วย ภาพเขียนนี้มีขนาดใหญ่โต ต่อเนื่องยืดยาว แสดงว่ามีผู้คนนานาชาติพันธุ์ตั้งหลักแหล่งถาวรและเดินทางผ่านไปมาแล้วร่วมทำพิธีกรรมในศาสนาผีบริเวณหน้าผานี้ ซึ่งเป็นแลนด์มาร์กบนเส้นทางคมนาคมของคนดึกดำบรรพ์เมื่อราว 2,500 ปีมาแล้ว” นายสุจิตต์กล่าว

งานหนังสืออุบล

Advertisement

นายสุจิตต์ ยังกล่าวอีกว่า หากย้อนไปเมื่อ 5,000 ปีก่อน จะพบหลักฐานว่าบรรพชนคนอีสานแรกมีหมู่บ้าน ผู้คนกินข้าวเหนียว ต่อมาเมื่อราว 3,000 ปีที่แล้ว บรรพชนบางกลุ่มเคลื่อนย้ายเข้ามาจากภายนอก ครั้นหลัง พ.ศ.1 ลุ่มน้ำโขงชีมูลที่อุบลฯ กลายเป็นชุมทางของผู้คนหลากชาติพันธุ์ กระทั่งหลังพ.ศ.1500 เป็นต้นมา “ขอม” เข้าสู่อีสาน จากนั้นตามมาด้วย “ข่า” และ “ลาว”

“หลัง พ.ศ.2000 ลาวก่อบ้านสร้างเมืองใหม่ทางโขง ชี มูล ต่อมารัชกาลที่ 1 ยกบ้านแจระแมเป็นเมืองอุบล รัชกาลที่ 5 ส่งข้าหลวงปกครองเมือง โดยมีกรมหลวงพิชิตปรีชากรเป็นข้าหลวงใหญ่ และกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ เป็นผู้สำเร็จราชการเมืองอุบลฯตามลำดับ หลังจากนั้น ในพ.ศ.2459 จากเมืองอุบลได้กลายเป้นจังหวัดอุบลราชธานี แล้วชาวอุบล ได้เป็นคนไทยใน พ.ศ.2482 เมื่อเปลี่ยนชื่อประเทศสยามเป็นประเทศไทย” นายสุจิตต์กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับบรรยากาศในงานสัปดาห์หนังสือและการเรียนรู้อุบลราชธานีคึกคักอย่างมาก โดยในบูธสำนักพิมพ์มติชน บริเวณชั้น 4 สุนีย์ทาวเวอร์ มีการระดมหนังสือดีกว่า 500 ปกมาลดพิเศษ รวมถึงหนังสือมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ และหนังสือเกษตรอีกทั้งการสร้างอาชีพ โดย หนังสือใหม่ ลด 20% หนังสือสำนักพิมพ์อินดี้ลด15 % และหนังสือสำนักพิมพ์มติชน ราคาพิเศษสุด 30 บาทและ 50 บาท ทำให้มีผู้สนใจจำนวนมาก

Advertisement

ทั้งนี้ งานดังกล่าวมีขึ้นระหว่างวันที่ 6-14 ส.ค. ตั้งแต่ 09.00-21.00 น. บริเวณชั้น 4 สุนีย์ทาวเวอร์ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี

 

บรรยากาศบูธมติชน ชั้น 4 สุนีย์เซ็นเตอร์
บรรยากาศบูธมติชน ชั้น 4 สุนีย์ทาวเวอร์

งานหนังสืออุบล

พิธีเปิดในช่วงเช้าของวันที่ 6 ส.ค.59
พิธีเปิดในช่วงเช้าของวันที่ 6 ส.ค.59
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image