ถกปัญหา ‘เรียนออนไลน์’ หมอเดว ชี้ ถึงเวลาสังคายนาระบบการศึกษา รับมือหลังโควิด

ถกปัญหา ‘เรียนออนไลน์’ หมอเดว ชี้ ถึงเวลาสังคายนาระบบการศึกษา รับมือหลังโควิด

นับเป็นข้อถกเถียง ข้ามสัปดาห์ กับประเด็นการหยุดเรียน 1 ปี ที่นักวิชาการด้านการศึกษาเสนอขึ้น เนื่องจากการเรียนออนไลน์ต่อไป จะไร้ประสิทธิภาพ คุณภาพ และยังจะทำให้เกิดการถดถอยทางการศึกษากว่า 20-50%

นำไปสู่ข้อถกเถียงในวงกว้าง ทั้งแนวความคิดที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เนื่องจากการหยุดเรียน 1 ปีนั้น อาจทำให้เด็กจำนวนไม่น้อย ต้องหลุดจากระบบการศึกษาไปได้ เด็กนักเรียนจำนวนไม่น้อย ก็ต่างออกมาวิพากษ์วิจารณ์กันในโลกออนไลน์ เห็นแย้งว่านับแต่โควิด หลายคนได้สูญเสียช่วงเวลา ที่จะได้พัฒนาศักยภาพ และค้นหาความชอบของตัวเอง และไม่อยากเสียเวลาไปมากกว่านี้ ขณะที่บางความเห็น ก็มองว่า การเรียนออนไลน์ ทำให้ประสิทธิภาพในการเรียน ลดลงจริงๆ

แน่นอนว่า ทำให้หลายคน หันกลับมามองเรื่อง การเรียนออนไลน์ ที่แม้เหล่านักเรียนจะได้เรียนออนไลน์กันมานับแต่ปีที่แล้ว แต่ครั้งนี้ นักเรียนไทย ต้องใช้ชีวิตอยู่กับหน้าคอมทุกๆวัน มานานกว่า 4 เดือนแล้ว อีกทั้งรอบนี้ เด็กๆยังไม่มีโอกาสที่จะไปโรงเรียน แม้แต่วันเดียว

เรียนออนไลน์ กระทบทั้งเด็กเล็กและโต

รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม ได้ฉายภาพปัญหาของการเรียนออนไลน์แต่ละช่วงวัยไว้ว่า ปัญหาสำหรับการเรียนออนไลน์นั้น ในช่วงม.ปลาย หรือ อุดมศึกษา อาจจะพอปรับตัวได้อยู่บ้าง แต่ก็มีปัญหาห่วงโซ่อยู่ การเรียนในโรงเรียน หากเวลาพักเขาอาจจะได้เจอเพื่อน หยอกล้อกันได้ นี่เป็นกลไกทางจิต ที่ลดความเครียดของตัวเอง ได้สนุกสนานสไตล์เพื่อนๆ แต่การที่อยู่บ้าน เขาเล่นกับพ่อแม่ไม่ได้ ออกจากบ้านก็ไม่ได้ เขาก็ไม่รู้จะดับความเครียดเขาด้วยวิธีไหน

Advertisement

“เด็กมัธยมโรงเรียนดังในกทม.บางแห่ง ที่พ่อแม่มีเงินไม่ได้ต้องกังวลเรื่องอุปกรณ์การเรียน แต่พอเรียน ก็ต้องเช็กชื่อทุกคาบ 7 คาบ 7 ครั้ง และเรียน 5 วัน เด็กก็เหมือนโดนจี้ติดๆกัน ขนาดเป็นเราอยู่หน้าจอเช้าจรดเย็นยังไม่ไหว แล้วเด็กๆ เจอแบบนี้ ก็ไม่ไหว ประสาทเสียไปหมด

ส่วนผู้ปกครองเองก็มีความเครียด บางครอบครัวปากกัดตีนถีบ เอาชีวิตไม่รอด ก็ปล่อยไปจะไม่เรียนก็ช่าง แต่บางครอบครัวผู้ปกครองก็จี้ติด แม่ก็กุมขมับ ให้ลูกเรียนออนไลน์ อุปกรณ์ไม่มีก็ต้องไปซื้อ นี่คือ ภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมด ซึ่งเกิดจากการขาดการวางแผนเชิงระบบ”

รศ.นพ.สุริยเดว กล่าวต่อว่า สำหรับเด็กเล็กชั้นประถมศึกษา หรืออนุบาล แล้วนั้น การเรียนออนไลน์หนักๆ นานๆ ย่อมทำให้เกิดความล้า และผิดหลักพัฒนาการ โดยเฉพาะช่วงอนุบาลถึงป.3 ที่เรียกว่า early childhood หรือวัยต่ำกว่า 10 ปี ช่วงนี้ไม่เหมาะกับการเรียนออนไลน์ แต่สถานการณ์นั้นบีบบังคับ ก็จำเป็นต้องใช้

Advertisement

แนะทางแก้ ยกเลิกการแพ้คัดออก

รศ.นพ.สุริยเดว กล่าวต่อว่า เมื่อจำเป็นต้องใช้ ก็ต้องใช้เท่าที่จำเป็น ในทัศนะของหมอ สิ่งที่ควรทำคือ 1. ยกเลิกการตัดเกรด จะทำให้เด็กไม่เกิดความกดดัน เปลี่ยนไปดูที่โครงงาน ที่ได้จากวิถีชีวิตในบ้าน หรือข้างบ้าน ที่ปลอดภัย ไม่ต้องเดินทางไปไหน และหลีกเลี่ยงจากโควิด คนในท้องถิ่นย่อมรู้

เรื่องแบบนี้ ศึกษาธิการ ต้องปลดล็อก หมอบอกเลยว่า ต้องปลดล็อก ผู้นำสูงสุดต้องส่งสัญญาณ เพราะนี่คือสถานการณ์ฉุกเฉิน น่าจะปรับให้เป็นนิวนอร์มอลไปเลย ยกเลิกระบบแพ้คัดออก ยกเลิกการสอบ ตัดเกรด ไปดูหมวดวิชา ถ้ากลัวว่าเด็กลอกกัน ก็ให้เล่ากระบวนการ ถ้าเขาเล่าได้ อย่างน้อยก็รู้กระบวนการไปหมดแล้ว ต้องจำไว้ว่า ศรัทธาของเด็กเกิดจากสัจจะที่ไว้วางใจ

2.ยกเลิกตัวชี้วัดให้หมด ที่เปลืองกันอยู่ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ที่กำลังจะเข้าสภา ต้องสังคายนา ไม่ใช่ว่าออกมาใช้ก็กลายเป็นเก่าแล้ว ลองใช้โอกาสนี้แก้ไขดู เชื่อว่าหลังโควิด การศึกษาจะเปลี่ยนไปหมด การปรับหลักสูตรให้กลายเป็นตามสมรรถนะ ทำตามอาชีพ คิดเป็นพูดเป็นทำเป็น กระบวนการรายละเอียด ให้อยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมได้ แม้จะขัดแย้งแต่อยู่อย่างสันติวิธี ทำงานเป็นทีม ถ้าวางแผนแบบนี้จะไม่วุ่นวาย

“ใช้โอกาสนี้พลิกวิกฤติเป็นโอกาส วางแผนให้อัพเดทไปข้างหน้า 5 ปี ช่วงชิงโอกาสได้”

ภาพจากเฟซบุ๊ก บันทึกหมอเดว

แนะปรับวิธีใหม่ เซ็ตระบบ Home school

“เรื่องนี้ กระทรวงศึกษาธิการต้องเอาเป็นสาระ อย่านิ่งดูดาย เลิกวิธีการสั่งการ ที่สั่งจนแม้แต่คนสั่งก็ยังเหนื่อย สั่งแล้วไม่มีคนมาคอยโค้ชชิ่ง เป็นพี่เลี้ยงให้ ก็ไม่เกิดประโยชน์” รศ.นพ.สุริยเดว กล่าว

รศ.นพ.สุริยเดว กล่าวต่อว่า ความจริงแนวคิดนี้ พูดมาตั้งแต่ปีที่แล้ว คือ ผอ.เขตการศึกษาทั้งหลาย ต้องทำระบบโค้ชชิ่ง เหมือนกับอสม.หมู่บ้าน มีอาสาสมัครให้เขาลงไปพื้นที่ สำรวจดูว่าบ้านไหนมีความพร้อมหรือไม่ มีเน็ตไหม มีกินหรือเปล่า และสำรวจทรัพยากรตัวเองว่าพร้อมเพียงใด เช่นในชั้นเรียนหนึ่ง อาจมีเด็ก 20 คน มีเด็ก 10 คน ที่ทำโฮมสคูลได ้คือ พ่อแม่มีเวลาดูลูก ก็ทำได้ อีก 5 ครอบครัวอาจจะไม่มีเน็ต เราก็จะได้เซ็ตได้ว่า นี่เป็นสายเขียว สายเหลือง หรือสายแดง

“การเรียนก็ต้องปรับวิธีใหม่ ไม่ต้องเป็น 8 กลุ่มสาระ ผอ.โรงเรียน ประกาศเป็นศูนย์กลางในการเซ็ตระบบโฮมสคูล เป็นแหล่งเรียนรู้ ครูทำ box set ออกมาได้ ว่าสัปดาห์นี้จะเรียนรู้อะไร ส่งไปยังบ้านต่างๆ ซึ่ง เขาอาจจะเรียนตอนเย็นก็ได้ เปิดให้เรียนได้แม้นอกเวลา ส่วนคนที่ไม่มีศักยภาพจะเรียนออนไลน์ ก็ต้องมีพื้นที่ตรงกลาง ให้เขามาเรียนและมีอาสาสมัครดูแล เราเปลี่ยนมาสร้างการเรียนรู้ในบ้าน และการเรียนรู้ในชุมชน ให้ชุมชนเป็นแหล่งเรียนรู้ มีปราชญ์ชาวบ้านเข้ามาร่วม นี่คือสิ่งที่ต้องทำ”

“ศธ.ต้องเอาเป็นสาระ อย่านิ่งดูดาย เลิกวิธีการสั่งการ จนคนสั่งก็เหนื่อย คือถ้ากลไกหมุน ระบบจะไปได้ เรื่องนี้ไม่ได้เพิ่งพูด พูดมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ถ้าเขาขยับตั้งแต่ปีที่แล้ว ระลอก 3 ไม่ต้องมาเจอจังเบอเร่อ อัดเนื้อหาไปจนทุกชั้นปี สภาพเลยกลายเป็นปัญหา เด็กตึงเครียดมาก เด็กอนุบาลเครียดเป็น ประถมเขาก็เครียดเป็น”

ค้าน หยุดเรียน 1 ปี

รศ.นพ.สุริยเดว กล่าวว่า หมอไม่เห็นด้วยกับการหยุดเรียน 1 ปี เพราะหากกระทรวงทำเช่นนั้น เท่ากับประกาศว่า ระบบตัวเองล้มเหลว ซึ่งไม่ควรทำ ระบบการศึกษาจะประกาศให้ล้มเหลวไม่ได้ การหยุดเรียนปล่อยนิ่งๆไปเลย 1 ปี ต้องเข้าใจว่า เด็กก็คือเด็ก หากเรื้อเวที จากการอ่านหนังสือ ทบทวนตำราเรียน หรือการออกนวัตกรรมใหม่ๆ อยู่บ้านจะทำอะไรก็ได้เพราะไม่มีกรอบ เมื่อกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา สถานการณ์ที่จะเจอคือ drop out สูงมาก

“เด็กอาจจะไหลออกเพราะเข้ากับการเรียนกับระบบไม่ได้ มีโอกาสที่จะเจอสูงมาก ปฏิเสธการไปโรงเรียน ก็อาจเกิดขึ้นได้ในกลุ่มเด็กที่มีปัญหา เช่น เด็กแอลดี ซึ่งไม่ดีแน่นอน ผู้ปกครองที่ต้องทำมาหากิน ก็อาจปล่อยให้เด็กอยู่บ้าน หรือกลุ่มที่แม้จะสงสารลูก แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ ทั้งที่ๆเจตนาดี ก็มี จะทำให้ระบบล้มเลว เท่ากับปล่อยทุกอย่างไปตามชะตากรรม”

อย่างไรก็ตาม หมอเดว มองว่า แม้จะไม่เห็นด้วยกับการหยุดเรียน 1 ปีในห้องเรียน แต่หากเป็นการหยุดเรียนวิธีเดิม ไปปรับระบบให้ชุมชนมีส่วนกับการเรียน สิ่งนี้เห็นควร ต้องมีการวิเคราะห์วางแผนให้เป็นระบบ ส่วนเรื่องการสอบนั้น มองว่า หากเป็นชั้นมัธยมแล้วนั้น อาจจะทำการสอบได้ ในวิชาหลักๆ ตัดเกรดได้ไม่มีปัญหา แต่บางวิชานั้นก็ควรเหลือเพียงแค่ผ่าน หรือไม่ผ่านพอ แค่ดีหรือไม่ดี และปรับลดการบ้านให้น้อยลง

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image