ศิษย์เก่าโบราณคดีคาใจกรมศิลป์เมิน ‘สกาลา’ ถามตรงไหนไม่เข้าเกณฑ์โบราณสถาน

ฆนัท นารถนอมทรัพย์ บัณฑิตคณะโบราณคดี ม.ศิลปากร และผู้ผลิตสารคดีเชิงประวัติศาสตร์วัฒนธรรม

ศิษย์เก่าโบราณคดีคาใจกรมศิลป์เมิน ‘สกาลา’ ถามตรงไหนไม่เข้าเกณฑ์โบราณสถาน

สืบเนื่องกรณีการทุบ โรงภาพยนตร์สกาลา สยามสแควร์ ซึ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน สร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง

เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน นายฆนัท นารถนอมทรัพย์ บัณฑิตคณะโบราณคดี ม.ศิลปากร และผู้ผลิตสารคดีเชิงประวัติศาสตร์วัฒนธรรม เผยแพร่ข้อเขียนเรื่อง ‘โรงหนังสกาลา กับ กรมศิลปากร’ ความตอนหนึ่งว่า โรงหนังสกาลาเป็นสถาปัตยกรรมยุคสงครามเย็นที่งดงาม และสะท้อนบริบททางสังคมและเศรษฐกิจ เป็นสถานที่แห่งความทรงจำของใครหลายๆ คน นับตั้งแต่เปิดตัวในปี 2512 จนถึงวันนี้ก็ครึ่งศตวรรษแล้ว ความทรงจำของคนเราไม่ได้ลอยอยู่โดดๆ มันเกาะเกี่ยวกับสิ่งรูปธรรมบางอย่างอยู่เสมอ ที่เรามักเรียกว่า “หมุดหมายแห่งความทรงจำ”

“สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งหนึ่งจะมีคุณค่าขึ้นมาได้ โดยมาตรฐานชุดใดชุดหนึ่ง มิใช่เพราะคุณค่าในอิฐหินดินปูน แต่เพราะความทรงจำที่สถานที่ หรือสถาปัตยกรรมนั้นๆ เกาะเกี่ยวเรียงร้อยไว้ต่างหาก สถาปัตยกรรมมีดีไซน์ที่สะท้อนวิธีคิดของยุคสมัยอย่างชัดเจนจึงมักได้รับการให้ ‘ค่า’ อย่างสูง เพราะมันถูกนิยามว่าได้รวบรวมรวบยอดความคิดความรู้ของสังคมเอาไว้มิใช่แค่ของสถาปนิกคนใดคนหนึ่ง” นายฆนัทระบุ

นายฆนัทยังระบุถึงกรมศิลปากรว่า สำนึกอย่างนี้กรมศิลปากรย่อมตระหนักหรือไม่ กรมศิลปากรมีหน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งเป็นอำนาจที่กฎหมายให้ไว้ นั่นคือการขึ้นทะเบียนโบราณสถาน โรงหนังสกาลาผูกพันกับประวัติศาสตร์สงครามเย็น การเข้ามามีอิทธิพลของอเมริกาในการเมืองไทย เอาเฉพาะคุณค่าทางสถาปัตยกรรมและประวัติศาสตร์ภาพยนต์ สกาลาควรได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถานแล้วด้วยซ้ำ ดังข้อความด้านจากเว็บไซต์กรมศิลปากรว่า ‘… โบราณสถานนั้นจะต้องมีคุณค่าในด้านประวัติศาสตร์ ศิลปะ และโบราณคดี เช่น เป็นสถานที่สำคัญในเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ เป็นอาคารที่มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ …’

Advertisement
ภาพจากเพจ Apex Scala

นายฆนัทระบุว่า โรงหนังสกาลาเข้าเกณฑ์ทุกประการ ทั้งนี้ เป็นอำนาจโดยตรงของอธิบดีกรมศิลปากรในการจะประกาศให้สถานที่ใดเป็นโบราณสถาน ดังระบุไว้ในมาตรา 7 ว่า

‘…เพื่อประโยชน์ในการดูแลรักษาและการควบคุมโบราณสถานให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติ ให้อธิบดีมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษา ขึ้นทะเบียนโบราณสถานใดๆ ตามที่อธิบดีเห็นสมควรได้ และให้มีอำนาจกำหนดเขตที่ดินตามที่เห็นสมควรเป็นเขตของโบราณสถานโดยให้ถือว่าเป็นโบราณสถานด้วยก็ได้ ประกาศดังกล่าวนี้อธิบดีจะเพิกถอนหรือแก้ไขเพิ่มเติมก็ให้กระทำได้โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา’

“น่าแปลกใจที่กรมศิลปากรดูไม่ได้สนใจโรงหนังสกาลาในฐานะอาคารที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรม เมื่อมองไปที่ทำเนียบโบราณสถานที่ได้รับการขึ้นทะเบียนในกรุงเทพมหานคร หากสะพานพุทธสามารถได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถานได้ ผมไม่เห็นเหตุผลใดที่โรงหนังสกาลาจะขึ้นทะเบียนโบราณสถานไม่ได้

Advertisement

“ความทรงจำของผู้คนที่ใช้ชีวิตในกรุงเทพมหานครผูกพันอยู่กับวัด ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดของคนตั้งแต่รัชกาลที่ 1-7 แต่หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครอง จนถึงปัจจุบัน วิธีคิด วิถีชีวิตของผู้คน ไม่ได้ผูกพันอยู่กับวัดแต่เพียงอย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว โลกใหม่มีภาพยนตร์ ร้านอาหาร ที่ที่คนเข้าไปใช้ชีวิตกับเพื่อน กับคนรัก กับคนเกลียด

“นิยามคำว่าคุณค่าประวัติศาสตร์ของกรมศิลปากร ที่จะใช้ในการขึ้นทะเบียนโบราณสถาน อาจจะต้องนำมาพูดคุยกันใหม่ เพื่อให้เราไม่เสียสถาปัตยกรรมที่เป็นตัวแทน เป็นหมุดหมายแห่งยุคสมัย อย่างโรงหนังสกาลาไปอีกในอนาคต” นายฆนัททิ้งท้าย

แฟ้มภาพ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image