‘ตรีนุช’ กำชับผอ.วิทยาลัย รัฐ-เอกชน ดันระบบทวิภาคี พัฒนาเด็กมีอาชีพตอบโจทย์ประเทศ

‘ตรีนุช’ กำชับผอ.วิทยาลัย รัฐ-เอกชน ดันระบบทวิภาคี พัฒนาเด็กมีอาชีพตอบโจทย์ประเทศ

เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ที่วิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวตอนหนึ่งในการประชุมสัมมนาผู้บริหารสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ทั้งรัฐและเอกชน จำนวน 1,300 คน เพื่อติดตามผลการดำเนินงานและยกระดับคุณภาพการจัดการอาชีวศึกษาทุกมิติโดยใช้พื้นที่เป็นฐาน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาการอาชีวศึกษา เพราะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จึงขอให้สอศ. เน้นการพัฒนาให้เด็กสามารถประกอบอาชีพได้จริง และตอบโจทย์ภาคธุรกิจได้ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีโลกในศตวรรษที่ 21 ประกอบกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่ามา ส่งผลกระทบต่อผู้เรียน หลักสูตร และแนวทางการเรียนการสอน ซึ่งทุกท่านในฐานะผู้บริหารจะต้องมีการปรับตัว และปรับรูปแบบการวิธีการบริหารจัดการ ให้มีความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และวันนี้เรื่องหลักสูตร อาชีพ ระบบการเรียนรู้ ก็ต้องปรับให้สอดคล้องกับผู้เรียนและเศรษฐกิจ ซึ่งวิธีการที่จะขับเคลื่อนให้เร็วที่สุดคือการจัดการศึกษาระบบทวิภาคี ที่สถานศึกษาร่วมกับสถานประกอบการ ในการให้เด็กและครูได้ฝึกปฏิบัติในสถานประกอบการซึ่งมีเครื่อมือและอุปกรณ์ที่พร้อมกว่าสถานศึกษา

“วันนี้ขอให้ผู้บริหารโฟกัสเรื่องระบบทวิภาคีให้มากขึ้น จากที่มีการดำเนินการอยู่แล้ว โดยให้แต่ละสถานศึกษากำหนดตัวชี้วัดหรือ KPI ให้ชัดเจน และสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ และมีเครือข่ายการทำงานร่วมกับภาคเอกชน และสถานประกอบ รวมถึงต้องพัฒนาครูให้สามารถเข้าไปเรียนรู้ในสถานประกอบการ และเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะเป็นตัวสนับสนุนเรื่องการเรียนแบบทวิภาคีเพิ่มมากขึ้นได้ ทั้งนี้หากใครเห็นว่ายังมีปัญหาอุปสรรคในการปฏิบัติงานก็สามารถเสนอมาได้ โดยต้องดูว่ามีอะไรที่สามารถยืดหยุ่นได้ เพื่อจะดึงให้เด็กเข้ามาเรียนเพิ่มขึ้น และสามารถตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ เป็นการยิงให้ถูกเป้า บนพื้นฐานของการเปลี่ยนแปลง ซึ่งต้องไปดูว่า ต้องปรับยุทธศาสตร์อะไรอีกบ้าง ” น.ส.ตรีนุช กล่าวและว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณการปรับอัตราเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัวสำหรับผู้เรียนการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในลักษณะงบฯผูกพันต่อเนื่อง 4 ปี ตั้งแต่ปี 2566-2569 ให้แก่นักเรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.)ทั้งรัฐและเอกชน ซึ่งตนขอให้ผู้บริหารสถานศึกษาพิจารณาการใช้จ่ายเงินในหมวดค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน และค่าจัดการเรียนการสอนให้คุ้มค่า มีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผลโดยตรงกับผู้เรียนให้มากที่สุด

น.ส.ตรีนุช กล่าวต่อว่า สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้เด็กจำนวนหนึ่งหลุดออกจากระบบการศึกษา ศธ.จึงได้มีโครงการตามน้องกลับมาเรียน โดยในส่วนของ สอศ. ก็มีโครงการอาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ ซึ่งในปีการศึกษา 2565 ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะมีเด็กเข้าโครงการ 5,000 คน ทราบว่าขณะนี้มีเด็กกลับมาเรียนกว่า 4,000 คนแล้ว ต้องขอขอบคุณผู้บริหารที่ช่วยเหลือกัน และให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม จากการลงพื้นที่ตนเป็นห่วงจำนวนผู้เรียนให้หลายวิทยาลัยลดลง โดยเฉพาะในภาคการเกษตร ที่เด็กของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีในหลายพื้นที่น้อยลง ซึ่งตนได้หารือกับผู้บริหารส่วนกลางว่าในภาคการเกษตรขอให้เน้นเรื่อง Smart Farming มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อให้เด็กเห็นว่าการเกษตรสมัยใหม่ไม่ได้ไปตรากตรำเหมือนในอดีต ให้ผลผลิตมากใช้เงินน้อย ต้นทุนต่ำ และยังได้สร้างเครือข่ายวิทยาลัยเกษตรฯอื่น ที่มีการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ด้วย

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image