สัมภาษณ์พิเศษ : ‘ชาลี เจริญลาภนพรัตน์’ เปิดใจ..เบื้องหลังปรับใหญ่ ‘ทีแคส’ (1)

สัมภาษณ์พิเศษ : ‘ชาลี เจริญลาภนพรัตน์’ เปิดใจ..เบื้องหลังปรับใหญ่ ‘ทีแคส’ (1)

เปิดศักราชใหม่ น้องๆ หลายคนยังต้องลุ้นกับ การคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา หรือ ทีแคส ประจำปีการศึกษา 2566 ของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ในปีนี้ ซึ่งเป็นการปรับครั้งใหญ่ และเป็นปีแรก ที่นำองค์ประกอบใหม่ๆ เข้ามาแทนองค์ประกอบที่ใช้อยู่เดิม เช่น การสอบ TGAT (Thai General Apititude Test), TPAT (Thai Professional Aptitude Test) และ A-Level (Applied Knowledge Level) ที่มาแทนการทดสอบความถนัดทั่วไป (GAT) ความถนัดทางวิชาการ/วิชาชีพ (PAT) และ 9 วิชาสามัญ

ที่สำคัญ ปีนี้ยังเป็นปีแรก และครั้งแรก ที่ “นำร่อง” สอบผ่าน “คอมพิวเตอร์” ควบคู่กับการฝนกระดาษคำตอบ ที่ใช้กันมายาวนาน !!

“มติชน” จึงถือโอกาสเริ่มต้นปีใหม่ จับเข่าคุย รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายรับเข้าศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และผู้จัดการระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ป้ายแดง มาพูดถึงภาพรวมการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ว่าที่ผ่านมาได้เตรียมแผนรับมือกับสารพัดปัญหาที่จะเกิดขึ้นอย่างไร มีข้อแนะนำอะไรให้น้องๆ ที่อยู่ระหว่างการสมัครทีแคสรอบต่างๆ ในปีการศึกษา 2566 และสำหรับน้องๆ ที่จะต้องเตรียมความพร้อมแต่เนิ่นๆ ในการสมัครทีแคส ปีการศึกษา 2567

๐ เข้ามาช่วยดูแลระบบทีแคสได้อย่างไร?
“เริ่มตั้งแต่มีทีแคสในปี 2561 ผมเข้าไปเป็นหนึ่งในคณะกรรมการดำเนินงานทีแคส ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้ จะมีหน้าที่ตัดสินใจเรื่องใหญ่ๆ และปัญหาหน้างานที่เกี่ยวข้องกับทีแคสทั้งหมด มีหน้าที่กำหนดทิศทาง และจัดการการระบบคัดเลือกทีแคสในแต่ละปี ซึ่งในปี 2565 เป็นปีที่มีการเปลี่ยนแปลงสำคัญ เพราะสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ที่ดูแลการทดสอบ ขอหยุดดำเนินการ ทำให้ ทปอ.เข้ามาดูแลการจัดสอบทั้งหมด โดย ทปอ.หาคนที่จะมาเป็นผู้จัดการดูแลระบบการสอบ ทางคณะกรรมการดำเนินงานทีแคส เห็นว่าผมคุ้นเคยกับระบบต่างๆ ของทีแคสดีแล้ว จึงให้มาทำหน้าที่ผู้จัดการระบบสอบทีแคส ดูแลระบบการจัดสอบทีแคสในภาพรวม

Advertisement

เมื่อดูแลระบบจัดสอบทีแคส ปีการศึกษา 2565 เสร็จแล้ว ในปีการศึกษา 2566 ทาง ทปอ.เห็นว่าผมน่าจะเข้ามาช่วยดูแลภาพรวมของระบบทีแคส จึงมอบหมายให้มารับหน้าที่ผู้จัดการระบบทีแคสในที่สุด”

๐ เป็นผู้จัดการระบบทีแคสปีแรก ต้องรับหน้าเสื่อตลอด หนักใจหรือไม่?
“ถือว่าไม่หนักใจเท่าไหร่ เพราะรู้กันอยู่แล้วว่าหน้าที่ผู้จัดการระบบทีแคส ต้องรับเรื่องที่เซนซิทีฟ และมีเรื่องดราม่าเข้ามาแทบทุกปี ทำให้ต้องอธิบาย ทำความเข้าใจ สร้างความเข้าใจในเรื่องต่างๆ ที่เป็นประเด็น ตอนที่มารับตำแหน่งนี้ ผมเลยทำใจมาตั้งแต่ต้น แต่ที่ผ่านมาก็เคยทำงานด้านกิจการนิสิตนักศึกษาของ มธ.มาก่อน ทำให้คุ้นเคยกับเรื่องเหล่านี้พอสมควร จึงคิดว่าสามารถรับหน้าที่นี้ได้”

๐ ทีแคส’66 มีการเปลี่ยนอย่างมาก ภาพรวมดีหรือไม่?
“ทีแคส’66 ถือว่าเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ตั้งแต่การปรับรายวิชาสอบใหม่ จากเดิมที่กำหนดให้ทดสอบ GAT, PAT และ 9 วิชาสามัญ มาเป็นการ TGAT, TPAT และ A-Level โดยการสอบ TGAT แบ่งการสอบ 3 ส่วน คือ English Communication, Critical & Logical Thinking Part และ Working Competencies

Advertisement

ส่วนการสอบ TPAT มีสอบ 5 วิชา คือ TPAT1 วิชาเฉพาะของกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท), TPTA2 ศิลปกรรมศาสตร์, TPTA3 วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และวิศวกรรมศาสตร์, TPTA4 สถาปัตยกรรมศาสตร์ และ TPTA5 ครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ส่วนการสอบ A-Level สอบ 16 วิชา คือ คณิตพื้นฐานประยุกต์ 1, คณิตศาสตร์ประยุกต์ 2, วิทยาศาสตร์ประยุกต์, ฟิสิกส์, เคมี, ชวีวิทยา, ภาษาไทย, สังคมศาสตร์, ภาษาอังกฤษ และภาษาต่างประเทศ 7 ภาษา

โดยการสอบ TGAT และ TPAT 2-5 มีทั้งแบบ Computer-based และ Paper-based ค่าสมัครสอบเท่ากัน แต่การสอบผ่านคอมพิมเตอร์ มีข้อดีคือ ลดความผิดพลาดในเรื่องของการฝนกระดาษผิด หรือกระดาษข้อสอบหาย และทราบคะแนนเร็วกว่าการสอบผ่านกระดาษ โดยจะประกาศผลภายใน 3 วันหลังจากสอบวิชาสุดท้ายเสร็จ

หลังจากจัดสอบ TGAT และ TPAT 2-5 เมื่อวันที่ 10-12 ธันวาคม 2565 และสอบ TPAT1 วันที่ 17 ธันวาคมแล้ว พบว่าเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ปัญหาก็ยังมีอยู่บ้าง แต่น้อยว่าที่คาดคิดไว้ เรื่องต่างๆ ก็สามารถจัดการได้ดี เพราะเรามีการบริหารความเสี่ยง มีการคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าแล้วว่าจะเกิดปัญหาอะไรบ้าง และหากเกิดขึ้นจริง จะดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างไร ที่ผ่านมาคณะกรรมการดำเนินงานทีแคส ได้ประชุมสัมนาเรื่องดังกล่าวมาตลอด

อย่างทีแคสปีการศึกษา 2564 ที่ผ่านมา จะพบปัญหาข้อสอบผิด มีข้าราชการมาเข้าสอบ มีทุจริตสอบ เป็นต้น ซึ่งคณะกรรมการดำเนินงานกังวลว่าปัญหาที่เกิดในปีที่ผ่านมา จะเกิดในปีนี้อีก จึงเตรียมความพร้อมเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเหมือนปีที่ผ่านมา เช่น ข้อสอบผิด หรือข้อสอบที่มีมากกว่า 1 คำตอบ จากเดิมค่อนข้างไว้วางใจทีมพัฒนาข้อสอบ ซึ่งการจัดทำข้อสอบถือเป็นความลับอย่างมาก ดังนั้น เมื่อทีมพัฒนาข้อสอบจัดทำข้อสอบเสร็จ จะนำข้อสอบส่งเข้าโรงพิมพ์ทันที และหลังจากสอบเสร็จแล้ว จะมีคณะกรรมการตรวจข้อสอบที่ออกมา ว่าเฉลยที่ทำไว้ถูกต้อง และมีเพียงคำตอบเดียวหรือไม่ แต่ปีที่ผ่านมา ทำให้เรียนรู้ว่าควรจะมีการกลั่นกรองอีกชั้นหนึ่ง ทปอ.จึงตั้งแต่งคณะกรรมการขึ้นอีกชุดหนึ่ง เพื่อตรวจสอบข้อสอบก่อนส่งเข้าโรงพิมพ์ ฉะนั้น มั่นใจได้ว่าข้อสอบที่จะจัดพิมพ์นั้น มีคำตอบที่ถูกต้องเพียงข้อเดียวแน่นอน

หรือการทุจริตสอบ ปีที่ผ่านมาพบว่ามีการนำอุปกรณ์ไฮเทคเข้ามาในห้องสอบ ดังนั้น การจัดสอบปีนี้จะเข้มข้นมากขึ้น เช่น เสื้อกันหนาว เสื้อคลุม จะอนุญาตให้เอาเข้าหากอากาศหนาว หรืออยู่ในจังหวัดที่อากาศหนาวเย็น พร้อมยกเลิกไม่ให้ใช้ดินสอกด อนุญาตให้ใช้แค่ดินสอไม้เท่านั้น เพราะป้องกันการนำกล้อง หรืออุปกรณ์ไฮเทคอื่นๆ ใส่ในดินสอกด ส่วนการใช้ปากกาน้ำเงิน เพื่อเซ็นชื่อในการสอบนั้น อนุญาตให้ใช้ปากกาน้ำเงินธรรมดา แต่ในการสอบทีแคสปีการศึกษา 2566 อาจไม่ให้ผู้เข้าสอบนำปากกาน้ำเงินเข้าห้องสอบ แต่จะให้คณะกรรมการคุมสอบส่งปากกาให้นักเรียนเซ็นชื่อเท่านั้น

ส่วนการสอบ A-Level ที่กำหนดสอบวันที่ 18-20 มีนาคม 2566 โดยการสอบ A-Level จะสอบผ่านกระดาษเท่านั้น จึงเชื่อว่าการดำเนินการต่างๆ จะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย”

๐ ทีแคส’66 เป็นปีแรกนำร่องสอบผ่านคอมพิวเตอร์ ภาพรวมเป็นอย่างไร?
“การสอบด้วยคอมพิวเตอร์ ราบรื่นดี และได้รับความสนใจอย่างมาก มีผู้สนใจสมัครสอบด้วยคอมพิวเตอร์จำนวนมาก ซึ่งการสอบ TGAT, TPAT2-5 ผ่านระบบคอมพิวเตอร์ ได้ประกาศผลการทดสอบไปแล้ว พบว่าผลคะแนนสอบปีนี้ค่าเฉลี่ยดีทุกวิชา เช่น การสอบ TGAT มีคะแนนเฉลี่ยสูงมาก เป็นต้น

สาเหตุที่ค่าเฉลี่ยการสอบ TGAT และ TPAT2-5 เพราะเป็นการสอบที่วัดความถนัดทั่วไป ที่ใช้ความรู้ ประสบการณ์ที่แต่ละคนได้ทำมา และส่วนใหญ่จะเป็นความรู้ระดับมัธยมต้น ซึ่งผู้เข้าสอบหลายคนก็คุ้นเคยเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว คะแนนเฉลี่ยจึงดีมาก ส่วนข้อสอบ A-Level จะเป็นการสอบที่วัดความรู้ หรือ Content Based แต่ข้อสอบจะออกไม่เน้นเนื้อหาที่เกินกว่าหลักสูตรที่เรียน”

๐ อนาคตเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะสอบ A-Level ผ่านระบบคอมพิวเตอร์?
“เป็นไปได้ ถ้าระบบคอมพิวเตอร์เสถียร และสามารถหาคอมพิวเตอร์ได้เพียงพอ เบื้องต้นอาจจะทยอยใช้ระบบคอมพิวเตอร์สอบในบางวิชาก่อน”

๐ มีแผนที่จะปรับการสอบผ่านคอมพิวเตอร์หมดเลยหรือไม่?
“เท่าที่วางแผนไว้ จะผลักดันให้มีการสอบผ่านคอมพิวเตอร์ให้ได้มากที่สุดภายใน 5 ปีนี้ เพราะเห็นข้อดีในการสอบผ่านระบบคอมพิวเตอร์ คือลดความผิดพลาด สามารถตรวจข้อสอบได้รวดเร็ว โดยแนวทางแรกที่ดำเนินการนั้น ได้ใช้ศูนย์ทดสอบที่อยู่ตามมหาวิทยาลัยในกลุ่ม ทปอ.มาเป็นศูนย์ในการสอบผ่านคอมพิวเตอร์ แนวทางต่อไป จะขยายศูนย์การทดสอบนอกเหนือจากกลุ่มมหาวิทยาลัยในกลุ่ม ทปอ.เช่น ใช้ศูนย์สอบมหาวิทยาลัยราชภัฎ (มรภ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) เป็นต้น หรืออาจจะใช้โรงเรียนขนาดใหญ่ ที่เป็นโรงเรียนประจำจังหวัด ที่มีคอมพิวเตอร์จำนวนมาก มาเป็นศูนย์สอบ

หรืออาจจะเพิ่มรูปแบบการใช้คอมพิวเตอร์ คือผู้เข้าสอบสามารถนำไอแพด หรือแท็ปแล็ตมาที่สนามสอบ และให้แทปแล็ตของตนในการสอบ แต่เราจำเป็นต้องออกแบบระบบให้ดี เพื่อป้องกันการทุจริตด้วย”

อ่านรายละเอียด สัมภาษณ์พิเศษ : ‘ชาลี เจริญลาภนพรัตน์’ เปิดใจ..เบื้องหลังปรับใหญ่ ‘ทีแคส’ (จบ)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image