สัมภาษณ์พิเศษ : ‘ชาลี เจริญลาภนพรัตน์’ เปิดใจ..เบื้องหลังปรับใหญ่ ‘ทีแคส’ (จบ)

สัมภาษณ์พิเศษ : ‘ชาลี เจริญลาภนพรัตน์’ เปิดใจ..เบื้องหลังปรับใหญ่ ‘ทีแคส’ (จบ)

๐ หลังปรับรูปแบบการสอบใหม่ เด็กๆ สะท้อนอย่างไรบ้าง?
“เด็กๆ กังวลว่าจะทำข้อสอบไม่ทัน เพราะข้อสอบมีประมาณ 200-300 ข้อ แต่การสอบ TGAT และ TPAT2-5 เป็นข้อสอบแบบวัดความเร็ว หรือ Speed Test เพราะเป็นการวัดความถนัดทั่วไป ถ้าเราถนัดเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เราจะทำสิ่งนั้นได้เร็ว ฉะนั้นใครที่ถนัดด้านไหน ก็จะทำข้อสอบด้านที่ตนถนัดได้เร็ว อย่างการสอบ TGAT และ TPAT2-5 ปีนี้ มีคนได้คะแนนเต็มในบางพาร์ทด้วย”

๐ การสอบ TGAT ครั้งล่าสุดมีดราม่า โดยเฉพาะคำถามที่ว่าเมนูใดสร้างก๊าซเรือนกระจก และส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อนน้อยที่สุด?
“เรื่องดราม่าที่เกิดขึ้น ผมมองว่าเป็นส่วนหนึ่งที่กระตุ้นให้สังคมคิดกันว่า ในการใช้ชีวิตประจำวัน การเดินทาง การปิดเปิดเครื่องใช้ไฟฟ้า หรือการเลือกใช้สิ่งของต่างๆ รวมทั้ง การทานอาหาร เราสามารถมีส่วนร่วมในการรักษาสิ่งแวดล้อมได้เหมือนกัน”

๐ มองว่าระบบทีแคสในปัจจุบัน มาถูกทางหรือยัง ต้องปรับเปลี่ยนเพิ่มหรือไม่?
“อาจจะอยู่ในช่วงของการวัดผล ว่าระบบที่ได้ปรับไปแล้ว เป็นไปตามที่คาดหวังไว้หรือเปล่า มองว่าอีก 2-3 ปีเป็นอย่างน้อย เราน่าจะได้เห็นฟีดแบค และ Improvment ในเชิงคุณภาพของคนที่เข้าสู่ระบบการศึกษาได้มากขึ้น

ผมมองว่าระบบที่คิดมา น่าจะมาถูกทาง ดังนั้น ใน 2-3 ปีนี้ น่าจะยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ ยังต้องดูเทรนด์ในโลกอนาคตด้วย ว่าจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร และะรับมือได้อย่างไรด้วย”

Advertisement

๐ แสดงว่าทีแคส’67 จะไม่มีการเปลี่ยนแปลง?
“ถูกต้อง จะเหมือนทีแคส’66 ทุกอย่าง คือยังคงรอบการสมัคร 4 รอบ และมีรูปแบบการสมัคร 4 รูปแบบ ดังนี้ รอบที่ 1 แฟ้มสะสมผลงาน รอบที่ 2 โควต้า รอบที่ 3 แอดมิสชั่นส์ และรอบที่ 4 รับตรงอิสระ หรือ (Direct Admission) ส่วนการสอบ จะสอบ TGAT, TPAT และ A-Level ระยะเวลาการสอบจะเหมือนทีแคส’66 ประมาณเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม จะสอบ TGAT และ TPAT ส่วนเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม จะสอบ A-Level”

๐ ปัจจุบันจำนวนเด็กลดลงอย่างมาก กระทบกับมหาวิทยาลัยหรือไม่?
“เกิดผลกระทบ เมื่อดูจำนวนคนที่จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เข้าสู่ระบบมหาวิทยาลัยลดลงตามอัตราการเกิดของประชากร แต่ลดลงไม่มาก อาจจะลดหลักหมื่น ทั้งนี้ จะมีกลุ่มเด็กซิล เป็นส่วนหนึ่งเข้ามาเสริม ในอดีตคนที่เข้ามหาวิทยาลัยแล้วซิลออกมา จะมีสัดส่วนอยู่ประมาณร้อยละ 10 แต่ปัจจุบันจำนวนเด็กซิลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น หากนับเด็กจบชั้น ม.6 และเด็กซิลเข้าไว้ด้วยกัน จะทำให้จำนวนเด็กที่เข้าสู่มหาวิทยาลัยยังมีสัดส่วนเท่าเดิมอยู่

แต่ถ้าลองดูเป็นหลักสูตรไป จะพบว่าหลักสูตรที่ไม่เป็นที่นิยม หลักสูตรเหล่านี้จะทยอยเริ่มมีปัญหาแล้ว ส่วนหลักสูตรที่เป็นที่นิยม ก็อยู่ได้ เพราะมีจำนวนคนให้เลือกมากกว่าจำนวนที่เปิดรับอยู่แล้ว เช่น ในอดีตหลักสูตรที่นิยมของมหาวิทยาลัยระดับต้นๆ ของประเทศ เปิดรับ 500 คน มีคนสมัคร 7,000 คน แต่ปัจจุบัน แม้จะรับจำนวนเท่าเดิม 500 คน แต่มีคนสมัคร 4,000 คน แม้จำนวนคนลดลง มหาวิทยาลัยเหล่านี้ก็ไม่รู้สึก เพราะยังมีคนสมัครเกินกว่ายอดที่เปิดรับ

Advertisement

การเปลี่ยนแปลงนี้ ทำให้เห็นแนวโน้มว่าในอนาคตเราจะอยู่อย่างเดิม โดยไม่ต้องประชาสัมพันธ์ แข่งขัน และปรับปรุงหลักสูตรตัวเอง อาจจะทำให้อยู่ไม่ได้”

๐ สาเหตุที่ทำให้เด็กซิล มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น?
“ผมมองว่ายุคนี้เด็กเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น อาจจะไม่แคร์เรื่องจบช้ามากนัก แต่อาจจะแคร์เรื่องการเรียนในสาขาที่ตัวเองชอบจริงๆ ซึ่งเทรนด์ของคนรุ่นใหม่ก็คือ มีความอดทนที่จะรอเรียนในสาขาที่ตนเองชอบจริงๆ ในขณะเดียวกัน จะไม่อยากอยู่กับสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบ”

๐ ที่ผ่านมาระบบทีแคสมีปัญหาอะไรบ้าง และได้ปรับตัวอย่างไร?
“เรื่องแรก ถ้าย้อนดูทีแคสยุคแรก จะเห็นว่ามีรายวิชาที่เข้าสอบเยอะมาก หากผู้สมัครสนใจหลายสาขา วิชาที่สอบก็จะเยอะตามไปด้วย จากที่นับดูแล้ววิชาที่สอบมีมากถึง 30 วิชา และวิชาที่สอบมีความซ้ำซ้อนกัน เมื่อมีทั้งความซ้ำซ้อน และรายวิชาสอบที่มาก จึงลดรายวิชาสอบลง จะเห็นว่าปีที่ผ่านมา ทปอ.ได้ยกเลิกใช้ผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) มาเป็นองค์ประกอบในการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย หรือยกเลิกการสอบวิชาภาษาที่มีคนมาสอบน้อย

ส่วนรูปแบบการสมัครสอบก็เปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน จากเดิมจะเปิดรับสมัครเร็ว ทำให้คนที่ไม่มั่นใจว่าจะเข้ารับการคัดเลือกในรอบไหน จะสมัครสอบในทุกรอบ ทำให้คนสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย ทปอ.จะนำการสอบ A-Level ไปอยู่หลังการรับสมัครรอบที่ 1 ทำให้ผู้ที่ได้รับคัดเลือกในรอบที่ 1 ไม่ต้องเสียเงินสมัคร และเข้าสอบ A-Level การปรับเหล่านี้ เป็นการปรับเพื่อให้น้องๆ ได้รับประโยชน์ เพราะไม่ต้องการสร้างความเครียด และเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้กับน้องๆ

นอกจากนี้ ยังมีการปรับเปลี่ยนกระบวนการคัดเลือก เพราะอาจจะประชาสัมพันธ์ไม่ดี ทำให้น้องๆ เข้าใจผิด เช่น รอบที่ 3 คนที่สอบติดแล้วจะได้รับการยืนยันสิทธิอัตโนมัติ ไม่สามารถสมัครในรอบที่ 4 ได้ ทปอ.จึงเปิดให้สละสิทธิในรอบที่ 3 ได้ โดยการสละสิทธินั้นต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขเดียวกัน คือ 1 คน สละสิทธิได้ 1 ครั้ง”

๐ ปีนี้เปิดกว้างเรื่องการแต่งกายในการสอบ TGAT, TPAT และ A-Level?
“ครับ คืออนุญาตให้ผู้เข้าสอบทาเล็บ ทำสีผม สวมใส่แว่นสายตา และคอนแทคเลนส์ เข้าสอบได้ ขณะเดียวกันอนุญาตให้สวมใส่ชุดสุภาพเข้าสอบ โดยไม่จำเป็นต้องแต่งกายตรงกับเพศกำเนิด สามารถแต่งได้ทั้งชุดนักเรียน ชุดพละ ชุดนักศึกษา หรือชุดสุภาพ คือ เสื้อเชิ้ต เสื้อโปโล กางเกงขายาว หรือกระโปรงยาวคลุมเข่า

สาเหตุที่เปิดกว้างเรื่องการแต่งกาย เพราะต้องการสร้างความผ่อนคลายให้กับน้องๆ ที่เข้ามาสอบให้ได้มากที่สุด เพื่อให้น้องทำคะแนนออกมาได้ดีที่สุด ที่ผ่านมาผู้เข้าสอบกังวลเรื่องการแต่งตัว ที่จะต้องใส่ชุดยูนิฟอร์ม หรือจะต้องใส่ชุดที่ตัวเองไม่สบายใจ ทำให้เรื่องนี้กลายเป็นหนึ่งในอุปสรรคที่ผู้เข้าสอบต้องเจอ ดังนั้น จึงเปลี่ยนแปลงใหม่ เพื่อสร้างความสบายใจในการทำข้อสอบให้ได้มากที่สุด”

๐ มองว่า 5-10 ปีข้างหน้า จะยังมีระบบทีแคสอยู่หรือไม่?
“ภาพรวมของทีแคสใน 5-10 ปีข้างหน้า การสอบจะค่อยๆ ลดความสำคัญลง มองว่าในรอบที่ 1 ที่ใช้แฟ้มสะสมผลงานยื่นสมัคร จะเข้ามามีอิทธิพล หรือเป็นส่วนสำคัญที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ในการเข้ามหาวิทยาลัย

แม้การสอบลดลง แต่ระบบคัดเลือกยังคงต้องมีอยู่ เพราะเป็นระบบที่ทำให้ทุกคนเข้ามหาวิทยาลัยได้เพียงสิทธิเดียวจากการสมัครแต่ละรอบ มองว่าระบบนี้ยังต้องมีอยู่ตลอดไป อาจจะไม่มีอะไรมาทดแทน เพราะระบบนี้ทำให้ทุกคนมีความเสมอภาคกัน ทำให้ผู้เข้าสอบ และมหาวิทยาลัยได้ประโยชน์”

๐ อยากฝากอะไรถึงน้องๆ ที่จะสมัครทีแคส ปีการศึกษา 2567?
“ข้อมูลของทีแคสมีค่อนข้างเยอะ จึงอยากให้น้องๆ ค่อยศึกษารายละเอียดการสอบ การคัดเลือกในแต่ละรอบ แต่ละคณะ แต่ละมหาวิทยาลัยให้ดี และมีปฏิทินการสอบติดตัวเอาไว้ เพื่อให้รู้ว่าควรที่จะทำอะไร เพราะน้องๆ บางคนพลาดเรื่องเล็กน้อย เช่น เปิดรับสมัครวันไหน กำหนดจ่ายเงินสมัครสอบถึงเมื่อไหร่ เพื่อที่ตัวเองจะได้ไม่พลาด ลืมสมัครสอบ หรือลืมจ่ายเงิน เป็นต้น อยากให้น้องๆ ทำความเข้าใจให้ดี ก่อนเข้าสู่กระบวนการสมัคร เพื่อไม่ให้มีความผิดพลาด

เพราะทุกปีจะเจอน้องๆ เข้ามาร้องขอให้ช่วยเพราะลืม หรือลืมวันที่สมัครบ้าง แต่ไม่สามารถช่วยได้ เพราะทุกอย่างต้องเป็นไปตามปฏิทิน และกติกาที่กำหนดไว้ เราไม่สามารถช่วยเหลือใครคนใดคนหนึ่งได้”

อ่านรายละเอียด สัมภาษณ์พิเศษ : ‘ชาลี เจริญลาภนพรัตน์’ เปิดใจ..เบื้องหลังปรับใหญ่ ‘ทีแคส’ (1)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image