ปลัด ศธ.ตั้งทีมจัดบทบาท ‘ศธจ.’ ใหม่ หลังโยกงานบริหารบุคคลให้ 245 อ.ก.ค.ศ.เขต

ปลัด ศธ.ตั้งทีมจัดบทบาท ‘ศธจ.’ ใหม่ หลังโยกงานบริหารบุคคลให้ 245 อ.ก.ค.ศ.เขต เน้นพัฒนาการศึกษาพื้นที่-ตั้งสอบ ขรก.ทำผิด

ดร.อรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) มีมติเห็นชอบรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือก และผู้ได้รับการเสนอชื่อและแต่งตั้งเป็นคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษา จำนวน 245 เขตพื้นที่ฯ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 การตั้ง อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ จะทำให้ภารกิจด้านการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูฯ จากเดิมที่ศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ดูแล มาอยู่ที่ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ ดังนั้น ต่อไปการทำงานของ ศธจ.จะต้องมากำหนดหน้าที่ ความรับผิดชอบ ขอบเขตของการทำงานใหม่ เพราะที่ผ่านมา ศธจ.ทำงานด้านบริหารงานบุคคล จนละเลยงานด้านอื่นๆ โดยเฉพาะงานตามนโยบายของ ศธ.ที่ต้องการแก้ไขปัญหาการศึกษาในพื้นที่ หรือการบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ

ดร.อรรถพลกล่าวต่อว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา 2 คณะ ดังนี้ 1.คณะทำงานไปกำหนดหน้าที่ ความรับผิดชอบของศึกษาธิการภาค (ศธภ.) และ ศธจ.ใหม่ และ 2.คณะทำงานทำกลไกการศึกษาเชิงพื้นที่ใน 5 ภูมิภาค โดยให้การบ้านในแต่ละภูมิภาค ว่าแต่ละพื้นที่ควรจะแก้ไขปัญหาภาวะถดถอยทางการเรียนรู้อย่างไร และจะส่งต่อผู้เรียนขั้นพื้นฐานไปสู่การมีงานทำ และมีอาชีพอย่างไร เป็นต้น ซึ่งคณะทำงานทั้ง 2 คณะ จะรวบรวมข้อมูลมานำเสนอภายในเดือนกุมภาพันธ์ และช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ หรือต้นเดือนมีนาคม จะจัดประชุม ศธจ.เพื่อทำความเข้าใจขอบเขตการทำงานใหม่ต่อไป

ดร.อรรถพลกล่าวอีกว่า เบื้องต้นมองว่า ศธภ.อาจจะปรับตัวเองเป็นผู้แทนของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) ในแต่ละภูมิภาค ซึ่งอยู่ระหว่างดูรายละเอียดของกฎหมายว่า สป.ศธ.จะกระจายอำนาจอะไรให้ ศธภ.ไปขับเคลื่อนได้บ้าง ส่วน ศธจ.จะทำงานใกล้ชิดกับผู้ว่าราชการจังหวัดเพิ่มมากขึ้น เพื่อขับเคลื่อนการศึกษาในจังหวัดให้สอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่

“จากที่ผมรับฟังความคิดเห็นของผู้ว่าฯ หลายจังหวัด เห็นตรงกันว่าดีที่งานด้านบริหารงานบุคคลหายไปจาก ศธจ.เพราะแต่ละจังหวัดต้องการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่ของตน ทำให้คนในพื้นที่มีคุณภาพ มีศักยภาพสามารถแข่งขัน และพัฒนาจีดีพีของจังหวัดตนได้ ผมเชื่อว่าต่อไป ศธจ.จะช่วยให้การศึกษาในพื้นที่ก้าวหน้าเพิ่มมากขึ้น เพราะไม่ได้ทำงานด้านบริหารงานบุคคลแล้ว นอกจากนี้ จะให้ ศธจ.ทำงานประสานกับสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) โดยนำวิจัยของ สกศ.ไปขับเคลื่อนในพื้นที่” นายอรรถพล กล่าว

Advertisement

ดร.อรรถพลกล่าวต่อว่า นอกจากบูรณาการศึกษาในพื้นที่แล้ว ศธจ.จะมีบทบาทหน้าที่เพิ่มเติม เพราะในการประชุมคณะกรรมการคุรุสภา ที่มี น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ ศธ.เป็นประธานเมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการคุรุสภาต้องการให้การดำเนินการเอาผิดด้านจรรยาบรรณของครูรวดเร็วเพิ่มมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาล่าช้า เนื่องจากทุกเรื่องเมื่อถูกร้องเรียนมา จะต้องส่งเรื่องให้ส่วนกลางพิจารณาทั้งหมด แต่ต่อไป คุรุสภา และ ศธจ.จะบันทึกข้อตกลงร่วมกัน (MOU) ว่าหากมีการร้องเรียนว่าครูในพื้นที่กระทำความผิด ควรมอบอำนาจให้ ศธจ.ไปตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ก่อนที่จะเสนอเรื่องให้ส่วนกลางพิจารณาต่อไป

 

 

Advertisement

 

ข่าวน่าสนใจอื่น:

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image