‘สพฐ.’ แจง เขตพื้นที่ฯ มีบัญชีครูผู้ช่วยค้างท่อ ใช้บรรจุแต่งตั้งได้ ไม่ต้องจัดสอบใหม่

‘สพฐ.’ แจง เขตพื้นที่ฯ มีบัญชีครูผู้ช่วยค้างท่อ ใช้บรรจุแต่งตั้งได้ ไม่ต้องจัดสอบ -จี้เคลียร์อัตราว่าง

เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยในการประชุมผู้บริหาร สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)ทั่วประเทศ ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ตอนหนึ่งว่า ตามที่สพฐ. ได้มอบหมายภารกิจให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.) ทั่วประเทศ เตรียมความพร้อมเรื่องการเปิดภาคเรียนในวันที่ 15 พฤษภาคมนี้ ซึ่งจากการติดตาม พบว่า ทางเขตพื้นที่ฯ และโรงเรียนได้มีการขับเคลื่อนและเตรียมความพร้อมได้ตามนโยบายที่ให้ไว้ แต่ขอย้ำให้ผู้อำนวยการสพท. ผู้อำนวยการโรงเรียน และคณะครู ให้ความใสใจสอดส่องดูแลนักเรียนที่ไม่มีความพร้อม หรือเด็กที่มีปัญหา โดยเฉพาะในช่วงเปิดเทอมสัปดาห์แรก ที่ไม่อยากให้เน้นในเรื่องการจัดการเรียนการสอนทันที แต่ขอให้เน้นในเรื่องมิติด้านจิตใจ ชีวิตความเป็นอยู่ การสร้างความเข้าใจ สร้างความสัมพันธ์ระหว่างครูนักเรียน เพื่อนกับเพื่อน เพื่อให้เด็กสามารถเรียนอย่างมีความสุข สามารถรู้ข้อมูลส่วนตัวนักเรียน เพื่อช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ทันท่วงที จากนั้นจึงค่อยประเมินด้านความรู้ความสามารถ และจัดการเรียนรู้คู่ขนานกันไป

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง ‘สพฐ.’ เคาะปฏิทินสอบ ‘ครูผู้ช่วย’ ล็อตใหญ่ กว่า 2 หมื่นอัตรา สมัคร 31 พ.ค.-6 มิ.ย.

นายอัมพร กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังย้ำเรื่องการจัดสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัดสพฐ. ซึ่งตนได้ลงนามในประกาศรับสมัคร ไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยจะเริ่ม ประกาศรับสมัคร ภายในวันที่ 24 พฤษภาคม 2566 รับสมัคร วันที่ 31 พฤษภาคม-วันที่ 6 มิถุนายน สอบข้อเขียน ภาค ก วันที่ 24 มิถุนายน ภาค ข วันที่ 25 มิถุนายน ประกาศรายชื่อผู้สอบผ่านภาค ก และ ข ภายในวันที่ 3 กรกฎาคม สอบภาค ค ประเมินจากการสัมภาษณ์ แฟ้มสะสมงาน และการนำเสนอที่แสดงถึงทักษะและศักยภาพด้านการเรียนการสอน ตามวันและเวลาที่ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ หรือ อ.ก.ค.ศ.สศศ.กำหนด เพื่อให้สามารถบรรจุแต่งตั้งครูให้แล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม

Advertisement

“ผมขอฝากถึงผู้ที่เตรียมตัวจะสอบครูผู้ช่วย ไม่ต้องวิตกกังวลว่า เขตพื้นที่ฯใดจะประกาศรับสมัคร จำนวนเท่าไร และอยากย้ำว่า ไม่ต้องไปวิ่งเต้น หาเส้นสายที่ไหน เพราะมีเพียงตัวผู้เข้าสอบ และความรู้ความสามารถที่มีเท่านั้นที่จะช่วยให้เป็นครูได้ รวมถึงจะต้องตัดสินใจว่าจะเลือกสอบในเขตพื้นที่ฯใด เพราะสามารถเลือกสอบได้เพียง 1 แห่งเท่านั้น นอกจากนั้นต้องเตรียมเอกสารประกอบการรับสมัครให้พร้อม เพราะจากการจัดสอบหลายครั้งจะพบปัญหา ผู้เข้าสอบเตรียมเอกสารการสมัครไม่ครบ โดยเฉพาะเอกสารบางอย่างที่ต้องใช้เวลา เช่น ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู เป็นต้น ซึ่งผมได้ทำหนังสือประสานงานกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขอให้อำนวยความสะดวกกับผู้ที่จะสมัครสอบครูผู้ช่วยครั้งนี้ ขอให้รีบดำเนินการ เพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาด จนสุดท้ายต้องเสียสิทธิในการสมัครสอบ ” นายอัมพร กล่าว

เลขาธิการกพฐ. ขณะเดียวกัน ขอย้ำสำนักงานเขตพื้นที่ฯ และคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่ฯ ว่า การสอบครูผู้ช่วยครั้งนี้ เป็นการบริหารงานบุคคลงานแรกที่ได้รับกลับคืนมา ตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 19/2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นที่มีความท้าทาย เพราะฉะนั้น เขตพื้นที่ฯ จะต้องเริ่มสำรวจว่า แต่ละเขตมีความจำเป็น และมีแผนงานบริหารบุคคลอย่างไร ทั้งในปี2566 และปี 2567 โดยจะต้องดูข้อมูลปัญหาขาดแคลนครูในแต่ละสาขาวิชาเอง เพื่อแบ่งสัดส่วนว่า จะรับย้าย และบรรจุแต่งตั้งใหม่ จำนวนเท่าไร เพื่อเสนอขออนุมัติการกำหนดตำแหน่งว่างที่จะสอบแข่งขัน ต่ออ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ ก่อนที่จะออกประกาศรับสมัครในวันที่ 24 พฤษภาคม 2566

“จากนั้นจะต้องทำแผนดำเนินการขับเคลื่อนงานตั้งแต่วันที่ประกาศรับสมัคร ไปจนถึงวันที่รายงานตัว เพื่อให้การจัดสอบครั้งนี้ เป็นไปโดยพื้นฐานความมีธรรมาภิบาล สร้างความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย สพฐ.มีความเชื่อมั่นต่อสถาบันการศึกษที่ผลิตครูทุกสถาบัน ว่าสามารถผลิตครูได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่เนื่องจากอัตรารับมีความจำกัด จึงต้องเปิดสอบเพื่อคัดกรองผู้ที่มีศักยภาพมาเป็นครูก่อน หลังจากนี้ จะมีการเปิดสอบครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ(ว16) ที่จะเปิดรับกลุ่มลูกจ้าง หรือกลุ่มครูอัตราจ้างที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู และปฏิบัติการสอนอยู่แล้วได้มีโอกาสที่จะก้าวหน้า สามารถสอบบรรจุแต่งตั้งเป็นครูได้ ส่วนบัญชีเดิมที่ยังมีอยู่และยังไม่หมดอายุ ได้คืนอัตราตำแหน่งบัญชีที่ยังไม่หมดอายุ ไปให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา(สพป.) เขต 1 ของทุกจังหวัด เป็นผู้ดูแล ส่วนมัธยม ส่งคืนให้ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) เป็นผู้ดูแล หากเขตพื้นที่ฯ ใดยังมีบัญชีค้าง ไม่ประสงค์จะดำเนินการจัดสอบ ก็สามารถใช้บัญชีที่ค้างอยู่เดิมได้ หรือจัดสอบเฉพาะสาขาที่ตนเองไม่มีและขาดแคลน”เลขาธิการกพฐ.กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image