รายงานการศึกษา : วธ.ยกระดับ ‘ภาพยนตร์ไทย’ สร้าง ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ สู่เวทีโลก

รายงานการศึกษา : วธ.ยกระดับ ‘ภาพยนตร์ไทย’ สร้าง ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ สู่เวทีโลก

มุ่งปักหมุดส่งเสริม “Soft Power” อย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้ และภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ประเทศ หน่วยงานหลักอย่าง กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้เน้นผลักดันอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ที่มีศักยภาพ 5F ได้แก่ อาหาร (Food) ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film) ผ้าไทยและการออกแบบแฟชั่น (Fashion) มวยไทย (Fighting) และเทศกาลประเพณี (Festival) ให้เติบโตสู่ระดับโลก

ล่าสุด วธ.ร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ และกรมการท่องเที่ยว ร่วมผลักดันภาพยนต์ไทย ให้เป็น Soft Power สู่ระดับสากล ณ เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ประจำปี 2566 สาธารณรัฐฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 16-27 พฤษภาคม 2566

แม้หลายคนอาจจะมีภาพจำว่า เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ เป็นงานเดินพรมแดงของเหล่าดารา นักแสดง เซเรบริตี้ระดับโลกเท่านั้น…

Advertisement

แต่ในความจริงแล้ว เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 76 แล้ว ซึ่งเทศกาลภาพยนตร์เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของวงการภาพยนต์ระดับโลก เพราะทำให้เราเห็นถึงความหลากหลาย ความแตกต่างในแง่มุมของภาพยนตร์ เนื้อหา ศิลปะที่หลากหลายจากทั่วโลก ดังนั้น เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ จึงเป็นตลาดซื้อ-ขายภาพยนตร์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ที่มีนักธุรกิจในวงการภาพยนตร์จากทั่วทุกมุมโลก เข้าร่วมงานกว่า 12,500 ราย

นับได้ว่าเป็นงานที่มีความสำคัญ ที่ช่วยสร้างรายได้ ยกระดับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ให้เติบโตสู่ตลาดโลก

Advertisement

ปีนี้ ประเทศไทศนำผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในงาน Marche du Film เพื่อผลักดันให้เกิดการเจรจาการค้าการซื้อขายการลงทุน การร่วมผลิตระหว่างประเทศ การรับจ้างผลิต การสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ และการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจบันเทิงไทยในตลาดโลก

สำหรับผู้ประกอบการไทยที่ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมกิจกรรมในปีนี้มี 12 บริษัท ประกอบด้วย Benetone Films, BrandThink, Film Frame Productions, GDH 559, Halo Productions, Kantana Motion Pictures, M Pictures, Right Beyond, Sahamongkolfilm International, Yggdrazil Group, เนรมิตรหนังฟิล์ม และเวลา ฟิล์ม

นอกจากนี้ วธ.ยังได้จัดนิทรรศการคูหาประเทศไทย (Thailand Pavilion) โดยมีไฮไลท์ของคูหาประเทศไทย คือการจัดกิจกรรม “Thai Film Pitching Project 2023” นำเสนอโครงการการสร้างภาพยนตร์เพื่อการร่วมลงทุน 2 เรื่อง ได้แก่ ทองหล่อคิดส์ โดย อาทิตย์ อัสสรัตน์ และ เจ้าหงิญ โดย เอมอัยย์ พลพิทักษ์

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการ วธ.ระบุว่า วธ.จัด Thailand Pavilion เพื่อประชาสัมพันธ์สิทธิประโยชน์พิเศษ เพื่อส่งเสริมสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการต่างประเทศ เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมภาพยนต์ในประเทศไทย ดังนี้ มาตราการจูงใจประเภท Cash Rebate (คืนเงินสด) คือการลงทุนทำหนัง ที่เจ้าของลิขสิทธิ์เป็นชาวต่างชาติ เข้ามาขออนุญาติตามกฎหมายมาถ่ายทำที่ภาพยนตร์ในประเทศ โดยมาตรการนี้ จะคืนเงินให้กับคนที่มาลงทุน 20% หรือไม่เกิน 150 ล้านบาท ซึ่งมาตรการจูงใจประเภท Cash Rebate นี้ จะเริ่มปีนี้เป็นปีแรก พร้อมกับยกเว้นภาษีนักแสดงนักต่างชาติ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2566-2570 เพื่อจูงในให้ภาพยนตร์จากต่างประเทศ เข้ามาถ่ายทำในไทยมากขึ้น ซึ่งมาตรการเหล่านี้ จะช่วยส่งเสริมให้มีการจ้างงานทางอ้อมมากขึ้น เนื่องจากผู้ที่มาลงทุนถ่ายหนังจะต้องจ้างทีมงานคนไทยมาทำงาน และยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของไทยอีกด้วย

“เมื่อเราออกมาตรการนี้ มีผู้ประกอบการสนใจขอข้อมูล เพื่อตัดสินใจร่วมลงทุนจำนวนมาก และเป็นการกระตุ้นการจ้างงาน สร้างอาชีพ ของคนในอาชีพอุตสาหกรรมภาพยนต์มากขึ้น ทั้งนี้ วธ.คาดหวังผลที่ได้จากการผลักดันอุตสาหกรรมวัฒนธรรม 5F ในปีนี้ คือจะนำรายได้กลับสู่ประเทศไทย ประมาณ 5 หมื่นล้านบาท” นายอิทธิพล ระบุ

สำหรับภาพยนตร์ทั้ง 2 เรื่อง ที่ วธ.นำเสนอโครงการการสร้างภาพยนตร์เพื่อการร่วมลงทุนนั้น ได้ผลตอบรับดีเช่นกัน โดย อาทิตย์ อัสสรัตน์ Director ทองหล่อคิดส์ ที่ได้รับการเข้าร่วม กิจกรรม Thai Film Pitching Project 2023 นำเสนอโครงการการสร้างภาพยนตร์เพื่อการร่วมลงทุน ว่าหนังทองหล่อคิดส์ เป็นหนังนอกกระแส แนวตลกดราม่า ที่เล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับลูกสาวอายุ 13 ปี ที่อาศัยอยู่ย่านทองหล่อ พ่อกำลังจะมีแฟนใหม่ และลูกรับไม่ได้ ต้องปรับตัว และยอมรับความจริงว่าพ่อจะไม่กลับมาอยู่กับแม่แล้ว เป็น Coming of age ของคนวัยกลางคนที่ต้องเติบโต จากเดิมที่พ่ออาจจะเป็นผู้ชายวัยกลางคนที่ทำตัวเป็นเด็ก แต่มาเจอเหตุการณ์ที่ทำให้ตัวเองเติบโตมากขึ้น

“เบื้องต้น หนังเรื่องนี้เป็นการร่วมทุนกับบริษัทในสิงค์โปร์ แต่เราจะต้องหาทุนให้ได้ประมาณ 15-16 ล้านบาท จากการมางานเทศกาลภาพยนต์เมืองคานส์ ซึ่งมีหลายประเทศสนใจ เช่น ญี่ปุ่น เป็นต้น” อาทิตย์ ระบุ

ด้าน เอมอัยย์ พลพิทักษ์ Director หนังเรื่อง “เจ้าหงิญ” กล่าวว่า โปรเจกต์ “เจ้าหงิญ” ของตน ได้รับรางวัล Bangkok ASEAN Film Festival เบื้องต้นได้ทุนการทำหนังมาบ้างแล้ว คือได้โปรดิวเซอร์จากสิงค์โปร์ มาช่วยออกทุน และมีโปรดักชั่นดีไซน์เนอร์ที่เกาหลี มาช่วยดูแลฉากหนัง แต่ยังต้องหาคนมาลงทุนเพิ่มเติม เบื้องต้นคาดว่าหนังเรื่องนี้ น่าจะใช้ทุนจำนวนมากกว่า 20 ล้านบาท แต่คิดว่างานนี้จะเติบโตในต่างประเทศได้ และหลังจากเปิดคูหาประเทศไทยไป มีคนจากหลายประเทศให้ความสนใจ เช่น เม็กซิโก บราซิล เป็นต้น

เอมอัยย์ยังเล่าต่อว่า เรื่อง “เจ้าหงิญ” เป็นการดัดแปลงจากเรื่องสั้นเรื่องเจ้าหงิญ เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นทั้ง 8 เรื่อง ที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหญิง ของ บินหลา สันกาลาคีรี โดยตนได้นำเรื่องสั้น 4 เรื่อง จากหนังสือมาประติดประต่อร้อยเรียงเป็นเรื่องยาว มีเจ้าหงิญที่แตกต่างกัน และจะนำเสนอเจ้าหญิงที่ไม่ใช่เจ้าหญิงธรรมดาทั่วๆ ไป และอาจจะไม่ใช่เจ้าหญิงแบบที่ใครๆ คิด แต่เป็นผู้หญิงคนหนึ่งที่มีความมนุษย์ธรรมดา เช่น เจ้าหญิงที่ต้องเจอสถานการณ์พ่อแม่หย่าร้าง แบ่งแยกเมืองกัน เป็นต้น ซึ่งสถานการณ์ที่ตัวละครเจอ ก็เป็นเรื่องที่เด็กผู้หญิงเราอาจจะต้องเจอ ดังนั้น หนังเรื่องนี้จะเป็นแนว Coming of age โดยจะพูดถึงการเติบโตจากเด็กสาวสู่การเป็นหญิงสาว ตัวละครเกิดคำถามกับตัวตน กับครอบครัว กับความรัก สิ่งเหล่านี้คือความสับสนของการเติบโตจากเด็กผู้หญิงเป็นหญิงสาว นอกจากนี้ หนังได้พูดถึงปัญหาในยุคสมัยใหม่อีกด้วย

“มองว่าหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยไม่ค่อยมีหนังแฟนตาซี และเรื่องนี้เป็นหนังแฟนตาซีที่สามารถพูดกับเด็กได้ สื่อสารไปถึงวัยเด็ก และวัยรุ่นของเราได้ด้วย สามารถสื่อสารให้คนทั่วไปได้ด้วย จึงอยากให้มีหนังแฟนตาซีน่ารักๆ ในช่วงเวลาที่หลายๆ อย่าง ช่างสิ้นหวังเหลือเกิน และส่วนตัวอยากสร้างหนังเจ้าหญิงของไทย เป็นเจ้าหญิงที่ผสมผสานเจ้าหญิงนิทานยุโรปเข้ากับศิลปะของไทย” เอมอัยย์ ระบุ

การขับเคลื่อนงานของ วธ.เพื่อช่วยผลักดันอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยให้เป็นที่รับรู้ในเวทีนานาชาติครั้งนี้ นับเป็นอีกหนึ่งก้าวที่สำคัญ ในการยกระดับ Soft Power ของไทย ให้ไปสู่ระดับโลก…

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image