‘นพ.วิจารณ์’ วิเคราะห์ระบบการศึกษา 5 ปท.ชั้นนำ แนะ สมศ.เน้นประเมินเพื่อการเรียนรู้

‘นพ.วิจารณ์’ วิเคราะห์ระบบการศึกษา 5 ปท.ชั้นนำ แนะ สมศ.เน้นประเมินเพื่อการเรียนรู้

ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช นายกสถาบันพระบรมราชนก กล่าวในการบรรยายหัวข้อ “การศึกษาคุณภาพสูงระดับโลก” ในงานประชุมวิชาการระดับชาติ เนื่องในโอกาสก้าวสู่ปีที่ 23 สมศ. “2 ทศวรรษแห่งการส่งเสริมและยกระดับคุณภาพการศึกษา” ประจำปี 2566 ว่า รูปแบบของโรงเรียนในปัจจุบันอาจไม่ใช่รูปแบบของโรงเรียนในอนาคต ดังนั้น การยกระดับระบบการศึกษาในโรงเรียนให้ทันสมัย จึงเป็นสิ่งที่ต้องพัฒนาตลอดเวลา และบางครั้งต้องปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว เพื่อให้สอดรับกับยุคสมัย และปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงของสังคมเศรษฐกิจ และเทคโนโลยีที่ไม่หยุดนิ่ง สำหรับสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) มีบทบาทหน้าที่ประเมินคุณภาพภายนอกสถานศึกษาทั่วประเทศ ควรให้ความสำคัญกับรูปแบบการประเมิน โดยระบบการประเมินคุณภาพการศึกษาที่ดี ต้องเป็นระบบที่บูรณาการทุกภาคส่วน ทุกฝ่ายมีบทบาทร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ ทีมผู้บริหารโรงเรียน อาจารย์ นักเรียน ผู้ปกครอง ชุมชน และผู้ประกอบการ ซึ่งแนวทางการดำเนินการ ควรเน้นการประเมินเพื่อการเรียนรู้มากกว่าการประเมินเพื่อกำกับ หมายความว่าการประเมินต้องเป็นการรับข้อเสนอแนะ และนำข้อเสนอแนะเหล่านั้นมาพัฒนาต่อ เพื่อยกระดับมาตรฐาน และลดช่องว่างด้านคุณภาพการศึกษา

“ถ้าจะวิเคราะห์ระบบการศึกษาในต่างประเทศ อ้างอิงจากหนังสือการศึกษาคุณภาพสูงระดับโลกที่ยกตัวอย่างระบบการศึกษาของ 5 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ แคนาดา ฟินแลนด์ เซี่ยงไฮ้ (จีน) และออสเตรเลีย มีวิธีดำเนินการแตกต่างกันไปตามบริบทของแต่ละประเทศ แต่ทั้ง 5 ประเทศมีรูปแบบการศึกษาภายใต้เป้าหมายเดียวกันนั่นคือ 1.การสร้างความเท่าเทียมทางการศึกษา และ 2.พัฒนาทักษะเพื่อการดำรงชีวิตในอนาคต” ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าว

ศ.นพ.วิจารณ์กล่าวอีกว่า สิงคโปร์ เน้นระบบการศึกษาคุณภาพสูง ถูกออกแบบใหม่อยู่เสมอ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาสังคม ปัจจุบันอยู่ในยุคที่ 3 เน้นความรู้ทั่วโลก เน้นนวัตกรรม เน้นการสร้างสรรค์และการวิจัย แคนาดา สิ่งที่พยายามทำคือไม่ว่าอยู่ที่ไหน ทุกคนจะต้องได้รับการศึกษาคุณภาพสูง ความโดดเด่นของแคนาดาคือ ครูเป็นผู้กำหนดคุณภาพการศึกษาและแผนพัฒนาด้วยตนเอง ฟินแลนด์ ใช้เวลา 30 ปี พลิกสู่ประเทศที่มีการศึกษาคุณภาพสูงระดับชั้นนำของโลก มีแนวทางการออกแบบการศึกษาเพื่อเป้าหมายในการพัฒนาประเทศ กำหนดการศึกษาภาคบังคับ 9 ปีให้แก่เด็กทุกคน ศูนย์กลางของการพัฒนาระบบการศึกษาคือโรงเรียน และครูคือหัวใจของคุณภาพการศึกษาภายใต้หลักสูตรที่เปิดกว้าง และยืดหยุ่น จีนพลิกฟื้นระบบการศึกษาที่ถูกทำลาย สู่การเป็นประเทศที่มีคุณภาพทางการศึกษาอันดับหนึ่งของโลกภายใน 20 ปี โดยการมุ่งปฏิรูปเพื่อสร้างพลเมืองยุคใหม่ หัวใจสำคัญเป็นการประยุกต์หลักการ หรือความรู้โดยเป้าหมาย คือการเรียนรู้ของนักเรียน จัดตั้งโรงเรียนนำร่อง โดยกระจายครูที่สอนเก่งไปทั่วมลฑล และออสเตรเลีย เนื่องจากประเทศกว้างใหญ่ จึงใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ส่วนใหญ่ใช้ระบบเทเลคอนเฟอร์เรนจากที่ห่างไกลเข้ามาเรียนทางไกล สิ่งที่ท้าทายคือโรงเรียนแตกต่าง และหลากหลาย ภาครัฐจึงมุ่งช่วยเหลือโรงเรียนที่อ่อนแอเป็นพิเศษ เปลี่ยนหลักสูตรการผลิตครู และพัฒนาครูประจำการ ให้ตอบสนองกับหลักสูตรใหม่

Advertisement

“หัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนการศึกษาคุณภาพสูง เน้นการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตทั้งใน และนอกห้องเรียน เพื่อพัฒนาเยาวชนไปสู่การเป็นพลเมืองของโลก วงการการศึกษาควรตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว และพลิกผันของโลก และสังคม เพื่อรับการเปลี่ยนแปลงอย่างเท่าทัน และจัดการกับระบบการศึกษาในอนาคตได้” ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image