ผู้เชี่ยวชาญ ปวศ.ศิลป์ ชี้ ‘ครูกายแก้ว’ ก๊อบปี้ประติมากรรมฝรั่ง ยืมคำลาวใส่สตอรี่เขมร

นัก ปวศ.ศิลปะ ฟันธง ‘ครูกายแก้ว’ ก๊อบปี้ประติมากรรมฝรั่ง ยืมคำลาวใส่สตอรี่เขมร พุทธศาสนาตามทุนนิยมไม่ทัน คนหันสร้างวัตถุทางความเชื่อใหม่

เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม สืบเนื่องกรณีประติมากรรม ‘ครูกายแก้ว’ ติดสะพานลอยระหว่างเคลื่อนย้าย นำมาซึ่งความสนใจในโลกออนไลน์อย่างกว้างขวางถึงเรื่องราวความเป็นมาของความเชื่อดังกล่าว

รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เปิดเผยกับ ‘มติชนออนไลน์’ ถึงประเด็นดังกล่าว ว่า ต้องแยกเป็น 2 ส่วนคือ 1.รูปแบบประติมากรรมครูกายแก้ว 2.ที่มาของความเชื่อเรื่องครูกายแก้ว

“รูปแบบประติมากรรม รูปลักษณ์ของครูกายแก้ว เป็นการ Copy หรือ ลอกแบบจากประติมากรรมฝรั่ง ทางตะวันตก เทวดาพุทธ ไม่มีปีก ยกเว้นพญาครุฑ ส่วนเทวดาจีน ที่มีปีกคือเทพอสุนี หรือสายฟ้า นอกนั้นก็ไม่มีปีก ดังนั้น ครูกายแก้วจึงผิดขนบ

Advertisement

สำหรับภาพสลักที่ปราสาทนครวัด ซึ่งอ้างกันว่าเป็นภาพครูกายแก้ว ก็ไม่ใช่ เพราะภาพสลักดังกล่าวมีจารึกกำกับไว้อย่างชัดเจน เนื้อหาไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับครูกายแก้ว นอกจากนี้ ศักราชในจารึกตรงกับรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเท่านั้น ไม่ได้เก่าแก่ไปถึงสมัยพระเจ้าสูรยวรมันที่ 2 ผู้สร้างปราสาทนครวัด หรือพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่อ้างว่ามีครูชื่อกายแก้ว

ส่วนที่มีผู้มองว่าเป็นปีก ก็ไม่ใช่อีก เพราะเป็นพัด แส้ หรือผ้าที่สะบัดขึ้นมา ไม่ใช่ปีกแต่อย่างใด

ครูของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ซึ่งปรากฏนามในจารึกปราสาทพระขรรค์ กัมพูชา ก็ไม่ได้ชื่อครูกายแก้ว ฟังชื่อก็รู้ ไม่ใช่ภาษาเขมร แค่ภาษาก็ไม่ใช่แล้ว กล่าวคือ กาย มาจากภาษาบาลี ส่วนแก้ว เข้าใจว่าเป็นภาษาตระกูลไท-ลาว

Advertisement

เรียกว่าความเชื่อเรื่องครูกายแก้วนี้ คนไทยคิด ยืมภาษาลาว แต่เป็นผีเขมร”  รศ.ดร.รุ่งโรจน์ กล่าว

สำหรับประเด็นเรื่องที่มาของความเชื่อ รศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าวว่า เดิมสังคมไทยเชื่อขนบ ‘ผู้มีบุญ’ แบบลังกา กล่าวคือ ผลบุญในชาติที่แล้วจะส่งผลถึงชาตินี้ แต่ด้วยระบบเศรษฐกิจปัจจุบัน หากหวังรวยในชาตินี้ จะทำอย่างไร ก็ต้องหาสิ่งใหม่มาทดแทน เพราะฉะนั้น จึงมีการสร้างความเชื่อใหม่ขึ้นมาเรื่อยๆ โดยนำความเชื่อเรื่อง ‘ผี’ มาผนวก

“เมื่อสิ่งใหม่ถูกสร้างขึ้นมา คนขอพร ขอหวย สักพักหนึ่งพอเริ่มไม่ได้ผล ถูกหวยกิน ความนิยมดรอปลง เสื่อมลง ก็ต้องสร้างความเชื่อใหม่ขึ้นมา เหมือนกรณี ไอ้ไข่ พอเริ่มไม่ถูกหวยมากเข้า ศรัทธาลดลง ท้าวเวสสุวรรณก็มา พอดรอปลงอีก ก็มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใหม่เกิดขึ้นมาอีก ไม่มีวันหมด” รศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าว  (อ่านข่าว นัก ปวศ.มอง ‘ครูกายแก้ว’ โยงป๊อปคัลเจอร์ ใครอยากเชื่อก็ไม่เสียหาย แต่ ‘ไม่เกี่ยว’ นครวัดนครธม)

เมื่อถามว่า เหตุใดความขลังส่วนใหญ่ต้องโยงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ‘เขมร’

รศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าวว่า ความทรงจำที่อยู่ในสังคมไทยนั้น เขมรเป็นเจ้าแห่งเวทมนตร์คาถา ชุดความรู้เรื่องเวทมนตร์คาถามาจากเขมร

“ใครจะเชื่อก็เชื่อไป ถ้าไม่ทำให้สังคมเดือดร้อน ใครเชื่อแล้วถูกหวยก็ยินดีด้วย แต่ถ้าถูกกินก็เป็นความเสียหายทางเศรษฐกิจส่วนบุคคล (หัวเราะ)

ในเศรษฐกิจแบบนี้ ในความไม่แน่นอนของสังคม คนขาดที่พึ่ง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ต้องผลิตวัตถุทางความเชื่ออย่างนี้ออกมาเรื่อยๆ ที่สำคัญคือพุทธศาสนาช้าไปสำหรับแนวคิดเรื่องทุนนิยม” รศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าว  (อ่านข่าว นักวิชาการเทียบ ‘ครูกายแก้ว-จตุคาม’ ฮิตหนักช่วง ‘เปลี่ยนผ่าน-การเมืองวุ่น’ สังคมขาดหลักประกัน)

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image