นายก ส.ปส.กช.ขอ 3 เดือน ชง ‘ครูอุ้ม’ แก้ปัญหา ‘เอกชน’ ชี้ไม่อยากกดดัน ให้เวลาทำงาน

นายก ส.ปส.กช.ขอ 3 เดือน ชง ‘ครูอุ้ม’ แก้ปัญหา ‘เอกชน’ ชี้ไม่อยากกดดัน ให้เวลาทำงาน ดันเพิ่มค่าอาหาร ‘อาชีวะ’ 80% ขอกลับ สอศ.

ดร.ศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ปส.กช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ส.ปส.กช.อยู่ระหว่างรวบรวมประเด็นปัญหาของโรงเรียนเอกชนในระบบ โรงเรียนเอกชนนอกระบบ และสถาบันการอาชีวศึกษาเอกชน เพื่อเสนอต่อ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เบื้องต้นพบว่าหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ส่งผลกระทบกับโรงเรียนเอกชนขนาดเล็ก และขนาดกลาง ซึ่งที่ผ่านมาโรงเรียนได้ปรับการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน โดยเน้นสอนด้านอาชีพให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ตัวตนของตนเอง พร้อมกับปรับการเรียนการสอนเน้นหลักสูตรฐานสมรรถนะ ให้ผู้เรียนได้เรียนในสิ่งที่ชอบมากขึ้น

ดร.ศุภเสฏฐ์กล่าวต่อว่า สำหรับปัญหาโรงเรียนเอกชนในระบบ จะมีเรื่องการเพิ่มเงินอุดหนุนอาหารกลางวัน ที่นักเรียนยังไม่ได้ครบทุกคน และการสอบบรรจุครูผู้ช่วย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่ครูเอกชนสอบกันจำนวนมาก และเมื่อสอบติดครูผู้ช่วยก็จะลาออก ทำให้โรงเรียนเอกชนหาครูมาทดแทนไม่ทัน ซึ่งจะส่งผลเสียต่อเด็กอย่างมาก จึงอยากให้ สพฐ.จัดสอบครูผู้ช่วย และเรียกบรรจุให้เสร็จภายในช่วงปิดภาคเรียน เช่น เดือนเมษายน หรือเดือนตุลาคม เป็นต้น เพราะถ้ากระบวนการต่างๆ เสร็จก่อนเปิดภาคเรียนจะทำให้โรงเรียนเอกชนสามารถจัดหาครูมาทดแทนได้ทันเวลา

“ส่วนโรงเรียนเอกชนนอกระบบ ได้สะท้อนปัญหาเรื่องการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่ปัจจุบันรัฐได้ช่วยเหลือโรงเรียนเอกชนนอกระบบ 3 ประเภทเท่านั้น ประเภทสอนศาสนา ศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา) และโรงเรียนปอเนาะ ซึ่งยังเหลือโรงเรียนเอกชนนอกระบบอีก 4 ประเภทที่ยังไม่ได้รับการลดหย่อน ทำให้ต้องเสียภาษีแพง จึงอยากให้ ศธ.หาช่องทางให้โรงเรียนเหล่านี้ให้ได้รับการลดหย่อนเหมือนโรงเรียนเอกชนนอกระบบอื่นๆ” ดร.ศุภเสฏฐ์กล่าว

Advertisement

ดร.ศุภเสฏฐ์กล่าวต่อว่า ขณะที่สถาบันการอาชีวะเอกชน จากที่รับฟังเสียงสะท้อนพบว่า 70-80% ต้องการที่จะกลับไปอยู่ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) เช่นเดิม เพราะเมื่อมาอยู่ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กลับติดขัดปัญหาด้านกฎหมาย คือแม้หัวจะอยู่ที่ สอศ.แต่กฎหมายยังใช้ พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชนอยู่ ทำให้ต้องทำงาน 2 ครั้งอยู่ตลอด แม้ สอศ.บอกว่าจะแก้ไข พ.ร.บ.การอาชีวศึกษา โดยจะเพิ่มสถาบันอาชีวะเอกชนเข้าไปด้วยนั้น แต่ตนมองว่าไม่ทันการณ์ เพราะมีหลายเรื่องที่พัวพันกับ พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน เช่น กองทุนสงเคราะห์ สิทธิสวัสดิการของครู เป็นต้น

“โรงเรียนเอกชนถือเป็นโรงเรียนทางเลือก แต่เราจะพยายามสนับสนุนรัฐบาลเต็มที่ ขณะนี้ได้รับฟังปัญหาโรงเรียนเอกชนพอสมควรแล้ว คาดว่าจะนำเสนอให้รัฐมนตรีว่าการ ศธ.พิจารณาช่วยเหลือภายใน 3 เดือนนี้ ส่วนสาเหตุที่ต้องรอถึง 3 เดือนนั้น เพราะไม่อยากไปกดดัน อยากให้รัฐมนตรีทำงาน และเข้าใจสภาพปัญหาก่อน อีกทั้งยังรอความชัดเจนของนโยบายของรัฐบาลเรื่องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และการขึ้นเงินเดือนผู้จบปริญญาตรีว่าเริ่มผลักดันเมื่อไหร่ เมื่อเริ่มแล้วจะส่งผลกระทบกับโรงเรียนเอกชนอย่างไร ก็จะรวบรวมข้อมูลเพื่อเสนอให้รัฐมนตรีว่าการ ศธ.พิจารณาด้วย” ดร.ศุภเสฏฐ์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image