ศุภมาส ชี้ อว.เดินหน้าปรับหลักสูตรการศึกษาให้ทันสมัย

ศุภมาส ชี้ อว.เดินหน้าปรับหลักสูตรการศึกษาให้ทันสมัย

เมื่อวันที่ 24 มกราคม ที่โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพ (รางน้ำ) บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) จัดงานสัมมนา ”Thailand 2024 : The Great Challenges เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ขยายโอกาส” โดย พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) และน.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสวนาในหัวข้อ เรียนดี มีความสุข ขยายโอกาสเพื่อคนไทย มีผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เป็นวิทยากร

น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี กล่าวว่า โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีเปลี่ยนโลก ความท้าทายของอว. หรือระบบอุดมศึกษาไทย คือทำอย่างไรจะปรับตัวปรับหลักสูตรให้ทันสมัยสามารถผลิตบัณฑิตให้มีพื้นความรู้ ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน นำมาสู่ การเรียนรู้ตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยต้องปรับตัวเป็นมหาวิทยาลัยสำหรับการเรียนรู้ทุกช่วงวัย โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงวัยที่ต้อง Upskill ReSkill ดังนั้น สิ่งที่อว.จะต้องเร่งดำเนินการคือ การจัดทำธนาคารหน่วยกิต หรือเครดิตแบงก์ เพื่อให้เด็กมัธยมศึกษาตอนปลายสามารถเข้าเรียนมหาวิทยาลัยได้เร็วขึ้น เป็นการลดภาระ และเปิดโอกาสให้เด็ก ได้เรียนข้ามมหาวิทยาลัย เด็กที่เรียนปริญญาตรี สามารถเรียนปริญญาโทควบคู่กันไปได้ เพื่อให้เด็กสามารถเรียนได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก

ระบบต่อมาที่ต้องเร่งดำเนินการคือ Skill Transcript ซึ่งจะช่วยให้ภาคเอกชนหรือผู้ใช้บัณฑิต ทราบว่าบัณฑิตที่จบการศึกษา มีทักษะความสามารถอะไรบ้าง ทำให้เด็กสามารถนำไปใช้สมัครงานได้โดยที่ยังไม่ต้องเรียนจบ และอีกส่วนที่ต้องช่วยคือ ให้เด็กมีโอกาสเข้าเรียนมหาวิทยาลัยได้ โดยปีนี้ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.)ได้งดเว้นค่าสมัครสอบคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา หรือทีแคส ปีการศึกษา 2567 และมีเป้าหมายให้เด็กสามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ขณะเดียวกัน จะก้าวไปสู่ เด็กอยากเรียนต้องได้เรียน เด็กอยากสอบเข้ามหาวิทยาลัยก็สามารถสอบเข้าได้ โดยจะทำแพลตฟอร์มจับคู่ทุนการศึกษา ให้เด็กรู้ว่ามหาวิทยาลัยมีทุนอยู่บ้าง เพื่อให้เด็กที่ขาดแคลนสามารถเรียนได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย อนาคตจะได้ไม่มีดราม่า ว่าไม่มีเงินเรียน

Advertisement

ส่วนการพัฒนาอาจารย์มหาวิทยาลัยนั้น เมื่อมีการรวมเป็น อว. ก็มีการแบ่งมหาวิทยาลัยออกเป็น 5 กลุ่ม อย่างเช่น กลุ่ม9 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล( มทร.) เลือกที่จะอยู่ในกลุ่มผลิตอาชีพเฉพาะทางใช้เทคโนโลยีให้เท่าทันกับโลก เช่นเปลี่ยนจากช่างซ่อมรถธรรมดา เป็นช่างซ่อมรถไฟฟ้าหรือรถอีวี เป็นต้น ขณะที่กลุ่มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) เน้นพัฒนาท้องถิ่น โดยสถาบันเหล่านี้จะเป็นผู้เลือกกลุ่มด้วยตัวเอง ว่าจะอยู่กลุ่มไหน ส่งให้ทำให้มีการจัดสรรงบประมาณตามกลุ่ม หรือแม้แต่การขอตำแหน่งทางวิชาการก็มีช่องทางที่หลายหลาย ทั้งหมดนี้เป็นทางเลือกให้อาจารย์สามารถทำงานวิจัยได้ตรงกับสายงานของตัวเองมากขึ้น ขณะเดียวกันงานวิจัยจะต้องตรงกับความต้องการของภาคเอกชนด้วย โดยนโยบายทั้งหมดนี้ จากการพูดคุยกับข้าราชการที่ทำงาน เชื่อว่าจะทำได้สำเร็จภายใน 1 ปี

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image