นักวิชาการ ชี้สังคมไทยบิดเบี้ยว ทำเด็กก้าวร้าวรุนแรงเพิ่มขึ้น แนะรบ.ดันเป็นวาระแห่งชาติ

นักวิชาการ ชี้ สังคมไทย ทำเด็กให้ก้าวร้าวเพิ่มขึ้น เหตุ ร.ร.ไม่มีพื้นที่ให้เด็กแสดงออก มีแต่อำนาจนิยม ไม่มีเวทีให้เด็กแสดงออก ส่วนครอบครัว ก็ก้มหน้าก้มตาทำงาน เอาแต่มือถือให้ลูก

เมื่อวันที่ 31 มกราคม นายสมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา เปิดเผยว่า ขณะนี้สังคมไทยมีคำถามว่า เกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทย ทำไมเด็กไทยในปัจจุบันมีความรุนแรงมากขึ้น และความรุนแรงนี้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น จากคำถามนี้ มีคำอธิบายได้ดังนี้ คือขณะนี้สังคมไทยกำลังทำหน้าที่ผิดส่วน อ่อนแอ และบกพร่อง คือ ในสังคมไทยเรากำลังทยอยผลิตเด็ก ในรูปแบบ reproduce ซ้ำ ซึ่งจะทำให้เรากำลังจะเสียเด็กไทยรุ่นนี้ทั้งรุ่น ถ้าเราไม่คิดจะทำอะไร คิดแต่ว่าจะแก้กฎหมายเพิ่มโทษ แต่สังคมไทยในภาคปัจจุบันเป็นสังคมที่ผลิตเด็กในรูปแบบที่เด็กเกิดน้อย และมีคุณภาพที่ต่ำ

นายสมพงษ์กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาตนเคยเขียนบทความ ฉายฉากทัศน์เด็กไทยรุ่นใหม่ส่วนหนึ่งจะมีลักษณะก้าวร้าวรุนแรง ขาดรากเหง้าทางศีลธรรม และยึดโยงอยู่กับคุณค่าของตนเองมาก โดยตนเคยฉาย ภาพชุดของเด็กไทยในอนาคต (Scenario) อันใกล้นี้ จะเห็นคุณลักษณะที่เด่นชัดดังต่อไปนี้ คือ 1.ระดับสติปัญญาของเด็กไทย มีแนวโน้มลดต่ำลงจนน่าเป็นห่วง 2.สภาพร่างกายที่อ่อนแอลง ขาดภูมิต้านทานทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ 3.วุฒิภาวะทางอารมณ์ พฤติกรรม และการแสดงออกแฝงไปด้วยความก้าวร้าวรุนแรง 4.เด็กวัยใสที่อ่อนเยาว์แต่กลับเรียนรู้ทางเพศ 5.การแสวงหาความรู้ ความสุข และการมีเพื่อนใหม่ทางอินเตอร์เน็ต

นายสมพงษ์กล่าวต่อว่า 6.วัตถุนิยม เป็นตัวตั้งในการสร้างคุณค่าเชิงปริมาณ 7.การให้ความสำคัญกับตนเองมากกว่าส่วนรวม 8.เด็กจำนวนไม่น้อย ขาดรากเหง้าทางศีลธรรม 9.เกิดสภาวะความเครียด การกดดันจากการแข่งขัน 10.การมองความสำเร็จในเชิงตัวบุคคลมากกว่าความเป็นหลักการและเหตุผลมีความคิดในรูปสำเร็จ การลอกเลียนแบบ โดยขาดการไตร่ตรองรอบคอบกระบวนการคิดด้วยการใช้ปัญญา เป็นต้น

Advertisement

นายสมพงษ์กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ จะพบว่าระบบครอบครัวในปัจจุบัน จะก้มหน้าก้มตาทำแต่งาน ไม่มีเวลาใกล้ชิด กอดรัด พูดคุยกับลูก ทำให้ครอบครัวมีลักษณะที่อ่อนแอลง วิธีที่พ่อแม่ชดเชยนั้น คือ การซื้อวัตถุของมีค่า เช่น มือถือ เพื่อทดแทนเวลาที่ตนเองไม่มีให้ลูก ประกอบกับระบบการศึกษาของเราบกพร่อง เพราะครูมีภาระงานจำนวนมาก ซึ่งมีมากกว่า 400 รายการ ทำให้ครูต้องสาละวนงานที่ไม่ใช่หน้าที่ของตน แล้วจะมีเวลาเอาใจใส่ดูแลเด็กเป็นรายบุคคล

แต่สิ่งที่ทำให้เราไม่ใส่ใจหรือว่าละเลยเด็กนั้น คือ คนรุ่นก่อนๆ มองว่าการแกล้งกัน การรังแกกัน การบูลลี่กันเป็นเรื่องปกติ ในช่วงเด็กของครูและคนทั่วไปอาจจะเจอเรื่องนี้ แต่เมื่อมาถึงปัจจุบันเป็นเรื่องผิดถนัด ความคิดเหล่านี้ต้องเปลี่ยน เรื่องที่ใครมองว่าปกติ แต่ในเด็กรุ่นนี้คือความไม่ปกติ เพราะเด็กปัจจุบันมีความเป็นปัจเจกตัวเองสูงมาก และถูกซ้ำเติมด้วยการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ทำให้ไม่มีสังคม ไม่มีชีวิต ไม่ได้เล่น ไม่ได้ปฏิสัมพันธ์กับคน แต่อยู่กับมือถือที่แฝงไปด้วยความรุนแรง และตัวอย่างที่ไม่เหมาะสม 3 ปีเต็ม

“ขณะนี้มีปัจจัยที่กระตุ้น และทำให้เด็กเสี่ยงมีเยอะมาก ทั้งกัญชา กระท่อม บุหรี่ไฟฟ้า ยาบ้า ปัจจัยที่กระตุ้นให้เด็กเข้าสู่โลกมืด และความรุนแรงมีอยู่เต็ม รอบๆ โรงเรียนเลย ทำให้เด็กเข้าถึงสิ่งเหล่านี้ได้อย่าง่ายดาย ในฐานะที่ตนทำงานด้านเด็กมา 30 ปี เด็กรุ่นใหม่กำลังทยอยออกมารวบกันแก๊ง สร้างปัญหาและความเดือดร้อนในทุกพื้นที่ เพราะระบบโรงเรียนไม่มียืดหยุ่น ไม่มีพื้นที่ให้เด็กแสดงออก ผ่อนคลาย เป็นพื้นที่ที่เต็มด้วยอำนาจ ระเบียบกฎเกณฑ์ อยู่แต่ในกรอบและต้องเชื่อฟัง ประกอบกับระบบหลักสูตรที่ล้าหลังเรียนไม่สนุก และเวลาที่เกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นเคสจังหวัดสระแก้ว หรือเคสที่นักเรียนใช้มีดแทงเพื่อน เราก็จะรุมประณามเด็ก แต่เราไม่ดูสังคม ไม่ดูตัวเอง ไม่ดูครอบครัว เรามัวแต่กลัวว่าลูกจะถูกทำร้าย แต่เราไม่ช่วยส่งเสียงและช่วยกันทำให้สังคม ระบบโรงเรียน และครอบครัวตัวเองดีขึ้น” นายสมพงษ์กล่าวและว่า

Advertisement

ทั้งนี้ อยากให้รัฐบาลกลับมาดูแลเยียวยาเด็กรุ่นนี้ และกลับมาสร้างให้เด็กรุ่นนี้ให้ดี อย่ามัวแต่ผลักดันนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ซอฟต์พาวเวอร์ หรือนั่งเถียงว่าจะปรับอายุอาชญกรรมเด็กให้น้อยลง ตรวจมีดตรวจปืน ถ้ามัวแต่ทำเรื่องแบบนี้ สังคมจะดีขึ้นอย่างไร ในเมื่อต้นทางของสังคมไทยบิดเบี้ยว ผิดส่วน อ่อนแอ และบกพร่อง ถ้าไม่ปรับต้นทาง คือ ระบบโครงสร้าง และระบบสังคมไทยให้น่าอยู่ขึ้น ก็จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ มองว่า เป็นไปไม่ได้ ที่จะให้กระทรวงใดกระทรวงหนึ่งผลักดันหรือทำเรื่องนี้ รัฐบาล อาจจะต้องเป็นวาระของชาติ และทำการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image