มข.ชูเทคโนโลยี ‘เตียงอัจฉริยะ’ ลดแผลกดทับ ยกคุณภาพชีวิตผู้ป่วยสูงวัย เพิ่มรายได้ชุมชน

มข.ชูเทคโนโลยี ‘เตียงอัจฉริยะ’ ลดแผลกดทับ ยกคุณภาพชีวิตผู้ป่วยสูงวัย เพิ่มรายได้ชุมชน

ศ.ดร.วิชัย อึงพินิจพงศ์ อาจารย์คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้า “โครงการพัฒนาส่งเสริมการผลิตเตียงพลิกตัวต้นทุนต่ำสำหรับผู้ป่วยติดเตียงโดยชุมชน” โดยคณะเศรษฐศาสตร์ คณะเทคนิคการแพทย์ และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มข.ภายใต้โครงการ CIGUS (C – community, I – industry, G – government, U – university, S – society) เพื่อนำองค์ความรู้จากมหาวิทยาลัยเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาในชุมชนในมิติสาธารณสุข สังคม และเศรษฐกิจ โดยมีพื้นที่นำร่องใน 2 ชุมชน ได้แก่ ต.บ้านโต้น และ ต.หนองแวง อ.พระยืน จ.ขอนแก่น นั้น โครงการนี้มีแนวคิดในการพัฒนาเตียงอัจฉริยะที่ช่วยลดแผลกดทับ โดยยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ป่วยสูงวัย และผู้ดูแลคนป่วย พร้อมพัฒนาทักษะช่างให้นำมาพัฒนาต่อยอด สร้างงาน และสร้างรายได้เข้าสู่ชุมชน ทั้งนี้ ได้พัฒนาเตียงพลิกตัว และนำไปมอบให้เทศบาลตำบลบ้านโต้น 3 เตียง และเทศบาลตำบลหนองแวง อีก 2 เตียง พร้อมอบรมให้ความรู้ และวิธีการใช้เตียงพลิกตัวอย่างถูกต้อง

 

Advertisement

“ภายหลังการติดตามการใช้งาน พบว่า เตียงช่วยพลิกตัว และลดแผลกดทับนี้ มีประโยชน์ทั้งผู้ป่วย ผู้ดูแล และชุมชน โดยประโยชน์ของเตียงพลิกตัวจะช่วยป้องกันแผลกดทับในผู้ป่วยที่ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัยอายุ 60 ปีขึ้นไป รวมถึง คนป่วยที่มีภาวะอ่อนแรง ไม่สามารถพลิกตัวเองไม่ได้ เพราะแค่กดปุ่มก็ตะแคงได้ ผู้ดูแลจะทำงานง่ายขึ้น หรือถ้าไม่มีคนดูแล ผู้ป่วยก็กดปุ่มแล้วเตียงตะแคงเองได้ ส่วนผู้ดูแลที่อาจเป็นญาติ และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) รวมถึง ผู้ดูแล Caregiver เตียงอัจฉริยะจะช่วยลดระยะเวลาในการดูแลผู้ป่วยลง ทำให้ไม่เป็นภาระมากจนเกินไป และนำเวลาส่วนนี้ไปทำประโยชน์ และสร้างรายได้จากงานส่วนอื่นๆ ซึ่งใน 2 ตำบลนี้ มีผู้ป่วยติดเตียง 22 คน แต่ช่วงแรกจัดหาเตียงให้ผู้ป่วยติดเตียง 5 คน” ศ.ดร.วิชัย กล่าว

ศ.ดร.วิชัยกล่าวอีกว่า ในมิติของชุมชน เตียงพลิกตัวนี้จะช่วยให้ชุมชนมีรายได้จากการผลิตเตียง โดยนำแบบที่พัฒนาไปดำเนินการ พร้อมรับการอบรมฝึกทักษะฝีมือช่าง ซึ่งมีต้นทุนการผลิตต่อหนึ่งเตียงประมาณ 10,000-15,000 บาท อยู่ระหว่างการปรับรายละเอียดของแบบเพื่อให้เตียงในเวอร์ชั่นใหม่สอดรับกับการใช้งานได้เป็นอย่างดี เช่น ปรับความสูงของเตียงให้ต่ำลง รวมถึง ปรับขนาดของเตียงเพื่อให้เคลื่อนย้ายเข้าบ้านของชุมชนได้ เป็นต้น

Advertisement

ผศ.ดร.สุรกานต์ รวยสูงเนิน อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มข.กล่าวว่า ประเด็นหลักของการออกแบบเตียง จะคำนึงถึงสภาพจิตใจผู้ป่วย และผู้ดูแลก่อนเป็นลำดับแรก โดยพยายามลดภาระผู้ดูแล และให้ผู้ป่วยช่วยเหลือตัวเองให้มากที่สุด ซึ่งจะนำไปสู่การมีสภาพจิตใจที่ดีขึ้น เมื่อผู้ดูแลลดภาระลงจากที่เคยพลิกตัวทุก 2 ชั่วโมง เปลี่ยนมาเป็นแค่ช่วงเวลาหลักๆ ได้แก่ ตอนทานอาหาร ทำความสะอาดร่างกาย

“ขนาดของเตียงที่ออกแบบ แรกเริ่มคิดจะพัฒนาเป็นขนาด S M L เพื่อให้สอดรับกับผู้ป่วยที่แตกต่างกัน แต่เพราะเป็นช่วงแรกจึงพัฒนาเป็นขนาด L ทำให้พบข้อจำกัดการเคลื่อนย้ายเตียงเข้าสู่ภายในบ้าน ในระยะต่อมาจึงปรับขนาดลดลงเป็น 900×2 เมตร จากเดิมขนาด 1.2 x 2 เมตร มีต้นทุนการผลิตประมาณ 15,000-20,000 บาท โดยใช้วัสดุไม้แปรรูปที่หาซื้อได้จากร้านวัสดุก่อสร้างทั่วไป เช่น ไม้ยางพารา และไม้เนื้อแข็ง ซึ่งจะรับน้ำหนักผู้ป่วยได้มากถึง 200 กิโลกรัม” ผศ.ดร.สุรกานต์ กล่าว

ผศ.ดร.สุรกานต์กล่าวต่อว่า โครงการพัฒนาเตียงเพื่อผู้สูงวัยที่ป่วยติดเตียง ได้สร้างประโยชน์ทั้งในมิติในสังคม และเศรษฐกิจ ในอนาคตหากต่อยอดไปสู่วิสาหกิจชุมชนได้ จะเป็นเรื่องที่ดีอย่างมาก เพราะวิธีการผลิตที่ง่าย ทักษะช่างไม้ที่มีอยู่ในชุมชนสามารถดำเนินการได้เลยตามแบบ และคู่มือการประกอบที่เตรียมจัดทำขึ้น ขณะที่อุปกรณ์มอเตอร์ไฟฟ้าหาได้ง่ายในร้านค้าชุมชน ถ้าเป็นการผลิตในปริมาณที่มากขึ้น จะยิ่งเป็นการลดต้นทุนลงมาอยู่ที่ 10,000 บาทต่อเตียง เป็นการเพิ่มรายได้ให้ชุมชน รวมถึง เพิ่มโอกาสการเข้าถึงเตียงในกลุ่มของผู้ป่วยที่มีรายได้น้อย

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image