อ่านประวัติ “หอระฆัง” วัดพระแก้ว ที่จะดังกังวานในพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20

ในการประกอบการพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ลำดับที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม วันอาทิตย์ที่ 12 กุมภาพันธ์ จะมีการย่ำระฆังที่รอระฆังภายในวัดพระศรีรัตนศาสดารามให้ดังกังวาน

หอระฆังนี้ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของอุโบสถ รัชกาลที่ 1 โปรดให้สร้างขึ้นให้ครบบริบูรณ์ตามระเบียบของการสร้างวัด กล่าวคือ มีพระอุโบสถ พระวิหาร พระเจดีย์ พระมณฑปประดิษฐานพระไตรปิฎกและหอระฆัง

สำหรับระฆังที่นำมาประดิษฐานในหอนั้น มีข้อสันนิษฐาน 2 ประการ ได้แก่

  1. เป็นระฆังที่ขุดพบในการขุดสระเพื่อสร้างหอไตรที่วัดระฆังโฆษิตาราม และทรงผาติกรรมมาจากวัดนั้น เนื่องด้วยเป็นระฆังที่มีเสียงกังวานมาก
  2. เป็นระฆังที่โปรดให้หล่อขึ้น เพื่อประดิษฐานที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามโดยเฉพาะ

อย่างไรก็ตาม รูปแบบหอระฆังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน เป็นหอที่รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใหม่ สันนิาฐานว่า สร้างในตำแหน่งเดิมโดยรื้อหอระฆังเก่าออกไป แต่การก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ ได้เสด็จสวรรคตก่อน

Advertisement

ต่อมา เมื่อมีการเตรียมงานสมโภชพระนครครบ 100 ปี ในสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าให้สมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการเมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นเทวะวงศ์วโรปการทรงเป็นแม่กองประดับกระเบื้องหอระฆังทั้งหลัง

ครั้นรัชกาลที่ 7 ได้มีการซ่อมเฉพาะส่วนที่ชำรุด พร้อมทั้งลงรักปิดทองประดับกระจกส่วนยอดใหม่ กระทั่งสมัยรัชกาลที่ 9 มีการบูรณะส่วนที่ชำรุด แต่นังคงรูปแบบศิลปะเดิมไว้ กล่าวคือ เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส สร้างเป็นบุษบกทรงมณฑป ตั้งบนฐานทักษิณแบบปรางค์ย่อมุมไม้สิบสอง ฐานมีประตูทางเข้า 4 ด้าน ทำเป็นซุ้มจรนำรูปโค้งแหลมประดับด้วยกระเบื้องถ้วย หลังคามุมด้วยกระเบื้องดินเผาเคลือบสีเขียวขอบสีแดง ตอนบนของซุ้มมีนาค 3 เศียร 2 ชั้น ช่อฟ้า และหางหงส์เป็นรูปหัวนาค

กรอบประตูเป็นไม้ทาสีเขียว ตอนล่างเป็นประตู 2 บาน

Advertisement

หอระฆังนี้ งดงามด้วยกระเบื้องถ้วยสีต่างๆ บางส่วนเป็นกระเบื้องเคลือบสีเขียวแบบลายไทยที่สั่งทำจากเมืองจีน

ข้อมูลและภาพถ่ายจากหนังสือ “สถาปัตยกรรมพระบรมมหาราชวัง” เล่ม 2 รัฐบาลในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร มอบให้สำนักราชเลขาธิการ จัดพิมพ์น้อมเกล้าฯ ถวายสนองพระมหากรุณาธิคุณ เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 60 พรรษา วันเสาร์ที่ 5 ธันวาคม พุทธศักราช 2530 และเนื่องในพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก วันเสาร์ที่ 2 กรกฎาคม พุทธศักราช 2531

 

หอระฆัง01

หอระฆัง01

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image