กก.วัดถ้ำโพธิสัตว์ เข้าร้อง “มติชน” ห่วงระเบิดหินกระทบภาพสลักพันปี ไม่เชื่อ “บัฟเฟอร์โซน” ลงขันอารักขาเจ้าอาวาส

เมื่อวันที่ 27 มีนาคม เวลา 13.00 น. คณะกรรมการวัดถ้ำโพธิสัตว์ อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี เดินทางมายัง “มติชน” เพื่อร้องเรียนกรณีมีบริษัทเอกชน 2 รายขอทำการระเบิดหินภูเขาใกล้กับถ้ำพระโพธิสัตว์ ตามที่เคยเป็นข่าวในช่วงเดือนกันยายน 2559 เนื่องจากห่วงผลกระทบต่อภาพสลักยุคทวารวดีในถ้ำ อายุถึง 1,000-1,200 ปีมาแล้ว รายหนึ่งเป็นบริษัทปูนชื่อดัง จะขอระเบิดหินห่างจากถ้ำพระโพธิสัตว์ประมาณ 2 กิโลเมตร และอีกบริษัทหนึ่งจะขอระเบิดหินห่างจากถ้ำพระโพธิสัตว์ประมาณ 280 เมตร ล่าสุด เมื่อเดือนมกราคม 2560 กระทรวงอุตสาหกรรมเปิดเผยว่า บริษัทฯ ดังกล่าวได้ประทานบัตรทำเหมืองหินมากว่า 10 ปีแล้วและยินดีที่จะทำแนวป้องกัน (บัฟเฟอร์โซน) นั้น

คณะกรรมการวัด 2 ราย ซึ่งเข้าร้องเรียน ระบุว่ากลุ่มของตน ไม่เชื่อว่าแนวป้องกันดังกล่าว จะได้ผล และเป็นเพียงการแก้ปัญหาชั่วคราวเท่านั้น อีกทั้งก่อนหน้าที่ตามที่มีหน่วยงานบางแห่งให้ข้อมูลต่อสื่อว่า การระเบิดหินในอดีตไม่ได้ส่งผลกระทบใดๆนั้น แม้จะยังไม่กระทบกระเทือนภาพสลัก แต่ทางวัดและชุมชนก็ได้รับมลภาวะทางเสียงและฝุ่นละออง กระทั่งมีการแก้ปัญหาแล้วในภายหลัง อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันพบว่ามีฝูงลิงมาก่อกวนในวัด เชื่อว่ามีสาเหตุมาจากการไปรบกวนที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ ทำให้สัตว์ป่าต้องลงมาอยู่ในวัดและชุมชน นอกจากนี้ การที่ระบุว่า การทำเหมืองหินที่จะเกิดขึ้น จะไม่ส่งผลต่อภาพสลักในถ้ำนั้น อยากสอบถามว่า จะรับประกันได้อย่างไร

“การบอกว่าที่ผ่านมาไม่ส่งผลกระทบนั้น ไม่จริง เพราะวัดและชุมชนเคยต้องเผชิญกับฝุ่นละออง และเสียงดัง แต่ยอมรับว่าตอนหลังมีการแก้ปัญหาจุดนี้ ก็ถือว่าดีขึ้นมาก ที่ห่วงตอนนี้คือฝูงลงมาก่อกวนคนที่มาวัด และที่สำคัญคือภาพสลักอายุพันกว่าปี ซึ่งเป็นของล้ำค่า ไม่สามารถหาทดแทนได้ อยากให้กรมศิลปากรช่วยดูแลตรงนี้อย่างเคร่งครัดเหมือนในอดีตตั้งแต่ พ.ศ.2534 ซึ่งกรมศิลป์เอง โดยท่านนิคม มูสิกะคามะ รองอธิบดีฯ เป็นผู้ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี ขอให้พิจารณาห้ามขุดหรือระเบิดหินใกล้ถ้ำพระโพธิสัตว์” คณะกรรมการวัดกล่าว และว่า นอกจากนี้ ยังมีสิ่งที่รู้สึกไม่สบายใจอีก 1 เรื่อง คือ ความปลอดภัยของพระครูวิสาลปัญญาภรณ์ เจ้าอาวาส เนื่องจากเป็นผู้คัดค้านการดำเนินการดังกล่าวในนามของวัด ดังนั้น ล่าสุด ลูกศิษย์จึงนำเงินลงขันกันจ้างคนดูแลอารักขาความปลอดภัย จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย

Advertisement

ทั้งนี้ ถ้ำพระโพธิสัตว์มีอีกชื่อหนึ่งว่าถ้ำเขาน้ำพุ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 82 ตอนที่ 29 วันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2506 มีข้อมูลบันทึกถึงการค้นพบและรายละเอียดอื่นๆ ในทะเบียนโบราณวัตถุสถานทั่วราชอาณาจักร พ.ศ.2516 ของกรมศิลปากร โดยศาสตราจารย์พิเศษ ศรีศักร วัลลิโภดม ซึ่งในขณะนั้นยังรับราชการเป็นอาจารย์ประจำคณะโบราณคดี ม.ศิลปากร ตามประวัติระบุว่า แรกพบถ้ำนี้มีผู้พบเครื่องมือหินที่แสดงให้เห็นว่ามีคนในสมัยก่อนประวัติศาสตร์และยุคต้นประวัติศาสตร์อยู่อาศัย แต่สิ่งที่โดดเด่นที่แสดงให้เห็นว่าเป็นศาสนสถานสำคัญคือ ภาพสลักนูนต่ำบนผนังถ้ำ ที่มีรูปพระพุทธรูปประทับนั่งห้อยพระบาท มีรูปพระอิศวร (ศิวะ) พระนารายณ์ (วิษณุ) เรียงแถวต่อมาในลักษณะแสดงความอ่อนน้อม รวมทั้งมีภาพเทวดาเหาะและนั่งแสดงความเคารพ ลักษณะศิลปกรรมฝีมือช่างเป็นแบบทวารวดี

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image