สุจิตต์ วงษ์เทศ : จันทบุรี เมืองมีไม้จันทน์ สำเนียงกรุงเก่า

ลงพื้นที่ – นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เดินทางตรวจเยี่ยมชุมชนท่องเที่ยวบ้านเปร็ดใน ต. ห้วงน้ำขาว อ. เมืองตราด ได้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ พบปะกลุ่มท่องเที่ยวชุมชน ผู้ประกอบการท่องเที่ยว และร่วมทำกิจกรรม ก่อนการประชุม ครม. สัญจร ที่ จ. จันทบุรี เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ (ภาพและคำบรรยายจาก มติชน ฉบับวันจันทร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ 2561 หน้า 1)

จันทบุรี เมืองมีไม้จันทน์ สำเนียงกรุงเก่า

ครม. สัญจร จันทบุรี-ตราด ระหว่างวันจันทร์ที่ 5-วันอังคารที่ 6 กุมภาพันธ์ 2561

จันทบุรีได้ชื่อจากไม้จันทน์ ส่วนตราดยังหาไม่พบว่าเป็นคำในภาษาอะไร? หมายถึงอะไร?

สำเนียงจันท์

สำเนียงจันท์ น่าจะมีรากเหง้าจากสำเนียงกรุงเก่า หรือ “สำเนียงหลวง กรุงศรีอยุธยา” ที่พูดเหน่อ (แบบลาวลุ่มน้ำโขง) ในตระกูลไต-ไท ผสมสำเนียงพื้นเมืองตระกูลมอญ-เขมร ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เป็นกลุ่มเดียวกับสำเนียงระยอง และสำเนียงโคราช

 จันทบุรี เมืองมีไม้จันทน์

จันทบุรี แปลว่า เมืองมีไม้จันทน์ เป็นชื่อได้จากไม้จันทน์ ซึ่งได้รับยกย่องเป็นไม้มงคล กลิ่นหอม มีราคาสูง เป็นสินค้าที่ต้องการมากของบ้านเมืองหลายพันปีมาแล้ว สืบจนทุกวันนี้

Advertisement

เทียบได้กับชื่อ เวียงจัน เมืองหลวงของลาว มีชื่อในตำนานพงศาวดารว่าจันทบุรี (อักขรวิธีลาวว่า จันทะบูลี) มาจากไม้จันทน์

ไม้จันทน์ มีกลิ่นหอม ได้รับยกย่องเป็นไม้มงคล เกี่ยวข้องความไม่ตายและความตาย ดังนี้

  1. ความไม่ตาย แกะเป็นพระพุทธรูป (เรียก พระแก่นจันทน์) และสร้างอาคารสถานที่ (เช่น เรือนจันทน์, ตำหนักจันทน์, วังจันทน์, เวียงจันทน์ ฯลฯ)
  2. ความตาย ดอกไม้จันทน์ ใช้เผาศพ, ไม้จันทน์ ใช้ประกอบพระโกศ พระเมรุมาศ, ท่อนจันทน์ ใช้สำเร็จโทษเจ้านาย

พลอย

เอกสารชาวอังกฤษสมัย ร.5 บอกว่า เหมืองพลอย เมืองจันทบุรี ทำโดยพวกกุลา แต่ไม่อธิบายว่าเป็นใคร?

Advertisement

กุลาเป็นไทยใหญ่ กลุ่มที่ชำนาญทำพลอยอยู่เมืองเพ่ลิน (อ่านว่า เพ่-ลิน) ลุ่มน้ำสาละวิน ในพม่าภาคเหนือ เมื่อย้ายไปทำพลอย จ. พระตะบอง กัมพูชา เรียกบริเวณมีพลอยว่า เพ่ลิน ตามชื่อในพม่า แต่คนเขมรกับคนไทยเรียกเพี้ยนเป็นไพลิน หรือบ่อพลอยไพลิน

หลวงบุรุษ กวีเมืองจันท์

กวีเมืองจันท์คนสำคัญมาก คือ หลวงบุรุษประชาภิรมย์ (กี้ บุณยัษฐิติ) ผู้แต่งนิราศจันทบุรี-กรุงเทพฯ (นิราศหลวงบุรุษ) ต้นแผ่นดิน ร.5 พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2418

กวีโวหารในนิราศหลวงบุรุษ เทียบศิษย์สุนทรภู่คนอื่นๆ ได้ เช่น เสมียนมี (หมื่นพรหมสมพัตสร) กวีสมัย ร.3 ฯลฯ สะท้อนลักษณะสังคมกรุงเทพฯ และจันทบุรี สมัย ร.5 มีกลอนตัวอย่างดังนี้

๏ ถึงเขตท่าอาวาสท่านบาทหลวง                ญวนทั้งปวงนับถือเช่นฤๅษี

ศาสนะยะโฮวาพระบาลี                                     ศิษย์เรียกที่สังฆราชโยมญาติเคียง

พร้อมสะพรั่งตั้งตำบลญวนปนเจ๊ก                        ช่างตีเหล็กทำทองกึกก้องเสียง

บ้างต่อเรือเสื่อสานบนร้านเรียง                            ตามอย่างเยี่ยงภาษาวิชาเป็น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image