‘กรมศิลปากร’บวงสรวงพระบรมธาตุ-เทพนพเคราะห์ก่อนเปิดให้ประชาชนสรงน้ำสงกรานต์

เมื่อเวลา 9.09 น.วันที่ 12 เมษายน  นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีบวงสรวงสมโภชพระบรมธาตุและเทพนพเคราะห์ เพื่อนำมาให้ประชาชนสรงน้ำ เนื่องในเทศกาลมหาสงกรานต์ ประจำปี 2561 ว่า กรมศิลปากรจัดพิธีบวงสรวงสมโภชพระบรมธาตุและเทพนพเคราะห์  เพื่อนำเทพนพเคราะห์ 9 องค์ ที่เก็บรักษาอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ(พช.)พระนคร พร้อมทั้งอัญเชิญพระบรมธาตุ ที่พบในพระกรัณฑ์ก้านพระรัศมีพระพุทธสิหิงค์ มาจัดกิจกรรมให้ประชาชนได้สรงน้ำเนื่องในเทศกาลมหาสงกรานต์ และกราบไหว้บูชาขอพรจากเทพนพเคราะห์  ระหว่างวันที่ 12-14เมษายน เวลา 9.00-16.00 ณ ศาลาสำราญมุขมาตย์  พช. พระนคร โดยมีผู้บริหาร ข้าราชการ เจ้าหน้าที่กรมศิลปากร และประชาชนร่วมในพิธีเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้เทพนพเคราะห์ ถือว่าเป็นเทพที่ปกปักรักษาชีวิตของคนตั้งแต่เกิดจนตาย แต่ละคนเมื่อเกิดมาจะมีเทพนพเคราะห์ประจำวันเกิด และในแต่ละช่วงชีวิตเทพนพเคราะห์จะหมุนเวียนเข้าเสวยอายุ กำหนดปีการเสวยอายุตามกำลังของเทพแต่ละองค์ จะส่งผลร้ายหรือดีต่อมนุษย์ขึ้นอยู่กับประเภทของเทพนพเคราะห์ว่าเป็นฝ่ายบาปเคราะห์หรือศุภเคราะห์  หรือความเข้ากันได้หรือไม่กับเทพประจำวันเกิด  ดังนั้น ในวันสงกรานต์จึงนับเป็นโอกาสดีที่จะได้กราบไหว้บูชา เพื่อเริ่มต้นปีใหม่ไทยด้วยสิริมงคลตามแบบแผนประเพณีที่ดีงามต่อไป

“เทพนพเคราะห์มีต้นกำเนิดมาจากโหราศาสตร์ฮินดูที่นับถือพระสุริยเทพ (พระอาทิตย์)  ซึ่งมีเทพบริวารอีก 8  องค์ รวมเป็น 9 องค์ ถือว่าเป็นเทพที่ปกปักรักษาชีวิตของประชาชนตั้งแต่เกิดจนตาย ประกอบด้วย พระอาทิตย์ ทรงราชสีห์  เป็นเทพนพเคราะห์ที่มีอำนาจเหนือกว่าเทพนพเคราะห์ทั้งปวง  พระจันทร์ ทรงม้า พระอังคาร ทรงมหิงสา พระพุธ ทรงคชสาร พระพฤหัสบดี ทรงกวาง พระศุกร์ ทรงโค พระเสาร์ ทรงพยัคฆ์ พระราหู ทรงพญาครุฑ และ พระเกตุ ทรงนาค สำหรับประติมากรรมเทพนพเคราะห์ชุดนี้ หล่อขึ้นตามแบบ เทพนพเคราะห์ของไทย มีลักษณะการแต่งกายคล้ายคลึงกับภาพเทวรูปในสมุดไทยหมวดตำราภาพเทวรูปไสยาศาสตร์ เล่มที่ 70 สำนักหอสมุดแห่งชาติ ที่สันนิษฐานว่าเป็นรูปแบบของเจ้าฟ้าอิศราพงศ์ และคล้ายคลึงกับภาพจิตรกรรมเทพบนบานประตูหน้าต่างด้านใน ของพระอุโบสถวัดบวรสถานสุทธาวาส (วัดพระแก้ววังหน้า) ที่เจ้าฟ้าอิศราพงศ์ทรงร่วมในการควบคุมการก่อสร้างเช่นกัน  ความพิเศษของประติมากรรมชุดนี้  คือ  สามารถถ่ายทอดรูปแบบของ   เทพนพเคราะห์ให้ออกมาเป็นประติมากรรมแบบลอยตัว แสดงท่าทาง และลักษณะของเทพนพเคราะห์ได้อย่างสมจริงและมีชีวิตชีวา โดยยังคงรักษาเอกลักษณ์ และลักษณะของเทพแต่ละองค์ไว้ได้อย่างสมบูรณ์” นายอนันต์กล่าว

Advertisement

 

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image