อาลัย ‘พิมพ์ปฏิภาณ’ ครูเพลงไทยสากล ศิลปินแห่งชาติปี 60

อาลัย ‘พิมพ์ปฏิภาณ’ ครูเพลงไทยสากลศิลปินแห่งชาติปี 60

เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม นายชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) เปิดเผยว่า นายพิมพ์ปฏิภาณ พึ่งธรรมจิตต์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล) พ.ศ.2560 เสียชีวิตเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2563 เวลา 14.00 น. (โดยประมาณ ) ณ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ถนนกำแพงเพชร 6 แขวงตลาดบางเขนเขตหลักสี่ กรุงเทพ ด้วยโรคมะเร็งเม็ดเลือด สิริรวมอายุ 82 ปี 5 เดือน โดยทางญาติแจ้งว่า ได้ดำเนินการขอพระราชน้ำหลวงอาบศพ ในวันที่ 21 กรกฎาคม เวลา 17.00 น. ณ ศาลา6 และกำหนดสวดพระอภิธรรมศพวันที่ 21-27 กรกฎาคม เวลา 19.00 น. ณ ศาลา 6 วัดบัวขวัญ ตำบลบางกระสอ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี และเก็บศพไว้บำเพ็ญกุศล เป็นเวลา 100 วัน โดยสวธ. จะดำเนินการขอพระราชทานเพลิงศพให้ต่อไป
อธิบดีสวธ. เปิดเผยอีกว่า นอกจากนี้ สวธ. ในฐานะหน่วยงานที่ดำเนินการยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ และจะขอพระราชทานเพลิงศพแล้ว ยังให้การช่วยเหลือด้านต่าง ๆ ด้วยการมอบเงินช่วยเหลือเมื่อเสียชีวิตเพื่อร่วมการบำเพ็ญกุศลศพ จำนวน 20,000 บาท และเงินช่วยเหลือค่าจัดทำหนังสือเพื่อเผยแพร่ผลงานเมื่อเสียชีวิตเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 150,000 บาท ตามระเบียบสวัสดิการของศิลปินแห่งชาติ
สำหรับประวัติของนายพิมพ์ปฏิภาณ พึ่งธรรมจิตต์ เกิดวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2481 ที่อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส ได้ฝึกการเล่นดนตรีอยู่ในวงโยธวาทิตของโรงเรียน และได้หัดเรียนเครื่องดนตรีชิ้นแรกคือ “ปิคโคโล่” ต่อมา ได้ร่วมบรรเลงกับวงแตรวงของโรงเรียนขณะที่ศึกษาในระดับมัธยมศึกษา ที่โรงเรียนสันติราษฎร์บำรุง ได้มีโอกาสเรียนดนตรีในระดับที่สูงขึ้นจากครูผู้สอนจากวงดุริยางค์ ของกรมตำรวจ พ.ศ.2499 ก็ได้ศึกษาด้านดนตรีที่สูงขึ้นกับอาจารย์ อาวุธ เมฆเรียบ ซึ่งเป็นอาจารย์สอนทางด้านดนตรีของโรงเรียนพณิชย์การพระนครด้วย ในระหว่างที่ศึกษาได้มีโอกาสเล่นดนตรีในงานแสดงต่างๆ และต่อมาได้สมัครเรียนด้านการเรียบเรียงเสียงประสานกับอาจารย์แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ ศิลปินแห่งชาติ ที่โรงเรียนดนตรีสยามกลการ ปทุมวัน รุ่นแรกอีกด้วย พ.ศ.2505-2506 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จทรงดนตรีร่วมกับนักดนตรีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วงดนตรี TU Band และนายพิมพ์ปฏิภาณ ยังเป็นผู้หนึ่งที่ได้ร่วมเล่นแซกโซโฟนในวง ด้วยเป็นผู้ที่มีใจร่าเริง แจ่มใสและมีอารมณ์ดีอยู่เสมอ และสามารถพูดภาษามลายู (ยาวี) ได้อย่างคล่องแคล่ว และออกเสียงได้อย่างชัดเจน จึงเป็นพื้นฐานที่สำคัญ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการแต่งเพลงและการเรียบเรียงเสียงประสาน โดยใช้วิธีการสร้างแนวทำนองให้สอดคล้องกับคำร้อง เนื้อหาและความหมายของเพลง รวมทั้งใช้เทคนิคแบบดนตรีสากลและเลือกใช้เครื่องดนตรีได้อย่างเหมาะสมสื่อถึงอารมณ์ของเพลงได้อย่างไพเราะ
ผลงานประพันธ์ของท่าน เช่น เพลงแม่สาย เพลงพะวงรัก เพลงเทพธิดาดอย เพลงโชคดีที่มีในหลวง เพลงสมเด็จย่าของชาวไทย เพลงพุทธานุภาพ เพลงมหาราชินี เป็นต้น ยังคงสร้างสรรค์ผลงานออกมาอย่างอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งได้สร้างห้องบันทึกเสียง เป็นที่ถ่ายทอด ให้ความรู้และเทคนิคในการร้องเพลงให้แก่นักร้องและผู้ที่มาบันทึกเสียง ทั้งยังควบคุม การฝึกฝนร้องเพลงให้กับกลุ่มที่มาร้องเพลงประสานเสียงสร้างศิลปินลูกกรุงหน้าใหม่อย่างต่อเนื่อง จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล) พ.ศ.2560

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image