‘สศร.’ พานักออกแบบลงจังหวัดชายแดนใต้ ต่อยอดผ้าบาติกสู่ความร่วมสมัย

‘สศร.’ พานักออกแบบลงจังหวัดชายแดนใต้ ต่อยอดผ้าบาติกสู่ความร่วมสมัย

เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม นายประสพ เรียงเงิน ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานพัฒนาเครื่องแต่งกายผ้าไทยร่วมสมัยของนักออกแบบ ในพื้นที่ภาคใต้ จ.ยะลา และนราธิวาส ว่าจากการดำเนินโครงการพัฒนาการออกแบบเครื่องแต่งกายผ้าไทยร่วมสมัย ประจำปี 2566 ของนายทรงวุฒิ ทองทั่ว ดีไซเนอร์ ที่ร้านศรียะลาบาติก จ.ยะลา กลุ่มอนุรักษ์และพัฒนาหัตถกรรมบาติกภาคใต้ และบาติก เดอนารา จ.นราธิวาส เพื่อให้ผู้ประกอบการได้พัฒนาต่อยอดลวดลายผ้าบาติกที่เป็นวิถีและอัตลักษณ์ท้องถิ่นให้มีความร่วมสมัย เกิดลวดลายใหม่ๆ ที่หลากหลายเพื่อขยายฐานลูกค้าใหม่ๆ เหมาะกับการสวมใส่ในชีวิตประจำวัน

อีกทั้งยังใช้การเชื่อมโยงอัตลักษณ์เดิมจากท้องถิ่นให้มีเรื่องราวมาสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่สู่อุตสาหกรรมผ้าในระดับต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศควบคู่กับการจำหน่ายให้แก่กลุ่มลูกค้าเดิมๆ ซึ่งปีนี้ได้เน้นให้นักออกแบบร่วมสร้างสรรค์งานที่ตอบโจทย์แนวคิด BCG ลดโลกร้อน ด้วยการนำวัสดุเหลือใช้ในพื้นที่มาต่อยอดให้เกิดประโยชน์ยั่งยืน รวมถึงใช้วัสดุที่ก่อให้เกิด Carbon Footprint น้อยที่สุด

นายทรงวุฒิ ดีไซเนอร์ กล่าวว่า แนวคิดของการออกแบบลายผ้าบาติกครั้งนี้จะใช้สีธรรมชาติพิมพ์ลงบนผ้ายีนส์ เนื่องจากการเกิดปัญหาโลกร้อน การที่ประเทศต่างๆ มีภูเขาไฟระเบิด และส่งผลให้น้ำแข็งในมหาสมุทรแอนตาร์กติกาละลายอย่างรวดเร็ว และปีนี้อากาศประเทศไทยยังร้อนจัดมาก จึงอยากให้ทุกคนตระหนักในเรื่องนี้ จึงเกิดเป็นลายลาวาบนผ้ายีนส์ และใช้สีธรรมชาติพิมพ์ลงบนผ้ายีนส์ อุปกรณ์ที่ใช้พิมพ์ลาย ได้แก่ ลายแม่พิมพ์ไม้ที่ใช้พิมพ์เทียนลงบนผืนผ้า ทำมาจากไม้มะม่วงป่าและไม้ขาวดำ ซึ่งมีความแข็งแรงและเหนียว ซึ่งการเลือกผู้ประกอบการทั้ง 3 กลุ่มมาจากเอกลักษณ์ คือการทำผ้าบาติกแบบสีธรรมชาติ
“สำหรับการออกแบบลวดลายเพื่อเป็นต้นแบบให้กับ 3 ผู้ประกอบการ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ประกอบด้วยร้านศรียะลาบาติก ต.สะเตง อ.เมือง จ.ยะลา มี 2 ลาย ได้แก่ ลายลาวา กับลายไฟป่า ส่วนชุมชนบ้านบาโง (กลุ่มอนุรักษ์และพัฒนาหัตถกรรมบาติกภาคใต้) ต.ลำภู อ.เมือง จ.นราธิวาส ได้แก่ ลายคลื่นความร้อน และลายแหอวน สะท้อนปัญหาขยะพลาสติกในทะเล

Advertisement

ส่วน ร้านบาติก เดอ นารา ต.บางนาค อ.เมือง จ.นราธิวาส ได้แก่ ลายฝุ่น PM2.5 และลายภูเขาน้ำแข็งแตก โดยลวดลายทั้งหมดจะนำมาพิมพ์ลงบนผ้ายีนส์ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ในการสร้างสรรค์ของดีไซเนอร์” นายทรงวุฒิกล่าว

ด้าน นายปิยะ สุวรรณพฤกษ์ ผู้ประกอบการร้านศรียะลาบาติก กล่าวว่า นับตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ตนเองได้ปรับรูปแบบการทำงานจากสร้างสรรค์งานเฉพาะตัวไปสู่การทำงานร่วมกับชุมชนมากขึ้น ส่งเสริมให้ชาวบ้านได้เห็นว่ามุมมองของการทำบาติกแบบให้มีความร่วมสมัยมากขึ้นทำให้ชาวบ้านมีรายได้เฉลี่ยต่อคนไม่ต่ำกว่าเดือนละ 6,000-10,000 บาท ซึ่งการได้รับโจทย์ในการทำงานกับผ้ายีนส์ จากดีไซเนอร์ครั้งนี้นับเป็นการเปิดใจในการสร้างสรรค์งานใหม่อีกครั้ง ให้สินค้ามีความแตกต่าง เพิ่มมุมมองและแนวคิดของการทำงาน อีกทั้งยังชื่นชอบแนวคิดของการออกแบบ คิดว่าน่าจะเพิ่มกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ในทางการตลาด

Advertisement

ขณะที่ น.ส.โรสวาณี สุหลง รองประธานกลุ่มชุมชนบ้านบาโง กล่าวว่า ลวดลายที่ทางดีไซเนอร์ออกแบบมาค่อนข้างซับซ้อนแต่ดูสวยแปลกใหม่ คิดว่าทำได้ เนื้อผ้ายีนส์ถือว่าท้าทาย เพราะมีเนื้อผ้าที่ค่อนข้างหนา ซึ่งทางกลุ่มเคยลองพิมพ์ลายบนผ้ายีนส์แล้ว แต่ผลออกมาไม่ 100% เพราะด้วยตัวผ้าที่ค่อนข้างหนาทำให้ลวดลายติดแต่ไม่คงทน ครั้งนี้จึงใช้เทคนิคใหม่ ซึ่งไม่สามารถบอกรายละเอียดได้ เพราะถือเป็นภูมิปัญญาที่ทางครอบครัวของตนเองเป็นคนคิดค้น เป็นเทคนิคผสมเทียน โดยครั้งนี้ก็ใช้เทคนิคเดียวกัน แต่มีการปรับอุณหภูมิเพื่อให้ลายผ้าติดคงทนและสวยงาม

“เทรนด์เฟชั่นผ้าบาติกถือว่าโตเร็วขึ้น เพราะมีการพัฒนาลวดลายที่แปลกตา เอกลักษณ์ของกลุ่มเราจะเป็นงานเขียนซ้อนทำให้ตัวลวดลายมีมิติที่แตกต่างกับกลุ่มอื่น ช่วยสร้างรายได้ให้ชุมชน ตอนนี้มีสมาชิกในกลุ่มทั้งหมด 8 คน มีประมาณเดือนละ 9,000 บาทต่อเดือนต่อคน ขณะนี้ผ้าบาติกได้รับความนิยมมากขึ้น มีลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ จากเดิมจะเป็นคนมีอายุ แต่ตอนนี้มีลูกค้าเป็นกลุ่มวัยรุ่นมากขึ้น เพราะมีการพัฒนาลวดลายผ้าในลักษณะที่หลากหลาย ส่วนช่องทางการตลาดจะใช้ผ่านช่องทางออนไลน์ เพจบาโงบาติก เวปาบาติก ส่วนออฟไลน์จะเป็นการจัดแสดงงานในสถานที่ต่างๆ ความร่วมมือครั้งนี้ ทางผู้ประกอบการถือเป็นเรื่องที่ดี มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับทางดีไซเนอร์ เพื่อให้ได้ผลงานที่มีความสมบูรณ์มากที่สุด” น.ส.โรสวาณีกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image