คนสระบุรี คาใจ ‘ลาบหัวปลี’ เมนูประจำจังหวัด ไม่ถามปชช. เอื้อประโยชน์ใครหรือไม่?

คนสระบุรี คาใจ ‘ลาบหัวปลี’ เมนูประจำจังหวัด ไม่ถามปชช. เอื้อประโยชน์คนกลุ่มหนึ่งหรือไม่?

กรณีกิจกรรม “1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น” ภายใต้โครงการการส่งเสริมและพัฒนายกระดับอาหารถิ่น สู่มรดกทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ความเป็นไทย (Thailand Best Local Food) “รสชาติ…ที่หายไป The Lost Taste” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เพื่อศึกษาประวัติศาสตร์ของอาหารไทย อาหารท้องถิ่น ที่มีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตคนไทย สร้างแรงกระเพื่อมกับสังคมไทยไม่น้อย

เมื่อหลายคนออกอาการ “เอ๊ะ” ว่าอาหารดังกล่าวเป็นเมนูของจังหวัดตนเองได้อย่างไร?

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวเน็ตยังได้ตั้งคำถามเมนู “ลาบหัวปลี” ที่ถูกเลือกให้เป็น อาหารประจำจังหวัดสระบุรี โดยตั้งคำถามที่ชวนให้ขบคิด คือ ประเด็นเรื่องผลประโยชน์ : ตอนนี้ใครที่เป็นผู้กอบกุมรายได้จากการจำหน่ายลาบหัวปลี, การหยิบเอามณีเม็ดงามที่วางอยู่บนยอดกองดิน (อยู่แล้ว) โดยที่ไม่เคยให้ผงธุลีดินแปดเปื้อนมือ ลงไปคลุกคลี ขุดคุ้ย งัดแซะ ดูว่าในดินกองนั้นมีของดีมณีเม็ดงามอีกกี่เม็ดมากน้อย การกระทำเช่นนี้อย่าถือว่าเป็นการคัดเลือกเลย และสระบุรีมีจุดเด่นอยู่ที่ความหลากหลายของชาติพันธุ์ แต่มีอยู่ชาติพันธุ์เดียวที่ถูกเชิดชูและนำมาใช้งานออกหน้าออกตา นั่นเพราะเขางามและเพียบพร้อมอยู่แล้ว ส่วนตัวอาหารประจำจังหวัด น่าจะเป็นอาหารที่เป็นจุดร่วมของความหลากหลายของวัฒนธรรมชาติพันธุ์

Advertisement

โดยแหล่งข่าวซึ่งเป็นคนพื้นที่ในจังหวัดสระบุรี ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับทาง มติชนออนไลน์ ว่า สำหรับคนในพื้นที่ การที่ลาบหัวปลีถูกเลือกเป็นเมนูประจำจังหวัดมันดูตลก ทุกคนต่างตั้งคำถามว่า เมนูนี้มาได้อย่างไร ในมุมมองของตน ถ้าต้องการส่งเสริมวัฒนธรรม น่าจะมีกระบวนการให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วย คือให้ประชาชนร่วมกันสรรหา คัดเลือก

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาตนเคยเห็นงานกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เช่นกัน ซึ่งงานของ วธ.เป็นลักษณะของการท็อปดาวน์ลงมา ซึ่งไม่ก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชน และผลหลังจากที่แต่ละจังหวัดได้เมนูประจำจังหวัดของตนแล้ว ส่งผลกับใครบ้าง

สิ่งที่เกิดขึ้นในจังหวัดสระบุรีสะท้อนการทำงานของ วธ. หน่วยงานราชการ คือเมื่อมีคำสั่งคัดเลือก คัดสรร คนที่ทำการคัดเลือกไม่ได้ลงไปคัดเลือกจริงๆ เป็นเหมือนกับว่าเขาเห็นอะไรที่สวยที่เด่นอยู่ตรงนั้นแล้วหยิบขึ้นมาใช้โดยที่ไม่รู้ที่มาที่ไป เมนูลาบหัวปลีก็เป็นเช่นนั้น

Advertisement

“ทั้งนี้ ต้องขอเล่าให้ฟังก่อนว่า จังหวัดสระบุรี มีชาติพันธุ์ที่หลากหลาย แต่มีชาติพันธุ์ไทยวนจะเด่นที่สุด เพราะส่วนหนึ่งมีการสืบทอด อนุรักษ์มาอย่างเป็นระบบ เมื่อต้องถูกหยิบไปเป็นตัวแทนจังหวัด แม้เมนูนี้จะน่าสนใจเพราะใช้เครื่องลาบเหนือและไม่มีเนื้อสัตว์เลย แต่เมื่อเป็นงานระดับจังหวัดก็มีคำถามตามมาว่า เจ้าหน้าที่วัฒนธรรมทำงาน ลงไปหาข้อมูลกับชาติพันธุ์อื่นบ้างหรือยัง หรือเอาสิ่งที่สำเร็จรูปไปใช้งานเท่านั้น” แหล่งข่าวชาวสระบุรีระบุ และว่า

นอกจากนี้ ตนตั้งข้อสังเกตว่า การที่ “ลาบหัวปลี” ถูกเลือกเป็นเมนูประจำจังหวัดนั้นเอื้อประโยชน์ให้ใครหรือไม่ เพราะในจังหวัดจะมีตลาดโอท็อปอยู่ 1 แห่ง ที่เป็นเหมือนการทำงานร่วมระหว่างราชการและเอกชน และยังมีหลายหน่วยงานรัฐในจังหวัดไปร่วมงานด้วย โดยตลาดแห่งนี้หยิบเอา “ลาบหัวปลี” มาเป็นสินค้าในร้านค้าของตน

“ทำให้มีคำถามตามมาว่า หลังจากที่แต่ละจังหวัดเลือกอาหารของตนมาแล้วจะถูกโปรโมต ถูกทำให้เป็นที่นิยม ทำให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น ใครจะเป็นคนได้รับผลประโยชน์กันแน่ อย่างในตลาดที่เด่นๆ ในจังหวัดสระบุรี ที่ตัวการพัฒนาของตลาดไม่ส่งผลถึงชาวบ้านสักเท่าไหร่ แต่อาจจะเป็นการเอื้อให้พวกพ้องของใครหรือไม่” แหล่งข่าวกล่าวทิ้งท้าย

ขณะเดียวกัน โลกออนไลน์ก็ได้วิพากษ์วิจารณ์กันในวงกว้างต่อประเด็นดังกล่าว เช่นว่า โคราชคือเมี่ยงคำ ซึ่งงุนงงมาก ชาวบ้านเขาไม่กินเมี่ยงคำกันเอิกเกริกเด้อสู เอาอะไรมาประจำจังหวัด ปร้าสะเอ๊อะ เถอะค่ะ (ปลาร้าสะเออะ ที่คนชาวบ้านทำกินทุกบ้าน), ฮ่าๆๆ..มีอยู่หลายอย่างนะ อย่างชัยภูมิแทนที่จะเป็นหม่ำกับปลาแดกอึ่ง แต่เป็นอะไรก็ไม่รู้ชวนคิดปริศนาธรรม, ดิฉันอ่านการลงข้อความเรื่องอาหารประจำถิ่นแล้วปวดลำไส้เล็กเจ้าค่ะ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ก.วัฒนธรรม ประกาศลิสต์ 77 เมนูอาหารประจำจังหวัด คนหลายพื้นที่มึน ไม่เคยได้ยิน
คนสุโขทัย คาใจ วธ. ไปถามใครมา? เลือก ‘ข้าวเปิ๊บ’ เมนูจังหวัด ขอโหวต ‘ไม่เห็นชอบ’
หลานย่าโม รุมถาม ‘เมี่ยงคำโคราช’ เมนูจังหวัดจริงดิ?

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image